Skip to main content

...อ.ว.ท....เป็นมากกว่าโรงเรียนแห่งหนึ่งในสังคมไทย….

                                                         อิมรอน   โสะสัน.....ศิษย์เก่า (ปี 2536-2539)

 

                                                                      

ทำไมต้องไป อ.ว.ท.?

            “ลูกเรียนจบ ม.3 แล้ว พ่อจะส่งไปเรียนที่ อ.ว.ท.นะ” เวลาผ่านไปมากกว่ายี่สิบปีแล้ว ผมยังจำประโยคที่พ่อบอกแกมบังคับว่าผมต้องไปเรียนที่กรุงเทพฯ เรียนที่ อ.ว.ท. ตอนนั้นผมไม่รู้จักอะไรเลยเกี่ยวกับโรงเรียนที่พ่อพูดถึง ความตั้งใจเดิมที่อาจเห็นแย้งกับพ่อตัวเองอยู่เนืองๆคือ “ผมต้องการไปเรียนศาสนา” ส่วนหนึ่งอาจมาจากความชอบส่วนตัวที่ชอบนั่งฟังผู้รู้ในหมู่บ้านถกกันเรื่องปรัชญาทางศาสนา เรื่องการให้เอกภาพกับพระผู้เป็นเจ้าตามม้านั่งในหมู่บ้าน มีครูในหมู่บ้านเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ ครูท่านนี้จากผมไปในวันที่ผมสอบเอนทรานซ์ติด มอ.ปัตตานี

            ในช่วงนั้น ผมเติบโตมากับบรรยากาศในครอบครัวชนบทห่างไกลความเจริญจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีเกือบ 100 กิโลเมตร ชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่กับตากับยาย อยู่กับสวนมะพร้าว ทุ่งนา ไร่แตงโม และทะเล ผมและเพื่อนๆโตมากับโรงเรียนวัด ตอนเช้าไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนห่างจากหมู่บ้านเกือบๆ 2 กิโลเมตร เด็กๆในหมู่บ้านเกือบทั้งหมดต้องเดินไปโรงเรียน ตลอดเส้นทางก่อนถึงโรงเรียนมีถนนลูกรังส่งพวกเราไปเรียนหนังสือ เกือบทุกคนเดินเท้าเปล่า บางวันเราก็ใส่โรงเท้าบ้าง เช่น วันเปิดเรียน หรือวันสำคัญของโรงเรียน แต่ไม่บ่อยนัก พอตกเย็นต้องเตรียมตัวเรียนอ่านอัลกุรอานและอ่านตำราทางศาสนาบนเรือนบ้านของโต๊ะครู

            พอโตขึ้นมาหน่อย ผมก็ถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอท่าชนะ เรียนสายศิลป์ ส่วนตัวผมทำคะแนนวิชาสังคมศาสตร์ได้ดี เพราะชอบ สนใจ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และความรู้จากต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมถูกบังคับให้อ่านหนังสืออย่างหนักหน่วงจากคุณพ่อ ตั้งแต่อยู่ชั้นประถม ท่านมีอาชีพค้าขาย ท่านเรียนหนังสือไม่มาก เพราะชีวิตต้องดิ้นรนทำงานแต่เด็กๆ ท่านเดินทางทั่วประเทศ พอกลับบ้านที ท่านจะซื้อหนังสือเล่มเล็กๆ ชื่อว่า “ความรู้รอบตัว” และหนังสือพิพม์มาให้อ่านตลอด

          ระยะทางจากโรงเรียนท่าชนะ ห่างจากหมู่บ้านผมที่ชื่อว่า “หมู่บ้านท่ากระจาย” ประมาณ 10 กิโลเมตร ผมกับเพื่อนๆในหมู่บ้านเดินทางไปโรงเรียนโดยรถเหมาของครูคนหนึ่ง ทุกวันจนเรียนจบ ม.3 และตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไปเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่จังหวัดชายแดนใต้

          ในวันที่เพื่อนๆห้องเดียวกันเริ่มตัดสินใจไปเรียนต่อที่ตัวเมืองสุราษฎร์ฯบ้าง ไปเรียนที่นครศรีฯบ้าง เพื่อนๆพี่ๆในหมู่บ้านก็ไปเรียนต่อปอเนาะ ผมกลับต้องไปกรุงเทพฯ ไปเรียนที่ อ.ว.ท. จำได้ว่า วันนั้นพ่อพาผมไปซื้อรองเท้าในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี ตอนเย็นก็มาส่งผมขึ้นรถไฟที่สถานีท่าชนะพร้อมกับคุณยายรวมเพื่อนๆอีก 5-6 คน ผมร้องให้ตลอดวัน เพราะในใจคิดว่าทำไมพ่อไม่ให้เราไปเรียนปอเนาะทางใต้เหมือนครอบครัวคนอื่นๆ ยอมรับครับว่าเสียใจและน้อยใจพ่อมากๆ

