Skip to main content

สำรวจสังคม วัฒนธรรมชาวบรูไน ผ่านกิจกรรมสำคัญในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือที่พวกเขาเรียกว่า บันดาร์ กูเชอเรีย วันของทุกคนในครอบครัว

 

 

“บรูไน เมืองที่ไม่มีคนเดินถนน” คือสิ่งที่เพื่อนชาวบรูไนแท้ๆ บอกกับผม ใช่เเล้วครับ สิ่งที่ค่อนข้าง เซอร์ไพรส์มากๆ เมื่อไปถึงที่บรูไน คือ บนฟุตบาทแทบจะไม่มีคนเดินเลย เพื่อนชาวบรูไนบอกว่า คนที่นี่ไม่นิยมเดินกัน แม้ว่าจะไปร้านที่ห่างไปอีกสามบล็อกหรือสักหนึ่งกิโลเมตร ก็จะขับรถไป อาจด้วยเหตุผล ว่าหนึ่งที่นี่อากาศร้อน แดดที่แผดเผาตลอดเวลา เนื่องจากเป็นปะรเทศที่อยู่ตรงแนวเส้นศูนย์สูตรพอดี อีกประการคือ ราคาค่าน้ำมันที่แสนถูก เพียงลิตรละ 15 บาท แต่ไม่ใช่กับวันอาทิตย์ วันหยุดสุดสัปดาห์
 

 

ในทุกๆ วันอาทิตย์ ตั้งแต่เช้าตรู่ราว 6.30น. ถึง 10.00น. ถนนใจกลางตัดผ่านเมืองหลวง บันดาร์เสรีบากาวัน ประเทศบรูไน จะปิด เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับครอบครัว พักจากหน้าจอมือถือ ออกไปทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการนำจักรยานมาปั่นหรือจะมาหาเช่าที่นี่ก็ได้ พาเด็กๆ มาวิ่ง นั่งทำงานศิลปะเล็กๆ ด้วยกัน กิจกรรมสันทนาการอื่นๆ อีกมากมาย นับเป็นวันแห่งครอบครัว(วันครอบครัวอย่างเป็นทางการจะอยู่ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี) หรือที่คนบรูไนเรียกว่า BandarKu Ceria (บันดาร์กูเชอเรีย)

 

กิจกรรมนี้เพิ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงตุลาคมปีที่เเล้วเท่านั้นเอง เพื่อโปรโมทประเด็นสุขภาพ สังคม ครอบครัว ซึ่งได้รับการตอบรับจากคนบรูไนอย่างล้นหลาม จนสามารถขยายไปยังบรรดาเมืองอื่นๆ ซึ่งมีอีกสามแห่งในบรูไน โดยใช้ถนนเส้นหลักของเมือง เพื่อจัดให้สำหรับ วันแห่งสำหรับครอบครัวของคนทุกคน

ในขณะที่บรูไนเป็นประเทศที่บ้านทุกหลังมีรถไม่ต่ำกว่าสามคัน หรือมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกครอบครัว หรือพูดง่ายๆ คือ หนึ่งคนหนึ่งคันนั้นเอง(บรูไนมีประชากรราว4 แสนคน) ฉะนั้นวันอาทิตย์จึงเป็นโอกาสดีๆ คล้ายกับทุกสัปดาห์ของที่นี่คือ คาร์ฟรีเดย์ และเป็นโอกาสที่ครอบครัวจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน หลังจากลุยงานมาตลอดทั้งสัปดาห์

 

 

มีงานศึกษาจำนวนมากเห็นไปในทางเดียวกันว่า การสร้างพื้นที่สาธารณะให้คนในเมืองนั้นๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กันย่อมส่งผลดีต่อเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพของชาวเมือง การสร้างความรู้สึกร่วมของชุมชน ผู้คนและวัฒนธรรม ทั้งยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

การศึกษาของ โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-HABITAT)ในประเด็นเรื่องการสร้างพื้นที่ถนนให้เป็นพื้นที่สาธารณะในเมืองที่มีความมั่งคั่ง โดยงานศึกษานี้พบว่ามีความสัมพันธ์บางอย่างระหว่างถนนที่มั่งคั่งนั้นมาจากปัจจัยพื้นฐานสำคัญอย่างพื้นที่สาธารณะ

ตัวอย่างหนึ่งในเมืองMedellin ประเทศโคลัมเบีย ที่มีการพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมืองโดยเฉพาะกับคนในชุมชนแออัดได้มีพื้นที่ที่ครอบครัวจะได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน

ไม่ใช่แค่บรูไนเท่านั้นมีความคิดนี้ แต่ในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ หรือแม้กระทั่งจากาตาร์ (ซึ่งมีสภาพจราจรไม่ต่างหรือบางทีอาจแรงกว่ากรุงเทพฯ)  ก็มีนโยบายที่จะให้เช้าวันอาทิตย์เป็นช่วงเวลาปลอดรถ 

 

 

 

 

ความน่าสนใจของไอเดียนี้ ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ใหม่มาก ในหมู่ประเทศตะวันตกมีการสร้างพื้นที่แบบนี้มานาน แต่ที่น่าสนใจคือ การที่เมืองได้ปลอดรถ แม้เพียงชั่วคราว คือการเปิดโอกาสให้ชาวเมือง โดยเฉพาะเด็กๆ ที่วันปกตินั่งติดในรถได้ลงมาสัมผัสกับถนนที่พวกใช้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเมืองได้เป็นอย่างดี และโอกาสนี้ยังถือเป็นโอกาสที่พ่อแม่เองก็จะสอนลูกๆ เช่นพวกเรื่องจราจร ผ่านการได้ลองปั่นจักรยานด้วยตัวเอง เป็นต้น

นอกจากนี้การเปิดพื้นที่โดยใช้ที่สาธารณะที่คนคุ้นชินแบบนี้ยังสร้างกิจกรรมร่วมกันของชาวเมือง ที่ไม่อาจเกิดขึ้นในสำนึกของการไปเดินในห้างสรรพสินค้าที่ทุกคนต่างมุ่งไปตามเป้าของตัวเอง และสำนึกที่ห่วงแหนอาจไม่มากเท่าเพราะเราคิดว่าห้างสรรพสินค้าคือพื้นที่ของคนคนหนึ่ง ไม่ใช่พื้นที่ของทุกคนร่วมกันแบบที่พื้นที่ของเมืองซึ่งคือสาธารณะที่มอบให้

 

 

ในเมืองที่เต็มไปด้วยรถ คงจะดีไม่น้อย ถ้ามีสักวันหนึ่งที่ปล่อยให้บางส่วนของเมืองได้พัก และเปิดเป็นพื้นที่ของทุกคนหรือแม้แต่การทำให้เมืองมีพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ย่อมเป็นสิ่งที่นักกำหนดนโยบายต้องคิดเป็นอันดับแรกๆ เพื่อทำให้เมืองไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่แสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ แต่เป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคน