Skip to main content

รอมฎอน ปันจอร์
ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้
 

          การเข้าบุกค้นและจับกุมผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยจำนวน 7 คน ในพื้นที่โรงเรียนอิสลามบูรพา ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา อาจเป็นหนึ่งในผลงานสำคัญของยุทธการกวาดจับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและแนวร่วมในเขตนราธิวาส เมื่อปรากฎในภายหลังจากการรับสารภาพว่า 5 ใน 7 ของผู้ถูกจับกุมยอมรับว่า พวกเขามีส่วนในการก่อเหตุร้ายหลายครั้ง

          คำแถลงของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระบุว่า พวกเขามีส่วนในการประกอบวัตถุระเบิดและก่อเหตุรวมทั้งสิ้น 25 คดี โดยเฉพาะ มะนาเซ ยา มือระเบิดและครูฝึกคนสำคัญ ซึ่งเคยมีค่าหัว 1 ล้านบาท ยอมรับสารภาพว่าตนเคยมีส่วนก่อเหตุถึง 17 ครั้ง อาทิเช่น การวางระเบิดร้านข้าวต้มอั้งม้อกลางเมืองนราธิวาส ระเบิดเสาไฟฟ้าริมถนนนราธิวาส-ตากใบ ซึ่งส่งผลให้ พล.ต.ต.นภดล เผือกโสมณ อดีตรอง ผบก.ภ.จว.นราธิวาสได้รับบาดเจ็บ

การจับกุมครั้งนี้ ยังขยายผลด้านบวกต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในเวลาต่อมา ผลจากการซัดทอดของผู้ต้องหากลุ่มนี้ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมและควบคุมตัวตามหมาย ฉ.  (ตาม พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) อีกหลายราย รวมทั้งล่าสุด จากการบุกค้นตาม แผนพิทักษ์บ้านกูยิ-บ้านงาเน็ง ใน อ.ยี่งอ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้รวบตัวผู้ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าหลบหนีมาจากการบุกจับกุมที่โรงเรียนอิสลามบูรพาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

          การดำเนินการดังกล่าวยังอยู่ในบริบทของยุทธการบุกค้นหลากชื่อของกองกำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารในพื้นที่สีแดงหลายพื้นที่ ซึ่งสามารถกวาดจับผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยได้เกือบ 400 คน

          ผลพวงจากเหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การออกคำสั่งลงนามโดยผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มูลนิธิอัดดีรอซาตอัลอิสลามียะห์ เพื่อปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนอิสลามบูรพาในวันที่ 5 ก.ค. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 85 (1) และ (3) ของ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525

นอกจากนี้ ทางการยังวางมาตรการรองรับโดยการเปิดให้มีการถ่ายโอนทั้งครู อุซตาส และนักเรียนไปยังโรงเรียนต่างๆ ในเขตนราธิวาส 49 แห่ง

          ทว่าล่าสุด มีนักเรียนย้ายโอนไปยังโรงเรียนใหม่เพียงประมาณ 80 คน จากนักเรียนทั้งหมด 790 คน ส่วนครูมีการแจ้งความจำนงเพียง 17 ราย จากครูและอุซตาสทั้งที่บรรจุและอัตราจ้างทั้งสิ้น 65 คน ขณะที่เหลือก็สับเปลี่ยนมาปักหลักอยู่ในโรงเรียนเพื่อรอวันที่คำสั่งอุทธรณ์ซึ่งทางโรงเรียนได้ยื่นต่อกระทรวงศึกษาธิการไปเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมาได้รับการพิจารณา

            ข้อต่อสู้ในการอุทธรณ์ของทางโรงเรียนยืนยันว่า ความที่ระบุว่าทางโรงเรียนมีส่วนรู้เห็นกับผู้ถูกจับกุมทั้ง 7 คนนั้นเป็นเพียงข้อกล่าวหาที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ความจริงต่อศาล ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่ขาดคุณสมบัติจนต้องทำการเพิกถอนใบอนุญาต