          “ลูกต้องไปเรียนที่ อ.ว.ท. กรุงเทพฯ ที่นั่นเป็นโลกกว้างของลูก ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราก็จบจากที่นั่น อาจารย์วันนอร์ก็เรียนที่นั่น นักการเมืองมุสลิมหลายคนก็เรียนที่นั่น” นั่นคือประโยคสุดท้ายที่เราสนทนา ขณะพ่อไปส่งผมขึ้นรถไฟ ตอนนั้นผมได้แต่น้ำตาคลอ เสียใจว่าทำไมพ่อถึงส่งผมไป อ.ว.ท. และที่สำคัญไม่รู้ว่าพ่อมีข้อมูลมากน้อยแค่ไหนที่กล้าตัดสินใจส่งลูกชายคนโตไปเรียนไกลถึง กทม. ทั้งๆที่พ่อก็ไม่เคยไปเรียนที่นั่น

                           

เรียนรู้โลกกว้าง

            เมื่อกระบวนการสอบเข้าเรียนผ่านไป ผมเลือกเรียน ม.4 สายศิลป์-ภาษา (อาหรับ) เพราะต้องการหลีกเลี่ยงวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนหนึ่งมีความทรงจำที่ไม่ดีกับวิชานี้ ส่วนหนึ่งมาจากความสนใจที่จะต่อยอดความรู้สังคมศาสตร์ ผมและเพื่อนๆมาเรียน อ.ว.ท. อยู่หอพัก เป็นนักเรียนประจำ หรือพูดอีกอย่าง อ.ว.ท.เป็นโรงเรียนกินนอน (boarding school) ให้แก่เยาวชนมุสลิมของประเทศที่ใหญ่มากๆ พวกเราถูกเรียกว่า “เด็กหอ” สื่อถึงอัตลักษณ์ของนักเรียนประจำ แต่สำหรับผมแล้ว “หอพัก” คือโรงเรียนบ่มเพาะวิชาทักษะชีวิต (Life Skills) ทักษะการอยู่ร่วมกับคนอื่นจากร้อยพ่อพันแม่ แตกต่างหลากหลาย เด็กหอพักคือนักเรียนที่ผ่านระบบคัดเลือกจากเกือบทุกจังหวัดที่มีมุสลิมอาศัย เรียนรู้ระเบียบวินัย เรียนรู้ที่จะให้เกียรติ พี่ เพื่อน น้อง เรียนรู้ที่จะต่อรอง เอาชีวิตรอด แก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเพื่อนๆ เรียนรู้ที่จะอดทน และยอมรับผลการตัดสินพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์จากครูบาอาจาย์ ซึ่งหอพักให้วิชาทักษะชีวิตอย่างล้นเหลือ

          ส่วนความรู้ทางศาสตร์ (Sciences) แขนงอื่นๆ กิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ เช่น การแสดง กีฬาสี เป็นตัวแทนโรงเรียนแข่งขันตอบปัญหาทางสังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ เราเรียนรู้กับครู อาจารย์จากโรงเรียนของเรา ซึ่งครูของเรามีทั้งพุทธ มุสลิม แต่พวกเราไม่เคยแยกพวกเขา เพราะทุกคนคือ “ครูของเรา” ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้กับพวกเรา ขึ้นอยู่กับว่า เราจะรับได้มากน้อยแค่ไหนก็เท่านั้น ผมเรียกลักษณะการอยู่ร่วมกันแบบนี้ว่า “พหุสังคมแบบ อ.ว.ท.”

                  

ทางเลือกแห่งอนาคต

            ผมยังนึกถึงคำพูดของครูท่านหนึ่งได้ขึ้นใจ ท่านบอกว่า “อ.ว.ท.มีทุกอย่างให้เธอเลือกที่จะเป็น เธอจะเลือกเป็นนักการศาสนา นักการเมือง นักบริหาร เป็นคนดี คนไม่ดี เลือกที่จะเรียน เลือกไม่เรียน ขึ้นอยู่กับเธอนะ ” ผมเข้าใจว่าการที่ อ.ว.ท. มี “ทางเลือกอย่างเพียงพอ” ให้นักเรียนได้คิด ตัดสินใจเรียนรู้ด้วยตัวเอง คือจุดแข็งสูงสุด (Strength) ที่โรงเรียนสามารถดำรงอยู่ได้จนมาถึงวันนี้

            อัลฮัมดุลิลละฮ์..ที่ตัวเองได้รับทุนการศึกษาตลอดหลักสูตรสามปีจากมูลนิธิมุสลิมแห่งหนึ่งแถบบางอ้อ กรุงเทพฯ จึงไม่ต้องรบกวนเงินค่าเรียนจากทางบ้าน การเป็นเด็กทุน หมายถึง เราต้องรักษาระดับผลการเรียนให้คงที่อยู่เสมอ ซึ่งนับว่ายากมากๆ เพราะช่วงมัธยมฯปลายคือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ยิ่งอยู่เมืองหลวงยิ่งเป็นโลกแห่งการค้นหา ทำให้ย้อนนึกถึงคำพูดของพ่อ “กรุงเทพฯ ที่นั่นเป็นโลกกว้างของลูก” ได้ชัดขึ้น

