ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
เดือนตุลาคม 2553 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดูเหมือนจะยังอยู่ในความรุนแรง การก่อเหตุด้วยการทำลายชีวิตและทรัพย์สินที่คล้ายจะลดลงในตอนต้นปีที่ผ่านมา กลับมีระดับสูงขึ้นอีกโดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายนและกันยายน ในเดือนตุลาคม เหตุการณ์การก่อความไม่สงบก็ยังอยู่ในระดับที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในวันที่ 25 ตุลาคม อันเป็นวันครบรอบ 6 ปีของกรณีสังหารหมู่ในเหตุการณ์ตากใบ (25 ตุลาคม 2547) กล่าวโดยรวมนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนตุลาคม 2553 มีเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้เกิดขึ้น 10,386 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 4,453 คน ผู้บาดเจ็บ 7,239 คน ถ้านับรวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันจะมียอดรวมสูงถึง 11,692 คน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมนี้ มีสถิติการตายจากเหตุการณ์ความไม่สงบโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 2 คน สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้กระแสสันติภาพ การแก้ปัญหาความยุติธรรมและการพัฒนาจะถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมาโดยรัฐ เพื่อยุติหรือลดระดับความรุนแรง แต่อีกด้านหนึ่ง บทเพลงแห่งความรุนแรง สงครามและการเรียกร้องความยุติธรรมก็ยังถูกบรรเลงขับขานสะท้อนก้องอย่างไม่หยุดยั้ง ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงและพลวัตของสถานการณ์ในพื้นที่ยังสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งที่ว่า ทางออกแห่งสันติยังต้องสร้างสรรค์กันต่อไปในท่ามกลางสถานการณ์อันซับซ้อนดังกล่าว

เมื่อเทียบจำนวนและสัดส่วนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บโดยดูที่ภูมิหลังทางด้านศาสนา ร้อยละ 59.02 (2,628 คน) ของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นกลุ่มผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม ส่วนอีกร้อยละ 38.15 (1,699 คน) ของผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด ร้อยละ 60.13 (4,353 คน) เป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ อีกร้อยละ 32.68 (2,362 คน) เป็นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม เหยื่อจากการโจมตีในกลุ่มผู้เสียชีวิตส่วนมากจะเป็นคนมุสลิม ส่วนในกลุ่มเหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ส่วนมากและในสัดส่วนที่มากกว่า จะเป็นคนพุทธ
ความซ้ำและคงที่ของแบบแผนสถานการณ์ความรุนแรง
จากช่วงเวลา 6 ปี 10 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงแรกนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เริ่มมีระดับลดลงในช่วงกลางปี 2550 อันเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐในการควบคุมและจำกัดพื้นที่ของการก่อความรุนแรงด้วยการระดมกำลังพลและใช้อำนาจแห่งกลไกกฎหมายพิเศษเพื่อกดความรุนแรงในพื้นที่หลายแห่งให้ลดลง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการปิดล้อมตรวจค้นและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปจำนวนมากถึงประมาณ 3,000 กว่าคน แม้ว่าจะมีการปล่อยตัวคนเหล่านี้ไปเป็นจำนวนมากเช่นกัน กระนั้นก็ตาม แม้โดยเฉลี่ยระดับของความรุนแรงนับจากความถี่หรือจำนวนครั้งของเหตุการณ์หลังจากนั้นจะลดลงประมาณร้อยละ 50 โดยเปรียบเทียบกับช่วงก่อนปี 2550 แต่ก็ควรสังเกตด้วยว่า เหตุการณ์ในช่วงหลังจากปี 2550 มีลักษณะที่แกว่งไกวขึ้นสูงๆต่ำๆอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมาโดยตลอด และในบางครั้งบางช่วงระดับของเหตุการณ์ก็จะพุ่งสูงโด่งขึ้นอย่างฉับพลันในลักษณะซิกแซกสลับฟันปลาอย่างเห็นได้ชัดเจน

นอกจากนี้แล้ว ลักษณะพิเศษของสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ระยะหลังส่อให้เห็นแนวโน้มที่ว่า แม้จำนวนครั้งและความถี่ รวมทั้งพื้นที่ของการก่อความไม่สงบจะลดลง แต่สิ่งที่สะท้อนให้เห็นเป็นตัวคงที่ก็คือ ระดับของการตายและความสูญเสียที่เกิดจากความรุนแรงหรือการก่อความไม่สงบ ภาพของข้อมูลการสูญเสีย (การเสียชีวิตและบาดเจ็บ) ที่เกิดขึ้นจึงดูเหมือนจะมีลักษณะแบบแผนที่ไม่ต่างกันมากนักระหว่างช่วงเวลาทั้งก่อนและหลังปี 2550 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากรายงานความสูญเสียรายเดือน ข้อมูลล่าสุดก็ยังสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าเป็นความรุนแรงเชิงคุณภาพ ในขณะที่ระดับความถี่หรือจำนวนครั้งความรุนแรงน้อยลงแต่จำนวนการตายและบาดเจ็บก็ยังคงที่ กล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือการก่อเหตุความรุนแรงลดลงแต่การก่อเหตุแต่ละครั้งมีแนวโน้มที่จะทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก


เดือนอันตราย: มิถุนายน กันยายนและตุลาคม
การมีระดับความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นเป็นระยะๆ ก็เป็นลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของสถานการณ์ภาคใต้ สำหรับสถานการณ์ในปี 2553 นี้ เดือนมิถุนายน กันยายนและตุลาคมเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ กล่าวคือในเดือนมิถุนายนมีเหตุการณ์จำนวนประมาณ 117 ครั้ง เดือนกันยายนมีเหตุการณ์สูงขึ้นอีกเป็นจำนวน 123 ครั้ง เดือนตุลาคมเช่นกันมีเหตุการณ์ความไม่สงบมากถึง ประมาณ 102 ครั้ง โดยเฉพาะในเดือนกันยายนนั้นอาจจะถือได้ว่ามีระดับความรุนแรงสูงที่สุดในรอบ 10 เดือนของปี 2553 ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น อาจจะนับได้ว่าสูงที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาเพราะว่าสถิติรายเดือนตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2550 เป็นต้นมาเหตุการณ์ความไม่สงบในภาพรวมของพื้นที่ลดระดับลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากนั้นนับเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ที่ระดับความรุนแรงรายเดือนยังไม่เคยสูงเท่าเดือนกันยายน 2553 นี้
เหตุการณ์ความไม่สงบในเดือนมิถุนายนและเดือนกันยายนปี 2553 นี้ยิ่งสูงเด่นมากเมื่อเทียบสถิติรวมการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในทุกรอบ 15 วันนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2550 ในรอบ 15 วันนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นถึง 105 ครั้ง นับตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นมา จนถึงปี 2553 ไม่เคยมีช่วงเหตุการณ์ในรอบ 15 วันช่วงใดที่สถิติเกินกว่า 80 ครั้งเลย แต่ปรากฏว่าในรอบ 15 วัน ระหว่างวันที่ 1-15 มิถุนายนปี 2553 นี้ มีเหตุการณ์ความไม่สงบสูงถึง 89 ครั้ง และในระหว่างวันที่ 1-15 กันยายนปีนี้เช่นกันที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบสูงถึง 83 ครั้ง ก็นับเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบสามปีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เมื่อดูสถิติการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในรอบ 15 วัน ช่วงเวลาสองเดือนระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2553 นับเป็นช่วงเวลาที่มีการสูญเสียมาก มีการตายจากเหตุการณ์ความไม่สงบโดยเฉลี่ยวันละ 2.1 คน


สัญลักษณ์ทางการเมืองของความรุนแรง: ชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์ ศาสนาและความยุติธรรม
ดังนั้น จึงอาจจะสรุปได้ว่าในช่วง 10 เดือนของปี 2553 นี้ เหตุการณ์ความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นมาอีกระลอกหนึ่งอย่างชัดเจนในเดือนมิถุนายนและเดือนกันยายน พอมาถึงเดือนตุลาคมความรุนแรงของสถานการณ์ก็อยู่ในระดับที่สูงใกล้เคียงกัน ความรุนแรงมีตรรกะเหตุผลรองรับเพราะเรื่องทุกอย่างมีแนวโน้มแสดงให้เห็นเหตุผลทางสัญลักษณ์และสามารถตีความได้ การโจมตีก่อเหตุในเชิงสัญลักษณ์ในเดือนมิถุนายนและกันยายน อาจจะเป็นการสะท้อนให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่ขบวนการก่อความไม่สงบเรียกว่า “วันชาติมลายูปตานี” ซึ่งประกาศตั้งในวันที่ 15 มิถุนายน 2540 ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายนมีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงถึง 89 ครั้ง เมื่อรวมทั้งเดือนสูงถึง 117 ครั้ง และสูงขึ้นอีกรอบในเดือนกันยายน ซึ่งเหตุความไม่สงบเพิ่มขึ้นถึง 123 ครั้ง มีข้อสังเกตอีกด้วยว่าระหว่างครึ่งแรกของเดือนกันยายนปีนี้ เป็นช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนซึ่งเริ่มต้นในวันที่ 1 กันยายน 2553 จนกระทั่งถึงก่อนการเฉลิมฉลองวันฮารีรายอหลังการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน (อีดิลฟิตรี) ในวันที่ 10 กันยายน 2553 เหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงครึ่งเดือนแรกก็สูงขึ้นไปอีกเป็นจำนวนประมาณ 83 ครั้ง เมื่อรวมทั้งเดือนกันยายนของปี 2553 เหตุการณ์ความไม่สงบสูงถึง 123 ครั้ง ควรต้องพิจารณาด้วยว่าในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงเวลาที่ชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญกับวัตรปฏิบัติทางศาสนาที่เข้มข้นมากกว่าห้วงเวลาปกติ อันเนื่องมาจากความศรัทธาที่ว่าผลบุญอันจะได้รับการตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้านั้นจะมีอยู่สูงกว่าห้วงเวลาอื่น เป็นไปได้หรือไม่ว่าการก่อเหตุรุนแรงในนามของการต่อสู้ในช่วงเวลานี้จึงมีความหมายตามการตีความในบางลักษณะที่มีเหตุผลในมิติทางศาสนารองรับอย่างหนักแน่นกว่าห้วงเวลาอื่นๆ
กล่าวสำหรับเดือนตุลาคม เป็นเดือนที่มีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์ในแง่ที่ว่าเป็นช่วงของการครบรอบ 6 ปีของกรณีการสังหารหมู่และการกระทำที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่ตากใบในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 84 ศพ แต่ผลที่ตามมาจากกระบวนการยุติธรรมก็คือพนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ด้วยข้ออ้างว่าไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีมีความเห็นพ้องกับอัยการในการสั่งไม่ฟ้อง จึงไม่ได้มีการดำเนินคดีในกรณีนี้แต่อย่างใด แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับประชาชนเป็นบาดแผลทางความรู้สึกที่ลึกและสะเทือนใจมาก โดยที่กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถตอบสนองแก้ปัญหาได้ จนอาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม นัยความหมายทางการเมืองของกรณีตากใบแสดงให้เห็นจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเดือนตุลาคม 2553 ทั้งเดือนที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเทียบสถิติระดับความรุนแรงของการก่อเหตุร้ายรายวันที่เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงระดับสูงสุดในวันที่ 25 ตุลาคม เหตุการณ์เกิดขึ้นวันเดียวสูงถึง 18 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในวันเดียวกันนี้ถึง 16 ราย


การยิงและระเบิดสูงสุดในเดือนตุลาคม: การประสานกันก่อเหตุโจมตี!
