Skip to main content

 

                  วันที่ 24 สิงหาคม 2560 เยาวชนต้นแบบโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง๒ ได้ร่วมทำกิจกรรม กับ ผู้สูงอายุตำบลยุโปเป็นกิจกรรม ระบำเบาๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สองที่เยาวชนได้มีส่วนร่วมทำกับผู้สูงอายุในชุมชนยุโป ซึ่ง จุดเริ่มต้นของโรงเรียนผู้สูงอายุ เริ่มจากการพูดคุยกับผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน ผู้อาวุโสในชุมชนเพื่อ ปรึกษาหารือในการดำเนินกิจกรรมของผู้สูงอายุ เพื่อที่จะดึงผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมพร้อมกัน

                   หลังจากที่คณะทีมพูดคุยเห็นฟ้องต้องกันว่า “ต้องการที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมผู้สูงอายุในชุมชน ทำให้มีกระบวนการทำงานที่มีรูปธรรมมากยิ่งขึ้นคือ ได้ตั้งหน้าที่ ความรับผิดชอบของแต่ละคนเพื่อให้กิจกรรมนี้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด” เมื่อกระบวนการทำงานขับเคลื่อนด้วยความรัก ความสนใจ ความเอาใจใส่จากคณะทำงานในชุมชน ทำให้เกิดการรวมกลุ่มทำโรงเรียนผู้สูงอายุยุโป ซึ่งระหว่างดำเนินการกิจกรรมนั้น คณะทีมงานทำงานก็ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพื่อเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนกิจกรรมผู้สูงอายุในตำบลยุโป ซึ่งปัจจุบันในตำบลยุโปได้มีการเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุรุ่นที่ 1 ไปแล้ว จบหลักสูตรในวันที่ 2 กันยายน 2560 ที่จะถึงนี้ ซึ่งสมาชิก มีทั้งหมด 30 คน อีกทั้งโรงเรียนผู้สูงอายุยุโปจะทำการเปิดรับสมัครของรุ่นที่ 2 เร็วๆ นี้

                   โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลยุโปจะเปิดรับสมัครนักเรียนตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่กำหนดเพศ หรือ ศาสนาแต่อย่างใด เพียงขอแค่ผู้เข้าร่วมต้องการที่จะเรียนรู้ ต้องการที่ทำกิจกรรมร่วมกันจริงๆ เพียงแค่นี้ ก็สามารถที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับโรงเรียนผู้สูงอายุยุโปได้แล้ว แต่โรงเรียนผู้สูงอายุยุโปจะรับสมัครเฉพาะนักเรียนผู้สูงอายุในตำบลยุโปเพียงเท่านั้น และที่น่าสนใจคือ การดำเนินกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุตลอดหลักสูตรไม่มีงบประมาณในการสนับสนุนแม้แต่บาทเดียว แต่เขาได้รับแรงจิตอาสาจาก สถาบันการศึกษาในจังหวัดยะลามาให้ความรู้ ให้ความสุข อีกทั้งได้รับความอนุเคราะห์อาหารกลางวันจากจิตอาสาในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงที่ได้รับข่าวคราวเกี่ยวกับผู้สูงอายุในพื้นที่ และทราบมาว่าตอนนี้ ต้องจองคิวกันเลยทีเดียวสำหรับผู้ที่จะเลี้ยงอาหารกลางวันแก่นักเรียนผู้สูงอายุเหล่านี้ นับเป็นสิ่งที่ดีมากที่มีเรื่องของจิตอาสาลักษณะนี้เกิดขึ้นในสังคมของความขัดแย้ง  

                         เช่นเดียวกันโครงการพัฒนาเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม หรือ Hakam โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง๒ ได้ทำโครงการที่มีความสอดคล้องกับความเป็นวิถีชีวิตของคนในตำบลยุโปเพื่อเป็นพื้นที่เปิดให้โรงเรียน เยาวชน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ปราชญ์ชาวบ้านได้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งโครงการที่ผ่านมาของเยาวชน Hakam รุ่นที่ 1 ได้ดำเนินโครงการ อนุรักษ์การละเล่นมโนราห์ รุ่นที่ 2 ได้ดำเนินโครงการ ขนมพื้นบ้านกับวิถีชีวิตชุมชนยุโป และอีกหนึ่งรุ่นที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องรับการปรึกษาจากผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนว่าเห็นควรหรือต้องการที่จะเสนอแนะโครงการลักษณะใดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสามารถดึงคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด เพราะโครงการแต่ละโครงการเยาวชนจะต้องลงชุมชนเพื่อสำรวจข้อมูล ทำความรู้จัก และเกิดการปฎิสัมพันธ์จากคนในชุมชนได้

                       เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา เยาวชน Hakam คบ.๒ ได้ลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้ความเป็นมาของขนมโบราณ รวมถึงกระบวนการทำ และตลอดถึงการนำข้อมูลมาวาดเเผนที่เดินดิน เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด ซึ่งสำหรับข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ ร่วมถึงได้ปฎิบัติงานตามแผนโครงการ “ขนมโบราณกับวิถีชีวิตยุโป”ได้ความอนุเคราะห์จากปราชญ์ชาวบ้านด้านขนมโบราณยุโปโดยเฉพาะ 

                         การเรียนรู้การทำขนมครั้งนี้เป็นขนมโบราณสามอย่าง ได้แก่ ขนมจูจุ่น(ฝักบัว) ขนมเจาะหู และขนมต้ม(ตูปะ) โดยขั้นแรกให้เยาวชนเขียนแผนที่เดินดินเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้การทำขนมพื้นบ้านในตำบลยุโป เสร็จหลังจากนั้น ปราชญ์ชาวบ้านได้บอกถึงความสำคัญของขนมแต่ละชนิดที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประเพณีของคนในตำบลยุโปอย่างไร เมื่อเด็กได้ความรู้ตรงนั้นแล้วจึงได้แบ่งนักเรียนเป็นสามกลุ่มเพื่อได้เรียนรู้ขนมสามชนิดโดยการแบ่งเข้าฐาน ฐานละ 45 นาที กิจกรรมนี้สร้างความรู้ ฝึกนักเรียนลงมือทำขนมได้ทั้งสามชนิด อีกทั้งยังสร้างความสนุก ความใกล้ชิดระหว่างนักเรียนกับปราชญ์ชาวบ้านได้อีกด้วย และจากการสอบถามปราชญ์ชาวบ้าน ปรากฎว่าปราชญ์ชาวบ้านชอบกิจกรรมลักษณะนี้เพราะได้มีการพูดคุย ได้มีการสอนให้กับนักเรียนเพื่อให้นักเรียนได้นำความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตและเผยแพร่กระบวนการทำให้กับเพื่อนๆในโรงเรียนได้อีกด้วย

                         ขนมทั้งสามชนิดได้แก่ขนมจูจุ่น(ฝักบัว) ขนมเจาะหู และ ขนมต้ม(ตูปะ) ล้วนใช้ในประเพณีเดือนสิบ หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ประเพณีชิงเปรต และ ส่งเปรต ซึ่ง ขนมแต่ละชนิดจะแทนความหมายในประเพณีเดือนสิบ ได้แก่

                         ขนมเจาะหู เป็นการใช้แทนเครื่องประดับ โดยจังหวัดที่ใช้ขนมเจาะหูในงานเดือนสิบ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ พัทลุงเท่านั้น

                       ขนมต้ม(ตูปะ) เป็นการใช้แทนอาหารในประเพณีเดือนสิบ วัตถุดิบล้วนมาจากธรรมชาติ

                      ขนมจูจุ่น เพิ่งเริ่มมาใช้ในงานประเพณีเดือนสิบ เพราะเป็นกุศโลบายที่ต้องการเปลี่ยนจากขนมเจาะหู มาเป็นขนมจู่จุน โดยหวังไม่ให้ผู้ที่มาร่วมงานเกิดความเบื่อในขนมที่ใช้ในประเพณีเดือนสิบ