              ชีวิตในรั้วเขียว ขาว ไม่ได้เป็นชีวิตที่ง่ายเลย เราผ่านระบบที่เข้มงวด มีวินัย อย่างเข้มข้นจากครูของเรา ทั้งที่หอพัก และโรงเรียน เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ของเพื่อนๆ ครูอาจารย์ และเรียนรู้ชุมชนรอบๆโรงเรียน สมัยนั้นบริเวณรอบๆโรงเรียนยังเป็นท้องทุ่ง เรือกสวน ไร่นา และยังห่างไกลจากความเจริญทางวัตถุอยู่มาก ถ้าเทียบกับยุคนี้ ผมดีใจที่เห็นน้องๆรุ่นหลังๆมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น มีทุนการศึกษาทั้งใน ต่างประเทศให้น้องๆมากขึ้น มีอาคารเรียน อุปกรณ์การเรียนที่พร้อม ทันสมัยมากขึ้น และเข้าใจว่าน้องๆรุ่นหลังได้สร้างชื่อเสียงระดับชาติ และนานาชาติให้โรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

              

อนาคต อ.ว.ท. และโจทย์ท้าทาย

            กว่าเจ็ดทศวรรษที่โรงเรียนแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้น อ.ว.ท. ได้ผลิตทรัพยากรมนุษย์รับใช้สังคมไทยและสังคมโลก กล่าวได้ว่า ศิษย์เก่า อ.ว.ท. ทำงานอยู่ในทุกวงการของสังคม แต่ละปีจะมีการรวมรุ่น พบปะกันเนืองๆ กิจกรรมแบบนี้คือแหล่งรวมความคิด รวมพลังที่จะช่วยค้ำจุนและผลักดันการ “คงอยู่ของโรงเรียน” จากรุ่นสู่รุ่น จากรุ่นพ่อ มารุ่นลูก อ.ว.ท.ก็ยังเป็นโรงเรียนที่พวกเขาเลือกส่งลูกหลานมาเรียน มาใช้ชีวิต พวกเขายังเชื่อมั่นในอุดมการณ์ ค่านิยม คุณภาพของโรงเรียนโดยไม่มีข้อสงสัย

            โลกแห่งความจริงย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุค ตามสมัย โลกยุคใหม่เป็นโลกของการแข่งขัน การสร้าง “คนคุณภาพ”เพื่อรับใช้สังคมที่กว้างขึ้น สิ่งนี้คือ “โจทย์ท้าทายภารกิจและวิสัยทัศน์” ของ อ.ว.ท.ทั้งองคาพยพ ทำให้ต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อตอบสนองความคาดหวังที่สูงและซับซ้อนยิ่งขึ้น และการเตรียมตัวเพื่อสร้างอนาคตของประเทศและประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

          อ.ว.ท. ไม่ใช่องค์กรที่จะมองผ่านเนื้อที่เพียงมิติเดียว ยังมีพื้นที่ทางอุดมการณ์ ค่านิยม และความเชื่อที่จับต้องได้ผ่านเครือข่ายศิษย์เก่าและผู้สนับสนุนโยงใยกันเหนียวแน่น การที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมา ย่อมส่งผลกระทบในวงกว้าง และลึก การเปลี่ยนแปลงเพื่อนำองค์กรนี้สู่สิ่งที่ดีกว่าย่อมเป็นความฝันของทุกคน  แต่..การเปลี่ยนแปลงที่ขาดกระบวนการคิดอย่างมีส่วนร่วมและตกผลึกในทุกก้าวย่างของการตัดสินใจคงไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมนักสำหรับการบริหารจัดการในยุคนี้ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องการความโปร่งใส่ และตรวจสอบได้

          ด้วยเหตุนี้ “พื้นที่ที่เปิดกว้างพอสำหรับการตัดสินใจของทุกส่วน” คือความจำเป็นสำหรับการบริหารจัดการองค์กรที่มีความหลากหลายและมีประวัติศาสตร์ก่อตั้งยาวนาน ถ้าขาดพื้นที่ตรงนี้ไป อนาคตของ อ.ว.ท. อาจสะดุดหรือหยุดชะงักลงระหว่างทางอย่างน่าเสียดาย...

           .....อ.ว.ท. ในความหมายของผมย่อมเป็นมากกว่าโรงเรียนแห่งหนึ่ง ...อ.ว.ท. คือ สถานบันสร้างผู้นำแห่งอนาคต (Leaders of Tomorrow)   เป็นของขวัญ (gift) อันล้ำค่า และเป็นทรัพย์ (Assets) ที่ประเมินค่าไม่ได้ของสังคมไทยและประชาคมโลก ที่ทุกคนสามารถร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมดูแลในภารกิจสร้าง “คนคุณภาพด้านสติปัญญาและจิตวิญญาณ” เพื่อรับใช้มนุษยชาติ ตามความสามารถของพวกเขา ตราบเท่าที่เส้นทางสายการศึกษาเส้นนี้ยังคงทอดยาวต่อไป.....

 

...วัลลอฮุอะลัม วะอะลา วะอะกัม....

                                         

(หมายเหตุ ภาพประกอบทั้งหมดคัดลอกมาจาก http://www.muslimthaipost.com/main/content.php?page=sub&category=108&id=12428)