Helicopter Research: ใจเขาใจเราใช่ได้ครบแล้วจบกัน “ความสัมพันธ์ในสนามการวิจัย”
สุรชัย (ฟูอ๊าด) ไวยวรรณจิตร
ที่ปรึกษาผู้บริหาร โรงเรียนเร๊าะห์มานีย๊ะห์ อ.จะนะ จ.สงขลา
Ph.D candidate Program in Asian Studies, Walailak University
หากความสนใจของผู้อ่านในความตั้งใจสู่การอ่านบทความนี้โดยตั้งสมมุติฐานว่า บทความชิ้นนี้น่าจะพูดถึงเรื่องการเมือง หรือ การทหาร หรือ กองกำลัง หรือแม้กระทั่งเรื่อง การบริหารจัดการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของกองทัพ ผม (ผู้เขียน) คงไม่อาจจะตอบสนองเรื่องราวเหล่านั้นได้ในความตั้งใจเข้ามาอ่านบทความชิ้นนี้ เพราะสิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คือ การทำงานวิจัยภาคสนามที่เราคงจะใช้ปฏิบัติการแบบ Helicopter Research แล้วทึกทักไปเองว่าเราเป็นนักวิจัย ไปตลอดการทำงานในฐานะ “นักวิจัย” คงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะมันจะสื่อสะท้อนย้อนถึงจริยธรรมการทำงานวิจัยในตัวตน
บทความของผู้เขียนที่ผู้เขียนจะเขียนต่อไปนี้ ด้วยภาษาไม่เป็นทางการมากนัก มิได้มีจุดมุ่งหมายอื่นใด นอกจากการย้ำเตือนตัวตนของตัวเอง และการทำงานภาคสนามในพื้นที่ของชุมชนต่างๆ ประกอบกับอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันสำหรับผู้อ่าน ถึง ประสบการณ์การทำงานวิจัยในภาคสนาม โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลกับชุมชน หรือผู้คน ท้องถิ่นที่เราหวังมุ่งเน้นจะพัฒนาผ่านความรู้กระบวนการที่เรียกว่า “งานวิจัย”
หลายต่อหลายครั้งที่เราพบว่า “ที่ผ่านมาเมื่อสิ้นสุดการวิจัยแล้วผู้วิจัยมักมิได้กลับมาแจ้งผลการวิจัยแก่ผู้เข้าร่วมการวิจัยในชุมชนอีก ทำให้ชุมชนไม่สามารถนำผลการวิจัยมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนได้ โดยเฉพาะงานวิจัยของนักศึกษา ชาวบ้านแม้จะทราบว่า เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรที่นักศึกษาจะต้องผ่านจึงจะจบการศึกษา ได้รับปริญญาสมหวังของนักศึกษา และพลอยยินดีในความสำเร็จนั้น แต่ก็ยังอยากให้สถาบันการศึกษาได้สนับสนุนให้นำผลการวิจัยของนักศึกษามาพัฒนาชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมด้วย...” (ส่วนหนึ่งจากเอกสารประกอบการอบรม Human Subject Protection Course ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560)
จากข้อความดังกล่าว ผู้ขียนในฐานะผู้เข้าอบรมวันนั้น หลังจากได้อ่านเอกสารและฟังบรรยายแล้ว ก็นั่งทบทวนบทบาทสถานะของตัวเองในสองสถานะ คือ สถานะแรกในฐานะที่เป็นนักศึกษา ก็ต้องทำความเข้าใจกับงานที่กำลังเขียนดุษฎีนิพนธ์ในการออกแบบการทำงานให้ออกมามีคุณค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กับ อีก สถานะ คือ การทำงานวิจัยกับชุมชนในหลายพื้นที่หลากเรื่องราว โดยเฉพาะการทำงานวิจัยที่ผู้เขียนพยายามทำความเข้าใจกับคนเล็กคนน้อย พยายามทำความเข้าใจกับเรื่องราวที่ควรเดินและพัฒนาต่อในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ในสนามวิจัยที่เรามักบอกว่า เราต้องมีวิธีวิทยาที่ต้องระมัดระวังในความลุ่มลึกของสนามวิจัยในพื้นที่ความขัดแย้ง
มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางส่วนคงเกิดคำถามว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ Helicopter Research
