Skip to main content

กฎหมายชะรีอ๊ะฮฺ

 

บรรจง บินกาซัน

 

 

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา คำว่า “ชะรีอ๊ะฮ์” (กฎหมายอิสลาม) เป็นที่ปรากฏในสื่ออย่างกว้างขวางและบ่อยครั้งขึ้น บางคนพอได้ยินคำนี้ก็ออกอาการต่อต้านขึ้นมาทันทีทั้งที่ตัวเองประกาศตัวชัดเจนว่าเป็นผู้สนับสนุนเสรีภาพและเคารพสิทธิมนุษยชน

เมื่อสุลต่านผู้ปกครองประเทศบรูไนดารุสสลามซึ่งมีประชากรแทบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลามประกาศจะใช้กฎหมายชะรีอ๊ะฮ์ในประเทศ ผู้นำสหรัฐก็แสดงอาการคัดค้าน หรือในตอนที่รัฐอาเจะห์ของอินโดนีเซียนำบทลงโทษตามกฎหมายชะรีอ๊ะฮ์มาใช้กับผู้ก่ออาชญากรรมที่โหดเหี้ยม สื่อตะวันตกได้เรียงหน้ากันออกมาประณามว่าเป็นกฎหมายที่ใช้ความรุนแรง

หลายคนอาจยังสงสัยว่าชะรีอ๊ะฮ์คืออะไรและมีที่มาอย่างไร ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจแก่ท่านผู้อ่าน

ความจริงแล้ว ชะรีอ๊ะฮ์มีที่มาจากคำสอนของศาสนา เพราะศาสนามีวัตถุประสงค์ในการจัดระเบียบสังคมมนุษย์ก่อนที่ประเทศต่างๆจะมีรัฐบาลหรือรัฐสภามาร่างรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายจัดระเบียบสังคม

วัตถุประสงค์สำคัญของกฎหมายคือการจัดระเบียบสังคมและรักษาความปลอดภัยให้แก่มนุษย์ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากวัตถุประสงค์ของศาสนา ศีลห้าห้ามการฆ่าก็เพื่อรักษาชีวิต ห้ามลักทรัพย์ก็เพื่อรักษาทรัพย์สินของบุคคล ห้ามผิดประเวณีก็เพื่อรักษาเชื้อสาย ห้ามดื่มน้ำเมาก็เพื่อรักษาสติปัญญา ห้ามพูดปดก็เพื่อรักษาความยุติธรรม แต่พระไตรปิฎกไม่มีบทลงโทษคนผิดศีล

แต่ในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเป็นกฎหมายของโมเสสและพระเยซูมีบทลงโทษความผิดดังกล่าวเช่น การลงโทษความผิดในเรื่องฆาตกรรมแบบตาแทนตา ฟันแทนฟัน เป็นต้น แต่บทลงโทษความผิดเหล่านี้ถูกยกเลิกไปหรือไม่ถูกนำมาปฏิบัติ เพราะผู้รักษากฎหมาย คือ นักบวชถูกจำกัดบทบาทไว้แค่ในโบสถ์

เมื่อนบีมุฮัมมัดได้รับคัมภีร์กุรอาน การปกครองด้วยคัมภีร์ทางศาสนาได้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากบทลงโทษคนที่ผิดเป็นคำสั่งของพระเจ้าที่ต้องได้รับการปฏิบัติ นบีมุฮัมมัดจึงต้องทำตามคำบัญชา มิเช่นนั้นแล้ว ท่านต้องมีผิดในฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

คัมภีร์กุรอานถูกใช้เป็นธรรมนูญในการปกครองแผ่นดินอิสลามในอาณาจักรต่างๆ นานกว่าพันปีและการปกครองด้วยคัมภีร์กุรอานได้สิ้นสุดลงเมื่ออาณาจักรออตโตมานล่มสลาย

ถ้าจะเปรียบเทียบ คัมภีร์กุรอานในสมัยของท่านนบีมุฮัมมัดก็คล้ายกับรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติสำคัญๆซึ่งต้องมีกฎหมายลูกมาอธิบายรายละเอียด ในสมัยที่นบีมุฮัมมัดมีชีวิต ท่านเป็นผู้ได้รับเอกสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการอธิบายรายละเอียดของบทบัญญัติในคัมภีร์กุรอาน ดังนั้น คำสอนและวัตรปฏิบัติของท่านจึงเป็นเสมือนกฎหมายที่ขยายบทบัญญัติในธรรมนูญ

ตัวอย่างเช่น บทบัญญัติในคัมภีร์กุรอานสั่งเรื่องการนมาซเคร่าๆ แต่รายละเอียดต่างๆ นบีมุฮัมมัดเป็นผู้อธิบายด้วยการปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างสืบต่อกันมา

หลังสมัยนบีมุฮัมมัด เมื่ออิสลามแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางในทุกส่วนของโลกซึ่งมีสภาพทางภูมิศาสตร์และขนบประเพณีที่ต่างกัน ปัญหาต่างๆ จึงเกิดขึ้นในการนำคำสอนของอิสลามมาปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น เดิมทีบทบัญญัติอิสลามไม่เคยเรียกเก็บภาษีการค้าหรือภาษีศุลกากร แต่เมื่อรัฐที่มิใช่มุสลิมข้างเคียงเรียกเก็บภาษีนำเข้าซึ่งทำให้พ่อค้ามุสลิมเสียเปรียบ ประเด็นนี้จึงถูกนำมาสู่การพิจารณาของเคาะลีฟะฮฺ และเมื่อเคาะลีฟะฮฺมีคำสั่งให้เก็บภาษีโต้ตอบ การปฏิบัติตามคำสั่งของเคาะลีฟะฮฺก็เริ่มเป็นที่มาของชะรีอ๊ะฮฺ

อีกตัวอย่างก็คือ มุสลิมจะละหมาดและถือศีลอดอย่างไรเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในเขตขั้วโลกเหนือซึ่งเวลากลางวันยาวถึงยี่สิบสองชั่วโมงและกลางคืนมีเพียงสองชั่วโมงเท่านั้น ปัญหานี้จึงถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของนักนิติศาสตร์อิสลามเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ ไม่ต่างจากรัฐบาลส่งข้อกฎหมายไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเพื่อหาข้อสรุป การวินิจฉัยและคำชี้ขาดของนักนิติศาสตร์อิสลามนี้เองที่ก่อให้เกิดชะรีอ๊ะฮฺที่ต้องอ้างอิงคัมภีร์กุรอานและแบบอย่างคำสอนของนบีมุฮัมมัดเป็นกรอบในการวินิจฉัย

เมื่อกฎหมายตะวันตกซึ่งเป็นกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่สามารถควบคุมอาชญากรรมและความเสื่อมทรามทางศีลธรรมได้ มันผิดอะไรที่ประเทศมุสลิมจะนำชะรีอ๊ะฮ์มาใช้?