          ซูไบดะห์ ดอเลาะ ครูใหญ่ ระบุว่า ในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมในวันเกิดเหตุมีเด็กนักเรียนของโรงเรียนเพียง 1 คน คือ นายตอริก พีรีซี ที่เป็นนักเรียนชั้น ม.4 วัย 16 ปี ที่เหลืออีก 6 คน เป็นคนนอกที่ไม่ได้ข้องเกี่ยวกับโรงเรียน ตนไม่รู้จัก โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าจับกุมคนทั้งหมดพร้อมของกลางได้ที่บริเวณบ้านร้างที่เคยเป็นศูนย์เด็กเล็กที่ตั้งอยู่ในเขตของโรงเรียน ใกล้กับบ้านของอุสตาสและภารโรงของโรงเรียน ซึ่งยืนยันว่าบุคลากรของโรงเรียนไม่รู้จักบุคคลทั้ง 6 แต่อย่างใด

          "ที่เรากล้าอุทธรณ์เพราะเชื่อว่าโรงเรียนไม่เกี่ยว ถ้าจะผิดก็ต้องดำเนินการกับคนเหล่านั้นไป ไม่เกี่ยวกับนักเรียนอีกหลายร้อยคนที่นี่"

          เธอตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนก็เคยถูกค้นหลายครั้งและก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่เป็นไปได้ว่าโรงเรียนอิสลามบูรพาจะถูกจับตามองจากทางการ เนื่องจากโรงเรียนแห่งนี้มีอุซตาสที่จบจากประเทศอินโดนีเซียหลายคน อีกทั้งในเหตุการณ์ตากใบก็มีนักเรียนและอุซตาสรวม 12 คน เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นจำนวนหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นโรงเรียนเอกชนขนาดกลางเพียงแห่งเดียว ที่ยังให้เด็กนักเรียนเด็กมาพักประจำแบบปอเนาะดั้งเดิม ในขณะที่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ก็มาจากเขต อ.ตากใบ และ อ.เมือง เป็นหลัก จึงไม่แปลกที่ทางโรงเรียนจะถูกเพ่งเล็ง

          อย่างไรก็ตาม เธอปฏิเสธว่า โรงเรียนไม่ได้มีสายสัมพันธ์เป็นพิเศษในลักษณะเครือข่ายกับโรงเรียนสัมพันธ์วิทยาหรือโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นเครือข่ายของขบวนการบีอาร์เอ็น โคออดิเนต และยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลายโรงเรียนเคยถูกกล่าวหาหลายครั้งว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไมสงบ ผู้ถูกกล่าวหาบางโรงเรียนก็ไม่ใช่แค่ระดับอุซตาสเท่านั้น แต่เป็นถึงผู้บริหารโรงเรียน แต่ก็ยังเปิดให้มีการเรียนการสอนได้อยู่ ไม่ได้มีคำสั่งปิดเหมือนอิสลามบูรพา

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ในทางกฎหมายยังคงต้องรอการพิจารณาจากกระทรวงอยู่ แต่ในทางปฎิบัติ ทุกวันนี้แม้โรงเรียนจะปิดการเรียนการสอน แต่ก็ยังคงมีเด็กนักเรียนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ประจำในกระต๊อบปอเนาะหลังน้อยสับเปลี่ยนหมุนเวียนมา "เฝ้า" โรงเรียนทุกวัน

          เด็กนักเรียนเหล่านี้ ยืนยันว่าจะยังไม่ยอมย้ายไปตามเงื่อนไขที่ทางเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 หยิบยื่นให้ ด้วยเชื่อว่าโรงเรียนจะเปิดได้อีกครั้งในอีกไม่ช้า

          นูรฮีดายะห์ บินโง๊ะ วัย 16 ปี เด็กนักเรียน ม.4 บอกว่า แม้โรงเรียนจะปิด แต่ก็ยังมาพักที่ปอเนาะ เนื่องจากต้องการมาฟังข่าวว่าโรงเรียนจะเปิดอีกครั้งเมื่อไหร่ ยืนยันว่าจะไม่ย้ายโรงเรียน แม้จะมีเพื่อนบางคนที่ย้ายไปแล้วแนะนำโดยตลอด เพราะกลัวจะเรียนไม่ทัน

          นอกจากเด็กนักเรียนแล้ว ผู้ปกครองยังคงแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนและถามไถ่ว่าโรงเรียนจะเปิดอีกครั้งเมื่อไหร่ บ้างก็หอบเอาอาหารแห้งมาฝากลูกและครูอาจารย์ที่ยังอยู่ที่โรงเรียน ทุกวันนี้ยังคงมีการทำอาหารเลี้ยงแขกที่แวะมาเหล่านี้อยู่เสมอ
   
            กามารีย๊ะ เจ๊ะมะ ผู้ปกครองของนักเรียนจาก อ.จะแนะ ที่แวะมาเยี่ยมโรงเรียนของลูกหลังการประกาศปิด บอกว่า ลูกสาวทั้งสองของเธอยืนยันที่จะเรียนที่นี่ต่อไป โดยที่ไม่ต้องการย้ายไปเรียนยังโรงเรียนอื่น ส่วนที่บ้าน มีลูกกี่คนก็ส่งมาเรียนที่นี่ เนื่องจากเป็นโรงเรียนไม่กี่แห่งที่มีการเรียนการสอนแบบพักประจำที่ปอเนาะแบบดั้งเดิม

          แม้วิถีชีวิตของโรงเรียนประจำจะผ่อนคลายลงไปบ้างหลังจากที่ไม่มีการเรียนการสอน กระต๊อบปอเนาะฝั่งนักเรียนชายดูเงียบเหงาเพราะเหลือนักเรียนที่คอยสับเปลี่ยนกันมานอนเฝ้าประมาณ 10 คน ตกเย็นยังคงเตะบอลในสนามหญ้าหน้าโรงเรียนตามประสา ทว่ากฎวินัยบางประการก็ยังคงเข้มงวดอยู่ นั่นคือ การละหมาดร่วมกันที่ "มัดราซะห์" หรือโรงละหมาดกลางโรงเรียน ในขณะที่เด็กผู้หญิงยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากขอบเขตของ "ปอเนาะหญิง" หลังเวลา 1 ทุ่มไปแล้ว

          ส่วนการเฝ้าระวังจากเจ้าหน้าที่ก็ดูจะบางตา ไม่ได้มีการเข้าคุมพื้นที่ดังกล่าวแต่อย่างใด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความมาตรการบุกค้นและจับกุมของเจ้าหน้าที่จะเบาบางลงไม่ หากแต่ยังคงรุกคืบเข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในพื้นที่ต่างๆ อยู่เป็นระยะ

อาจกล่าวได้ว่า โรงเรียนอิสลามบูรพาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแห่งแรกที่มีคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งปิดในห้วงเวลาของความรุนแรงตลอดกว่า 3 ปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่เสียงคัดค้านทั้งเรื่องวิธีการและการแยกแยะจากฝ่ายผู้นำศาสนาและองค์กรสิทธิมนุษยชนก็ดูจะแผ่วเบาลงไปเป็นอันมาก เนื่องมาจากหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ และการยอมรับสารภาพของผู้ต้องหา

 

..........

 

บ้านหลังที่ถูกค้นซึ่งทางโรงเรียนระบุว่าเป็นบ้านร้าง ไม่มีคนอาศัยอยู่
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยึดของกลางได้ 108 รายการ
ขณะที่บ้านหลังข้างเคียงเป็นเรือนพักของอุสตาซและภารโรง ซึ่งขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน

นักเรียนชายยังคงพักอยู่ที่ปอเนาะ ภายในบริเวณโรงเรียนอิสลามบูรพา และใช้ชีวิตตามปกติ
แม้ว่าโรงเรียนจะปิดและถูกเพิกถอนใบอนุญาตแล้วก็ตาม

 

            นอกจากนี้ ยังอาจเป็นผลมาจากการขึ้นป้ายโรงเรียนอิสลามบูรพาให้เป็น "ปอเนาะสีแดง" ตามคำสั่งแม่ทัพภาคที่ 4 หนึ่งในสามโรงเรียนของ จ.นราธิวาส ทำให้นับจากนี้ ผู้บริหารโรงเรียนเองจำต้องพิสูจน์ข้อกล่าวหาดังกล่าวแต่เพียงลำพัง

- บรรยากาศภายในโรงเรียนก็ยังคงเงียบเหงา -

 

 

- ซูไบดะห์ ดอเลาะ ครูใหญ่โรงเรียนอิสลามบูรพา -