พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และประธานแอมเนสตี้ประเทศไทย
จำได้ว่าพบกับ อัญชนา ครั้งแรกที่ยะลา ปีนั้นเราทำงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา เรียกได้ว่า station อยู่ที่ยะลากันเลยทีเดียว เอาเป็นว่า อัญชนาและน้องสาวขับรถมาที่ศูนย์ทนายความมุสลิมด้วยเหตุว่าน้องเขย ภรรยาของน้องสาวถูกอุ้มไป หมายถึงหายตัวไปขณะนำรถยนต์ที่ล้างแล้วไปส่งให้ลูกค้า หายไปซักพักใหญ่ ครอบครัวพยายามติดตามหาจนพบว่าถูกจับกุมและตั้งข้อหาเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ทั้งอัญชนาและปัทมาขับรถมาในมาดที่แปลกกว่าครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงอื่นๆ
พวกเขาขับรถฮอนด้า ซีอาร์วี สุดหรู มาขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย ลูกค้าของศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา สมัยนั้นและสมัยนี้ไม่ต่างกัน อย่างหรูก็ยืมรถกระบะเพื่อนบ้าน ขับมาพร้อมลูกเด็กเล็กแดงมาร้องเรียนขอความช่วยเหลือหลังสามี ลูกชาย น้องชาย พี่ชาย พ่อถูกจับกุมคดีความมั่นคง ทุกคนไม่ว่าจะมาด้วยรถอะไร มีความสับสนและงุนงงเหมือนกันหมดเมื่อมีคนในครอบครัวถูกจับ
ที่แตกต่างไปอีกคือส่วนใหญ่แล้วลูกความของศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา สมาชิกในครอบครัวหรือตัวผู้ต้องหาหาสอบถามประวัติแล้วพบว่าเรียนจบม.6 สามัญ หรือไม่ก็ศาสนาชั้น 10 นับว่าสูงแล้ว จำไม่ได้ว่าน้องเขยของอัญชนาเรียนจบอะไรแต่พื้นเพมาจากจังหวัดปัตตานี ไปทำงานที่แถวสะบ้าย้อยจนได้พบรักและแต่งงานกับน้องสาวของอัญชนา
ทั้งอัญชนาและน้องสาวเป็นชาวสะบ้าย้อยลูกครู ทั้งสองคนเรียนจบวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ เมืองหลวง กรุงเทพมหานคร ที่หลายคนยอมรับว่าเป็นคณะสุดโหด เป็นคณะที่มีวัฒนธรรมชายล้วน อย่างมากก็มีผู้หญิงแทรกอยู่ไม่มาก หากหญิงใดได้เอยว่าจบวนศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เราก็คงร้องโอ้ว และคิดไปว่าน่าจะหาความเป็นหญิงแบบจารีตประเพณีเดิมได้ยาก เธอทั้งสองคนจึงมีความแข็งแกร่งในตนเองพร้อมกับความเป็นจารีตตามหลักศาสนาอิสลามที่น่าเคารพนับถือ
////****/////
หลังจากนั้นเราพบกันอย่างสั้นๆ ที่ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา แล้วเราก็ไม่ได้พบกันอีกสักพักใหญ่
ต่อมาพบว่ารถหรูถูกขายไปแล้ว ได้ยินภายหลังว่าต้องนำมาลงทุนพร้อมกับติดตามคดี ที่ต่อมาน้องเขยก็ได้รับการปล่อยตัวเพราะศาลตัดสินยกฟ้อง
เราได้พบอัญชนาในหลายๆเวทีการเสวนาเรื่องความเป็นธรรมต่อมาก็มีความสนิทสนมและทำงานร่วมกันอย่างเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่ปี 2554 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว
ครั้งแรกที่ได้ไปพักที่บ้านเธอที่สะบ้าย้อย เธอพาเราไปดูการกรีดยางแต่เช้าตรู่ ขณะนั้นราคายางพารายังไม่ใช่ 3 กิโลร้อย เธอรับซื้อขี้ยางด้วยรถกระบะเก่าๆที่มาแทนฮอนด้าซีวิคสุดหรูคันนั้น เธอบอกว่าอยากช่วยชาวบ้านต้องขยันและยืนได้ด้วยตนเอง พ่อของอัญชนาเสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเล็ก แม่ของอัญชนาเป็นแบบอย่างความเข็มแข็งและอดทนที่เราเห็นได้ในตัวเธอ
ทุกครั้งที่เธอออกจากบ้านเธอจะไปขอพรจากแม่และบ่อยครั้งเราได้ยินเสียงโทรศัพท์จากลูกสาวคนนี้ถามแม่เป็นสำเนียงใต้ว่า “ม๊ะกินข้าวแล่วม๊าย” และบอกแม่ว่ากำลังทำงานและกำลังจะกลับบ้าน บางครั้งเป็นเวลาสองทุ่มสามทุ่มที่หญิงสาวคนเดียวไม่ควรจะขับรถจากปัตตานีกลับบ้านที่สะบ้าย้อยในเวลากลางคืน แต่เธอก็ทำ เธอบอกเหตุผลที่หลายคนจะรั้งเธอไว้ไม่ได้ “อยากไปนอนบ้าน ม๊ะรออยู่” เราสองคนเหมือนกันคือว่า เป็นลูกสาวติดแม่และมีแม่ในตัวเรา
ความเหมือนร่วมอย่างหนึ่งที่ทำให้เรากลายมาเป็นคู่คดีในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา คือ เรื่องการต่อต้านการทรมาน ที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทและความผิดฐานเผยแพร่รายงานการทรมานในระบบคอมพิวเตอร์เมื่อปี 2557
