จับตาการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียใต้กับการเมืองโลก (ตอนที่ 2)
: อัฟกานิสถานที่สหรัฐไม่ยอมเสียให้จีน
ดร.มาโนชญ์ อารีย์
โครงการศึกษาอิสลามการเมืองและโลกมุสลิม ภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คงต้องหันกลับมาจับตามองความเป็นไปของสถานการณ์เอเชียใต้อีกครั้ง เมื่อผู้นำสหรัฐฯ ประกาศจะทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายในอัฟกานิสถานจนกว่าจะชนะ ซึ่งผมก็นึกไม่ออกว่าจะชนะเมื่อไรและอย่างไร ทั้งที่ผ่านมานับตั้งแต่ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐฯ ใช้งบไปเพื่อการนี้กว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ แต่ผลคือนอกจากจะไม่ทำให้การก่อการร้ายลดลงแล้ว ยังเพิ่มขึ้นอีกกว่าร้อยละ 6500
ในอัฟกานิสถานหรือเอเชียใต้ก็เช่นกันแม้จะปลิดชีพผู้นำอัลกออิดะห์ได้ก็ไม่ได้ทำให้การก่อการร้ายในภูมิภาคนี้ลดลงเลย ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มไอเอสยังแผ่อิทธิพลเข้ามาในเอเชียใต้แล้วทั้งปากีสถานและอัฟกานิสถาน
แต่การประกาศสู้ศึกในอัฟกานิสถานคราวนี้ของทรัมป์ มีประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือการกล่าวหาปากีสถานว่า “เป็นแหล่งซ่องสุมกลุ่มก่อการร้าย สหรัฐฯ จะไม่ทนต่อประเทศที่ให้ที่พักพิงกับกลุ่มหัวรุนแรง ...ปากีสถานจะต้องพบกับความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงหากไม่เลือกยืนข้างสหรัฐฯ” ทั้งนี้เพราะในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ผ่านมาสหรัฐฯ จะอาศัยการพึ่งพิงจากปากีสถานเป็นหลัก โดยเฉพาะในการต่อสู้และปราบปรามกลุ่มตาลิบันในอัฟกานิสถาน ความน่าสนใจคือจากนี้ต่อไปสหรัฐอเมริกาจะต่อสู้กับกลุ่มตาลิบันและกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ในเอเชียใต้อย่างไร เมื่อไม่มีหรือไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ให้ความสนใจกับพันธมิตรอย่างปากีสถาน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นพลวัตเพราะสมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มตาลิบันคือชนเผ่าปัชตุนหรือปาทาน ที่อยู่ในปากีสถาน
มีความพยายามจากนักวิเคราะห์หลายคนที่จะถอดรหัสเบื้องหลังนโยบายล่าสุดของทรัมป์ต่ออัฟกานิสถานและเอเชียใต้ อะไรคือปัจจัยและเป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ ? คำตอบอาจมีมากกว่าหนึ่งเพราะสหรัฐฯ มักดำเนินยุทธศาสตร์ที่หวังผลหลายทาง พูดง่ายคือยิงปืนนัดเดียวหวังเอานกหลายตัว ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาต้องบวกลบคูณหารแล้วคุ้มค่า
แน่นอนว่าผลประโยชน์ด้านทรัพยากรพลังงานหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจอันเกิดจากการทำไร่ฝิ่นในอัฟกานิสถานถูกนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับนโยบายของทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กระนั้นก็ตามหากสหรัฐฯต้องการเพียงแค่การแสวงหาผลประโยชน์ดังกล่าว การพูดคุยเจรจากับรัฐบาลอัฟกานิสถานก็น่าจะเป็นทางเลือกที่เพียงพออยู่แล้วอีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องแสดงทีท่า ในเชิงลบกับปากีสถานให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจกันเปล่าๆ
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่ามีปัจจัย อื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เป้าหมายของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานไม่ได้มีเฉพาะผลประโยชน์ด้านทรัพยากรแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันมีการแข่งขันของมหาอำนาจระดับภูมิภาคและระดับโลกเป็นเดิมพัน มีการชิงไหวชิงพริบระหว่างชาติที่มีส่วนได้ส่วนเสียกันไม่ว่าจะเป็นอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดียและปากีสถาน
อัฟกานิสถานมีที่ตั้งที่ถือได้ว่าเป็นจุดยุทศาสตร์สำคัญและเป็นประตูเชื่อมหลายภูมิภาคด้วยกันไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซีย เอเชียใต้ และเอเชียกลาง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็เป็นพื้นที่ที่มหาอำนาจต่อสู้แย่งชิงกันมาโดยตลอด ทำให้ดินแดนแห่งนี้ไม่ได้ว่างเว้นจากภาวะสงครามและการรุกรานจากภายนอกอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันแม้จะอยู่ภายใต้อิทธิพลของกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตร แต่กองกำลังเหล่านั้นรวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นก็ยังคงไม่สามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้ กลุ่มตาลิบัน กลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ยังเคลื่อนไหวและมีอิทธิพลในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่ติดกับปากีสถาน มีการต่อสู้และการโจมตีกันไปมาอย่างอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งหมายความว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯที่ดำเนินมากกว่า 16 ปี (แม้จะล้มรัฐบาลตาลิบันได้ แต่) ไม่สามารถสร้างเสถียรภาพให้กับอัฟกานิสถานได้ มิหนำซ้ำความรุนแรงที่ดำเนินอยู่โดยสร้างความหวาดกลัวให้กับคนอัฟกานิสถานมากกว่าการก่อการร้ายก็คือปฏิบัติการทางทหารของกองกำลังสหรัฐฯและนาโต้ โดยเฉพาะการปฏิบัติการทางอากาศที่ทำให้คนอัฟกานิสถานเสียชีวิตมากมายแม้แต่โรงพยาบาลก็เคยตกเป็นเป้าหมาย ยิ่งไปกว่านั่นสหรัฐฯ ยังถล่มอัฟกานิสถานด้วยระเบิดที่มีอนุภาพรุนแรงมาก ๆ หรือที่เรียกว่า Mother of All Bombs มาแล้ว
ในสภาพเช่นนี้แทบจะไม่เหลือความหวังสำหรับสันติภาพ ความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรื่องในอนาคตเลย หากไม่มองหาตัวช่วยอื่น ซึ่งจังหวะเวลานี้คงจะไม่มีทางเลือกมากไปกว่าการยื่นมือไปจับกับจีนและรัสเซียที่กำลังจับมือกันดึงพันธมิตรของสหรัฐฯ มากอยู่ในขั้วของตัวเอง (เหมือนกรณีฟิลิปปินส์และตุรกี) จีนได้ใช้เส้นทางสายไหมของจีนเป็นแม่เหล็กขายฝันที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยล่าสุดเมื่อประมาณเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมาจีนได้ประกาศแผนขยายเส้นทางสายไหมที่ครอบคลุมอัฟกานิสถานด้วย ที่สำคัญคือการขยายโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน หรือที่ China Pakistan Economic Corridor (CPEC) ไปถึงเพื่อนบ้านอย่างอัฟกานิสถานด้วย ทั้งนี้มีการวิเคราะห์กันต่าง ๆ นานาว่าอะไรคือเป้าหมายของจีนกันแน่ บ้างก็ว่าจีนต้องการขยายอิทธิพลในเอเชียมากขึ้น บ้างก็ว่าจีนต้องการเข้ามาสร้างฐานอุตสาหกรรมในอนาคต บ้างก็ว่าต้องการเข้ามาช่วยสร้างเสถียรภาพด้านความมั่นคงผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด แน่นอนว่าสหรัฐฯ ย่อมไม่พอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนจับมือกันรักษาผลประโยชน์ที่ไหนก็เป็นงานยากที่มหาอำนาจนอกภูมิภาคจะเข้าไปเจาะไข่แดงกินได้ง่าย ตัวอย่างเช่นการจับมือกันในองค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้เอเชียกลาง (Shanghai Economic Organization: SCO)
การหันกลับมาประกาศต่อสู้จนกว่าจะชนะในอัฟกานิสถานของประธานาธิบดีทรัมป์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสหรัฐฯมีเจตนาที่จะคงกองทัพและอิทธิพลในอัฟกานิสถานไปอีกนาน ซึ่งอาจเป็นการสงสัญญาณถึงจีนว่าอย่าได้คาดหวังไปเลยว่าเส้นทางสายไหมที่จะเชื่อมปากีสถานและอัฟกานิสถานจะสำเร็จได้ง่าย ๆ ตราบใดที่สหรัฐฯ ยังอยู่ในดินแดนแห่งนี้ แต่ที่น่าสนใจคือทรัมป์ต้องการให้อินเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างเขื่อนที่เรียกว่าเขื่อนมิตรภาพอัฟกัน-อินเดีย การสร้างทางหลวง การสร้างอาคารรัฐสภา ตลอดจนด้านความมั่นคง การพัฒนาทักษะให้กับข้าราชการและหน่วยงานทหารของอัฟกานิสถาน ซึ่งอิเดียก็ตอบรับเป็นอย่างดี
การดึงอินเดียเข้ามามีบทบาทในอัฟกานิสถานก็เท่ากับสหรัฐฯมีตัวช่วยที่ดีเลิศในการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนที่พยายามจะแผ่เข้ามาในอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสกัดเส้นทางสายไหมของจีน ในขณะที่อินเดียก็ได้ขยายอิทธิพลของตัวเองประชิดเอเชียกลางและปิดล้อมปากีสถานจากทางเหนือด้วย ต่อไปเราอาจเห็นแนวรบใหม่ระหว่างอินเดียกับปากีสถานที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณพรมแดนของทั้งสองประเทศหรือระหว่างพรมแดนแคชมีร์แต่เป็นแนวรบบริเวณชายแดนระหว่างอัฟกานิสถานกับปากีสถาน เพราะกลุ่มต่อลิบันจะใช้พรมแดนนี้ข้ามไปมาเป็นเส้นทางหลักในการปฏิบัติการ ทั้งนี้ สหรัฐฯ อาจกำลังให้บทเรียนกับปากีสถานที่ดำเนินนโยบายเหินห่างจากสหรัฐฯ ไปหารัสเซียมากขึ้น
อาจกล่าวได้ว่าการขยายอิทธิพลของจีนคือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายต่ออัฟกานิสถานและเอเชียใต้ใหม่ก่อนที่จะสายเกินไปเพราะสหรัฐฯ คงไม่ต้องการเสียดินแดนแห่งนี้ให้กับจีนแน่ ๆ
ปล. ตอนหน้ามาดู “อัฟกานิสถานที่สหรัฐไม่ยอมเสียให้รัสเซีย” ครับ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง