Skip to main content

แม้ คชก.จะอนุมัติผ่าน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปเมื่อวานนี้ (17 สิงหาคม 2560) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความบกพร่องใน EHIA จะถูกแก้หมดแล้ว ความจริงคือยังมีอีกมากที่ยังบกพร่องหรือไม่ชัดเจน  และยังต้องเป็นหน้าที่ของคนในพื้นที่ต่อไปที่ยังต้องมีชีวิตอยู่ที่จะต้องหายใจเอามลพิษเข้าปอด จึงยังต้องแฉต่อไปและสร้างกระแสการตั้งคำถามกับสังคมต่อไปอย่างแข็งขันให้หนักกว่าเดิม

ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งคือ ประเด็นที่อิงหลักศาสนา นั่นคือกรณีที่ดินและความเป็นวะกัฟของโรงเรียนปอเนาะตะเยาะห์ซูตีบอ หรือโรงเรียนอิตอซอมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นปอเนาะเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของคนชายแดนใต้ ประเด็นก็คือ ในพื้นที่ 3,000 ไร่ที่ กฟผ.หมายมั่นจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น มีปอเนาะแห่งนี้อยู่เกือบจะใจกลางพื้นที่สร้าง กฟผ.จึงมีกระบวนการเข้าไปเจรจากับปอเนาะอย่างต่อเนื่องจนได้ข้อสรุปว่า "ทางคณะกรรมการมูลนิธิและคณะกรรมการโรงเรียนรวมทั้งเจ้าของปอเนาะ ยินดีย้าย โดยที่ กฟผ.ต้องจัดหาที่ใหม่พร้อมสร้างอาคารให้ใหม่ด้วย ทั้งนี้ กฟผ.ไม่มีทางเลือก เรียกเท่าไหร่ก็ต้องยอม เพราะหากไม่มีการย้ายปอเนาะ โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้อาจสร้างได้เพียง 1,100 เมกะวัตต์หรือเล็กลงครึ่งหนึ่ง

ความหมายของคำว่า "วะกัฟ" คือ การบริจาคที่ผู้บริจาคยกทรัพย์สินที่ดินให้เพื่อศาสนาหรือสาธารณกุศล เป็นการบริจาคเพื่อองค์อัลเลาะห์ ซึ่งหากเป็นการยกให้ตามหลักวะกัฟแล้ว ก็จะต้องเข้าตามวิธีปฏิบัติตามหลักวะกัฟ นั่นคือจะไม่สามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายเช่นที่ดินหรือสิ่งของอื่นได้

ซึ่งกรณีของปอเนาะตะเยาะห์ซูตีบอหรือโรงเรียนอิติซอมวิทยามูลนิธินั้น ชาวบ้านในพื้นที่พร้อมโต๊ะครูหลายท่านยืนยันว่า "นี่เป็นไปตามหลักวะกัฟ ไม่สามารถนำมาซื้อชายหรือแลกเปลี่ยนได้ ดังนั้นจะเพียงมีหนังสือยินยอมไม่ได้ ผิดหลักศาสนา"

ความจริงเรื่องของปอเนาะตะเยาะห์ซูนั้น มีรายละเอียดที่ยังไม่มีการทำให้กระจ่างแจ้งหลายประการเช่น ที่ดินของปอเนาะนั้น บาบอตะเยาะห์ซูได้วะกัฟไว้หรือไม่ กรณีอาคารเรียนอาคารพักนักเรียนซึ่งสร้างมาด้วยเงินบริจาคมากมาย จะถือว่าเป็นการวะกัฟหรือไม่ หากเป็นที่วะกัฟหรืออาคารทรัพย์สินที่วะกัฟไว้ จะสามารถแลกเปลี่ยนได้หรือไม่ โดยเฉพาะแลกกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เข้ามาสร้างมลพิษและทำลายชุมชน

เฉกเช่นเดียวกับกรณีปอเนาะญีฮาดวิทยา ที่พี่น้องมุสลิมล้วนมีความเห็นในทางศาสนาร่วมกันว่า "ที่ดินและทรัพย์สิน เช่น อาคารเรียน และอื่นๆ อันเป็นทรัพย์สินสาธารณะหรือวะกัฟตามทัศนะอิสลาม ก็จะต้องเป็นไปวัตถุประสงค์ที่ได้วะกัฟไว้ ไม่สามารถถูกยึดตามคำสั่งศาลได้" กรณีปอเนาะตะเย๊าะห์ซูตีบอ จะสามารถแลกเปลี่ยนที่ดินโดยความยินยอมของคณะกรรมการโรงเรียนกับ กฟผ.นั้นจึงไม่ได้เช่นกันตามหลักวะกัฟ

เรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เฉกเช่นว่าหากมีวัดในพื้นที่ เราจะสามารถย้ายวัดออกไปสร้างที่ใหม่ เพียงหลวงพ่อและกรรมการวัดตกลงกับโรงงานว่าจะย้ายวัดทุบเจดีย์ไปสร้างใหม่แลกที่ดินกันได้หรือไม่ คำตอบคงคล้ายๆกัน !!

เรื่องละเอียดเช่นนี้ คนในชายแดนใต้ที่ต้องส่งเสียง เพราะคนกรุงเทพที่พิจารณาอนุมัติสารพัดโครงการ ยากที่จะเข้าใจ หรืออาจไม่อยากจะเข้าใจ