ข้อสังเกตกรณี "ปืนลั่น" โดยทหารที่สามจังหวัด
แม้ตามเนื้อข่าวจะระบุว่าทหารที่กระทำการจะทำไปเพราะเหตุมึนเมาสุราภายหลังจากการมีปากเสียงกับภรรยา แต่ข่าวที่พยายามระบุถึงปัญหาในเชิงส่วนตัวนี้มันสะท้อนมิติบางประการที่เกี่ยวพันกับผู้คนโดยรวม
1. มันเป็นภาพสะท้อนของการไม่มีพื้นที่ปลอดภัย (safety zone) ในสถานการณ์ความขัดแย้ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใกล้กับสถาบันการศึกษาที่มีผู้คนมากมายดำเนินชีวิตอยู่ที่นั่น แน่นอน ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ทุกที่คือ พื้นที่เสี่ยงภัย แต่พันธะกิจในการสร้างสันติภาพและลดทอนความรุนแรงคือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับคนในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนหรือนับถือศาสนาใด กรณี "ปืนลั่น" มิได้แสดงให้เห็นถึงการลุถึงอำนาจของทหารผู้กุมปืนเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการละเมิดพื้นที่และการไม่ใช้ความรุนแรง ทั้งยังเป็นการสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยของคนในพื้นที่เมื่อพวกเขา "ต้องอยู่ใกล้ทหาร" จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจำเป็นต้องเสนอแนวทางการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ชัดเจนในทางมาตรการบางประการ เช่น ทหารไม่ควรเข้าไปข้องแวะมาก เช่น สถานที่การศึกษา, สถานทางศาสนา โดยเฉพาะทหารที่นอกกรอบหรือแตกแถวเช่นนี้
2. ในแง่ของการทำความเข้าใจทหาร ซึ่งด้านหนึ่งพวกเขาต้องอยู่ในสภาวะกดดันทางจิตใจอันเนื่องมาจากสภาวะแปลกที่ต่างถิ่น และถูกปลูกฝังทัศนคติในด้านภัยความมั่นคง จนมองไม่เห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมท่ามกลางความแตกต่าง สภาวะกดดันเช่นนี้น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเขา "แตกแถว" หรือไม่สามารถรักษาระเบียบหรือเกียรติยศที่ควรมีของทหาร ดังนั้น ทหารจึงเป็นกลุ่มคนหนึ่งที่ควรผ่านการอบรมทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่ปฏิบัติการจิตวิทยาเพียงอย่างเดียว ในข้อนี้ถือเป็นการทำความเข้าใจทหารโดยรวม แต่ในแง่ของปัจเจกบุคคลก็ควรมีการลงโทษทหารดังกล่าว และจำเป็นต้องคิดอย่างถี่ถ้วนด้วยว่า กรณีปืนลั่นเช่นนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก จากกรณีนี้ไม่มีใครมั่นใจได้ว่า ความตายที่ผ่านมาของคนในพื้นที่จะเกิดมาจากปืนลั่นหรือไม่ หรือเกิดมาจากการที่ทหารไม่สามารถควบคุมสติของตนเองเอาไว้ได้
3. ผมย้อนนึกถึงภูมิทัศน์ของการศึกษาในสามจังหวัดภาคใต้ แม้ว่าจะมีหัวข้อมากบ้างน้อยบ้างตามความสนใจของแต่ละคน แต่การศึกษาสภาวะทางจิตใจของทหารในการปฏิบัติงานในพื้นที่นั้นมีน้อยมาก โดยเฉพาะทหารชั้นผู้น้อยที่จะต้องทำงานเสี่ยงภัยตลอดเวลา ทหารเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่สมควรได้รับการเยียวยาทางจิตใจ ไม่แน่ใจว่ามีคนเคยศึกษาเอาไว้บ้างหรือไม่ กล่าวเช่นนี้มิได้หมายความถึงจุดยืนของผมที่เข้าข้างทหาร แต่เราจำเป็นต้องมีความเห็นอกเห็นใจทหารและคืนความเป็นมนุษย์ให้กับพวกเขา เนื่องจากพวกเขาได้ถูกทำลายความเป็นมนุษย์ไปทีละเล็กละน้อยเพื่อให้ได้จับปืนและยิงคน การเยียวยาจิตใจหรือเข้าใจทหารที่ทำงานในพื้นที่ขัดแย้งจึงเท่ากับเป็นการยุติการเหนี่ยวไกปืนเอาไว้ด้วย อย่างน้อยที่สุด ปืนมันคงไม่ลั่นกันง่ายๆ หรือ ยามเมาหรือมีปากเสียงกับภรรยาก็คงไม่พกปืนออกไปไหนมาไหนได้ง่ายๆ