ผู้เขียน ขอทำความเข้าใจอย่างนี้ครับว่า การทำตนเป็นนักวิจัยแบบ Helicopter Research คือ สิ่งที่ต้องระวัง การเพียงไปโฉบเฉี่ยวข้อมูลในสนามพื้นที่วิจัยแล้วกลับมาเขียนเป็นเรื่องเป็นราว หาได้มีการสอบทานข้อมูลก่อนจะวิเคราะห์หรือสังเคราะห์จากหลากมุมมอง อาจทำให้งานที่ทำออกมาอ่อนด้อยในคำตอบ เพียงเพราะเข้าใจว่า เมื่อเขียนเสร็จแล้วบอกว่า งานวิจัยสำเร็จแล้ว การจะรู้ได้ว่างานชิ้นดังกล่าวเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นแบบนี้ เราลองหยิบงานขึ้นมา 1 เรื่อง แล้วลองอ่านอย่างตั้งใจ เราจะพบว่า บางครั้งหลากเรื่องราวที่เราอ่านช่างขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เป็นอยู่หรือช่างหาใช่ข้อมูลจริงแท้ไม่ในอดีตกาล เราลองมองย้อนดูในวิธีวิทยาในการได้มาซึ่งคำตอบว่ากระบวนการที่ได้มาซึ่งคำตอบมีความเข้มคมลุ่มลึกในการทำงานเพียงใด เราก็จะค้นเจอคำตอบในความสงสัยต่างๆ
ซ้ำร้ายกว่านั้น Helicopter Research อีกประเภทที่เรามักพบคือ แค่ถ่ายรูปเก็บหลักฐานหลังจากไปเก็บข้อมูลแค่เพียงวันสองวัน แล้วทึกทักว่า เราได้ทำงานวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว สำเร็จแล้วพอแล้ว แบบที่ว่านี้เราก็มักพบอยู่บ้างแม้จะอยู่ภายใต้ความแนบเนียนบางสิ่งอย่างเมื่ออ่านงาน ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า เราจะพบกับนักวิจัยที่ทำงานวิจัยที่คลุกคลีกับพื้นที่แบบที่กล่าวมานี้น้อยมาก เพราะแค่การสร้างสัมพันธภาพในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจบางครั้งก็กินเวลามากมายกับการทำงานพื้นที่ โดยเฉพาะสนามวิจัยพื้นที่ที่มีความขัดแย้งบางสิ่งอย่างยังคงถูกทับถมอยู่เพื่อรอวันคลี่คลาย
การทำความเข้าใจกับ Helicopter Research ผู้เขียนขอสรุปปิดท้ายเป็นการเบื้องต้น ไว้ ณ ที่นี้ว่า เรามิอาจทำงานวิจัย หรือ เป็นนักวิจัย แบบ Helicopter Research ได้โดยปราศจากคำนึงถึงการคืนข้อมูลให้แก่ชุมชนเพื่อยังประโยชน์ต่อไปได้ หากเรายังขนานนามตัวเองว่าเป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการ โดยเฉพาะการทำงานในพื้นที่สนามที่เรายังคงคิดว่ามันมีเรื่องความขัดแย้งบางสิ่งอย่างอยู่จริง หรือ แม้สนามการทำงานวิจัยทั่วไปที่เรามีพื้นที่การเก็บข้อมูลกับชุมชน เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เราจะเจอคำตอบว่า ทำไม ไปอีกครั้งชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ ไปอีกครั้งทำไมชุมชนให้ความร่วมมือกับกลุ่มคนเหล่านี้ แต่กลับไม่ให้ความร่วมมือกับเรา และที่เราจะเจอคำตอบยิ่งใหญ่ให้แก่ตัวเราเองในการทำงานคือ เราจะพบว่า “ทำไมเราทำงานวิจัยอย่างไม่มีความสุข”
ทั้งหมดทั้งมวล เพียงเพื่อแค่อยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และ อยากชวนมาเป็นนักวิจัยที่ทำงานวิจัยกันอย่างมีความสุข ไม่ว่าเรา (นักวิจัย) หรือ เขา (ชาวบ้านหรือชุมชน) ได้ทำสิ่งที่เรียกว่าคุณค่าในสายงานการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันตราบนานเท่านั้น ปล่อยให้ Helicopter ที่เราแหงนมองบนท้องฟ้าบินผ่านไปด้วยการเกิดข้อขบคิดในชีวิตของเราที่ผ่านพบอย่างมีความสุข อย่าให้ต้อง เกิดภาวะ Helicopter Research ในชีวิตหรือชุมชนที่เราหวังจะพัฒนาร่วมกันอีกต่อไปเลย เพราะมิเช่นนั้นแล้ว “สันติภาพ/สันติสุข” ก็อาจเป็นเรื่องของระยะทางอีกยาวไกลที่เราต่างดั้นด้นไขว่คว้ามา หากย้อนมองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา (วัลลอฮฺอะลัม)