จากข่าวลือที่ว่าหากชาวบ้านถูกจับเข้าค่ายทหารทุกคนจะถูกซ้อมทรมาน บางคนปางตาย บางคนกลับบ้านแล้วสติไม่ดี แม้จะมีเพียง 3 กรณีที่ไม่มีชีวิตรอด แต่ข่าวลือนี้หนาหูในบางช่วงและก็เบาบางลงบ้างในบ้างระยะ
เริ่มจากเมื่อปี 2554 เราเริ่มจดบันทึกอย่างเป็นระบบเมื่อมีองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศนำเครื่องมือที่สำคัญคือหลักการอิสตันบูล มาอบรมและทำให้เรามีวิธีที่ทำให้ข่าวลือและความหวาดกลัวของชาวบ้านเรื่องการซ้อมทรมานเป็นหลักวิชาการมากขึ้น การจดบันทึกปากคำเชิงลึกจากผู้เสียหายจากการทรมานทำได้ไม่ง่ายนัก
ปี 2555 งานของเราเริ่มได้รับการยอมรับโดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนช่วยเหลือผู้เสียหายจากการทรมานขององค์การสหประชาชาติ เราพยายามเข้าถึงผู้เสียหายอย่างเงียบๆ โดยต่อมาได้ทำงานร่วมกับ HAP (หนึ่งในผู้ริเริ่มและก่อตั้งเป็นผู้เสียหายจากการทรมานจากจังหวัดยะลา เคยถูกจับกุมและควบคุมตัวในขณะเป็นนักศึกษาต่อมาฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากการถูกควบคุมตัวเกินและซ้อมทรมานจากกองทัพบก) จำนวนบันทึกปากคำของผู้เสียหายเพิ่มจาก 40 กรณี เป็น 82 กรณี เป็น 110 กรณี และเป็นเกือบ 150 กรณีในปี 2560
อัญชนาเป็นอดีตครอบครัวผู้ต้องขังที่ผันตัวเองมาเป็นนักสิทธิมนุษยชน เธอมีความชอบธรรมในการทำงาน มีความรู้ มีความสามารถและเปิดรับความรู้ต่าง ๆ อย่างมุ่งมั่นและตั้งใจ เธอเป็นคนท้องถิ่น แม้ภาษามลายูเธอจะเพี้ยนสุดๆๆ แต่เธอมีความเข้าใจวิถีมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างดี
ความชอบธรรมในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและความเข้มแข็งภายในทำให้งานด้านสิทธิมนุษยชนของเธอมีประสิทธิภาพและทรงพลัง
เราคนกรุงเทพจะไปทำอะไรได้ หากไม่มีเธอ ชื่ออัญชนา เป็นตัวต่อสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างผู้เสียหายกับกลไกการคุ้มครองสิทธิทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
ได้ข่าวว่า เธอชื่ออัญชนา กำลังจะถูกกลั่นแกล้งหนักขึ้น ในห้วงปี 2557-2560 สามปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่างานด้านส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของอัญชนาจะเข้าตาฝ่ายความมั่นคงอย่างมาก สังเกตจากภาพตัดต่อและคำพูดแรงๆๆ ยุแหย่ สร้างความเกลียดชังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในบทความต่างของ IO ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นฝีมือของฝ่ายความมั่นคง
มีข่าวตามสายว่า “น้องเขย” ผู้ชายคนเดียวในครอบครัวอาจถูกจับกุมตามกฎหมายพิเศษ ด้วยเหตุว่าเคยมีประวัติและช่วงเวลานี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อยและถี่ขึ้นในพื้นที่เทพานาทวีและสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มีเสียงเตือนว่า “ให้ระวังตัว!” เราเชื่อว่าทางหน่วยงานความมั่นคงก็มีเจ้าหน้าที่ที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ของตนไม่แพ้สิ่งที่อัญชนาทำ เราทำเพราะความเชื่อและศรัทธาเหมือนกันกับทหารทุกคนที่มีวัตถุประสงค์หลักคือ การนำความสงบสุขมาสู่สังคมชุมชนเรา
แม้ว่าเราจะถือตำราคนละเล่ม อาวุธคนละแบบ หลักคิดและวิธีการของสองฝ่ายอาจจะขัดและแย้งกันบ้าง
ไม่ใช่เราทั้งสองฝ่ายหรอกหรือที่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน แสดงความเป็นผู้ใหญ่และความเป็นมืออาชีพให้เป็นที่เชื่อมั่นและศรัทธาของชาวบ้านประชาชนที่เฝ้ามองการทำงานของพวกเรา
พอกันที ยุยง นอกกรอบ นามแฝง เวป IO ภาพตัดต่อ ที่ทำลายชื่อเสียง อัญชนา ผู้หญิงนักสิทธิมนุษยชนที่มีความชอบธรรมที่สุดในการเรียกร้องให้บ้านเมืองของเธอสงบสุขปราศจากความรุนแรง
แค่เปิดใจยอมรับว่า NGOs ก็คืออาชีพหนึ่ง กิน ขี้ เยี่ยว นอน เหมือนกับทหารทุกคน แล้วเรามาทำหน้าที่ของเราอย่างมืออาชีพด้วยกัน
บันทึกไว้ 19 สิงหาคม 2560
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเฟสบุคของ Pornphen Khongkhachonkeit