เหตุการณ์ความไม่สงบในเดือนตุลาคมนี้ยังมีลักษณะพิเศษเพราะข้อมูลชี้ให้เห็นแนวโน้มการก่อเหตุในลักษณะประสานกำลังปฏิบัติการพร้อมกันหลายๆจุดในวันเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยมากในระยะหลังโดยเฉพาะหลังจากปี 2550 เป็นต้นมา เมื่อแยกพิจารณาเป็นประเภทของการก่อเหตุ เดือนตุลาคม 2553 ทั้งเดือนมีการก่อเหตุด้วยการยิงสูงถึงประมาณ 59 ครั้ง นับเป็นสถิติสูงสุดในปีนี้ที่เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับเดือนสิงหาคมและกันยายนในปี 2552 ซึ่งมีสถิติสูงถึงประมาณ 65 ครั้ง ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือว่า การก่อเหตุความไม่สงบด้วยการใช้ระเบิดในรอบเดือนตุลาคม 2553 นั้น สถิติมีระดับสูงที่สุดในรอบสามปีนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 เป็นต้นมา เหตุการณ์ที่เด่นที่สุดในเดือนตุลาคมนี้ก็คือการโจมตีก่อเหตุด้วยการใช้ระเบิดพร้อมกันหลายจุดในวันที่ 25 ตุลาคม โดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาสเกิดระเบิดในวันนี้ถึง 14 จุด กล่าวคือที่อำเภอรือเสาะ อำเภอระแงะ อำเภอสุคิริน อำเภอศรีสาคร อำเภอยี่งอ อำเภอบาเจาะ อำเภอเมือง อำเภอจะแนะ และอำเภอสุไหงปาดี นอกจากนี้ยังมีการวางระเบิดที่เก็บกู้ได้ทันอีกถึง 7 จุดด้วยในอีก 3 อำเภอ ส่วนที่จังหวัดยะลามีการก่อเหตุด้วยระเบิดในวันที่ 25 ตุลาคม ที่อำเภอรามัน 1 ครั้ง โดยเป็นการระเบิด 1 ลูก และมีการเก็บกู้ได้ก่อนอีก 2 ลูก ขณะที่ในวันเดียวกันมีระเบิดที่จังหวัดปัตตานีอีก 2 ครั้งที่อำเภอกะพ้อ กล่าวโดยภาพรวมในวันที่ 25 ตุลาคมอันเป็นการครบรอบหกปีของความสูญเสียกรณีตากใบนั้น วันเดียวกันนี้มีการก่อเหตุด้วยการระเบิดสูงมากถึง 17 จุดพร้อมๆกันในทั้งสามจังหวัด นอกจากนี้ยังมีระเบิดที่เก็บกู้ได้อีก 9 ลูก การก่อเหตุทั้งหมดทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บอีก 16 ราย


พื้นที่ความรุนแรงและพื้นที่ทางวัฒนธรรม
สถิติการก่อความไม่สงบรายอำเภอในรอบ 10 เดือนของปี 2553 เรียงเป็นรายอำเภอสูงสุด 10 อำเภอ คือ อำเภอเมืองยะลา รือเสาะ ระแงะ ยะรัง รามัน บันนังสตา สายบุรี เมืองปัตตานี หนองจิก และสุไหงปาดี แต่ถ้านับเฉพาะเดือนตุลาคม จะมีอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสและอำเภอรามัน จังหวัดยะลาเป็นอันดับสูงสุด รองลงมาเป็นอำเภอยะรังและอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นที่น่าสังเกตว่าเขตพื้นที่ความรุนแรงที่ “นูนสูงขึ้น” อยู่ตลอดเวลาในรอบหกปีที่ผ่านมา รวมทั้งในรอบสองสามปีที่ผ่านมาซึ่งทางการได้จำกัดพื้นที่การเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างหนัก แต่พื้นที่ในก่อเหตุความรุนแรงอย่างมีความถี่สูงก็มักจะเป็นพื้นที่เหล่านี้ตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายครั้งที่การก่อเหตุความรุนแรงพุ่งสูงขึ้น พื้นที่เหล่านี้ก็จะนูนเด่นขึ้นมาทันที ตัวอย่างเช่น บริเวณของอำเภอรือเสาะ นราธิวาส อำเภอรามัน ยะลา อำเภอระแงะ นราธิวาส อำเภอเมืองยะลา อำเภอยะรัง ปัตตานี รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงต่อกันเช่น อำเภอบันนังสตา และอำเภอบาเจาะ เป็นต้น ลักษณะพิเศษของโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมในพื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสะท้อนความเข้มข้นของประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นมลายูและสถาบันการศึกษาทางศาสนา เป็นพื้นที่ที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมและกายภาพที่มี “ความหนา” ของอัตลักษณ์มลายู และยังคงรักษาฐานะที่เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นตัวตนความหมายในโลกของวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างเข้มข้น การจะจัดการความขัดแย้งและแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าวจึงต้องอาศัยความเข้าใจบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเป็นอย่างดีเพื่อมิให้ความขัดแย้งขยายตัวรุนแรงยิ่งขึ้น


ภาพโดย มูฮำมัดอายุบ ปาทาน
เสียงเรียกร้องเพื่อความยุติธรรม
นอกจากประเด็นในเรื่องชาติพันธุ์ ประวัติศาสตร์และศาสนาเป็นแกนกลางของตรรกะที่ใช้เป็นข้ออ้างในการก่อความรุนแรงแล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่มีความหมายสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือเรื่องของความยุติธรรมซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสังคมจิตวิทยาของสถานการณ์ความรุนแรง สภาพการณ์โดยทั่วไปในด้านความยุติธรรมดูเหมือนจะยังมีปัญหาอยู่ จากข้อมูลความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ ผลจากการสำรวจทัศนคติประชาชนต่อสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร่วมกับสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ซึ่งเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนประมาณ 2,500 คนในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ต่อคำถามที่ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้? เราพบว่าทัศนะส่วนใหญ่ของประชาชนยังมองว่าสาเหตุสำคัญที่สุดในการทำให้เกิดปัญหาความไม่สงบมีสองด้านก็คือปัญหาในเรื่องที่เกี่ยวกับความยุติธรรมและปัญหาที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
ดังจะเห็นได้จากกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.21 เห็นว่าสาเหตุเกิดจากกลุ่มก่อความไม่สงบหรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่ผู้ตอบอีกกลุ่มหนึ่งประมาณร้อยละ 14.08 กลับบอกว่าเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความรุนแรงต่อประชาชน ผู้ตอบอีกส่วนหนึ่งประมาณร้อยละ 13.80 บอกว่าเกิดจากปัญหาความยากจนและปัญหาทางเศรษฐกิจ ผู้ตอบอีกร้อยละ 13.39 บอกว่าเกิดจากความอยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ตอบร้อยละ 10.54 เห็นว่าเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ อีกร้อยละ 7.53 เห็นว่าเกิดจากความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับคนมลายูมุสลิม นอกจากนั้นแล้วก็เป็นปัจจัยด้านอื่นๆ ปลีกย่อย จุดสำคัญในที่นี้ก็คือ ข้อมูลได้สะท้อน “ความรู้สึก” ลึกๆ ของประชาชนส่วนมากในปัญหาความยุติธรรมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาความยุติธรรมดังกล่าวถ้านำมารวมกันในทุกด้านก็จะยิ่งทำให้ความคิดในเรื่องความเป็นธรรมโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในปัญหาความยุติธรรมที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนา ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อมุสลิม ปัญหาความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชนและปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้ารวมทุกหัวข้อเข้าด้วยกันก็จะทำให้ประเด็นในเรื่องความยุติธรรมมีน้ำหนักสูงมากที่สุดถึงร้อยละ 45.54 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่าปัญหาความยุติธรรมในทุกๆด้านนั้นมีนัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก
อารมณ์ความรู้สึกดังกล่าวอาจจะสะท้อนให้เห็นอีกด้านจากคำถามที่ว่าท่านมีความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยอย่างไร? กลุ่มผู้ตอบรวมกันร้อยละ 61.4 บอกว่าไม่เชื่อมั่นหรือ เชื่อมั่นน้อยหรือเชื่อมั่นน้อยที่สุดต่อกระบวนการยุติธรรมซึ่งนับว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ความรู้สึกเช่นนี้ยืนยันให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อประชาชนถูกถามว่าหากท่านร้องทุกข์แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่แล้วคิดว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่? ผู้ตอบรวมกันร้อยละ 64.4 บอกว่าบอกว่าไม่เชื่อมั่นหรือ เชื่อมั่นน้อยหรือเชื่อมั่นน้อยที่สุดว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่




งานการเมืองหรือการฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจ?
ในท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดช่วง 6 ปีกับอีก 10 เดือนและความพยายามในการแก้ปัญหาจากทุกฝ่าย ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ยังคงมีอยู่และสัญลักษณ์ทางการเมืองที่เป็นตรรกะเหตุผลของความรุนแรงยังคงมีน้ำหนักสำคัญอยู่ที่ประเด็นทางการรเมืองเรื่องอัตลักษณ์และข้อเรียกร้องเรื่องความยุติธรรม แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่ามีสถานการณ์อื่นมาสอดแทรกด้วย เช่นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองท้องถิ่น ความขัดแย้งส่วนตัว อาชญากรรม และปัญหายาเสพติด แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ก็ยังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงอิทธิพลของการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขและคำอธิบายเรื่องการต่อสู้เชิงอัตลักษณ์และความยุติธรรม แม้จะมีความพยายามของรัฐในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความด้อยพัฒนา โดยการทุ่มเทงบประมาณและดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเขตพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท แต่ผลตอบรับจากประชาชนก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากคำถามที่ว่าท่านคิดว่ายุทธศาสตร์และโครงการพัฒนาฟื้นฟูจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบประสบความสำเร็จหรือไม่? ผู้ตอบส่วนใหญ่มากถึงประมาณร้อยละ 75 บอกว่าได้ผลน้อยและน้อยที่สุด แสดงให้เห็นว่างานการเมืองของรัฐในการแก้ปัญหาโดยผ่านการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเดียวยังไม่สามารถจะซื้อใจประชาชนส่วนใหญ่ได้ ผู้ตอบส่วนใหญ่ยังมองว่าสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้การฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ไม่บรรลุผลก็เป็นเพราะสาเหตุสำคัญคือ การคอรัปชั่น ร้อยละ 29.5 ความไม่โปร่งใส ร้อยละ 25.5 และปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ร้อยละ 21.1


โอกาสแห่งความหวัง: เพลงแห่งสงครามหรือสันติภาพ
ในขณะที่ความรุนแรงและเสียงเรียกร้องเรื่องความยุติธรรมยังไม่หยุด แต่โอกาสของการสร้างพื้นที่สันติภาพก็ยังมีอยู่มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจากถึง 6 ปี 10 เดือน ความพยายามของกองทัพในการประกาศแนวทางใหม่ในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่จะยึดแนวทางการเมืองนำการทหารตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 206/2549 อย่างจริงจังโดยเน้นการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายวัฒนธรรมและการประนีประนอมสมานฉันท์ รวมทั้งนโยบายใหม่ 6 ข้อ เป็นการส่งสัญญาณใหม่ให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาสังคมสามารถที่จะ “เปิดพื้นที่” ในการสร้างสันติภาพและประสานความร่วมมือระหว่างกันเอง รวมทั้งเปิดช่องทางในการประสานกับภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างยึดเยื้อ สถานการณ์ปัจจุบันยังเปิดโอกาสให้ฝ่ายประชาสังคมได้เสริมสร้างความเข้มแข็งและช่วยกันเสนอ “ทางเลือกใหม่” บนหนทางการประนีประนอมบนเส้นทางการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความยุติธรรมของชายแดนใต้
ข้อสรุปอีกด้านหนึ่งก็คือ แม้ว่าที่ผ่านมารัฐจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการสร้างงานการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม แต่ข้อมูลจากการสำรวจชุดเดียวกันของสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ก็สะท้อนว่า เสียงเรียกร้องของประชาชนในการแก้ปัญหาพื้นฐานของชุมชนที่สำคัญที่สุดก็คือปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 76) ปัญหาการว่างงาน (ร้อยละ 63.7) ปัญหาความยากจน (ร้อยละ 44.7) และปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบ (ร้อยละ 28.4) ข้อมูลนี้ยังแสดงให้เห็นความต้องการของประชาชนต่อการที่จะให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่พวกเขากำลังเผชิญหน้าอยู่อย่างจริงจังมากขึ้นโดยรัฐจะต้องดำเนินการอย่างไม่มีอคติ มีความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ที่ได้เกิดภัยพิบัติจากพายุอุทกภัยซึ่งเป็นภัยธรรมชาติมาซ้ำเติมปัญหาของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นโอกาสที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่รัฐจะเดินงานการเมืองในการเข้าถึงและแก้ปัญหาความทุกข์ของประชาชนอย่างเร่งด่วนเพื่อเอาชนะจิตใจประชาชนและแปรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการทำงานมวลชนให้ได้

