Skip to main content

 

การให้กุรบ่านแก่ต่างศาสนิก : สัญญะแห่งมิตรภาพ บริบททางวิชาการ ทางดะวะฮ์ และทางรัฐศาสตร์

--------------------------------------------------------------------------

 

ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด

 

       แม้ว่าในทางทฤษฎี ปราชญ์อิสลามหลายท่าน มีความเห็นว่า ห้ามให้กุรบ่านแก่ต่างศาสนิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนะทางวิชาการอิสลามของมัซฮับชาฟิอีย์ที่นิยมกันในเขตอาเซี่ยน ที่ห้ามอย่างเด็ดขาด

       อย่างไรก็ดี ในทางนำทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ ในระดับรัฐอิสลาม ในมุมมองของนักปกครอง ที่ต้องดูแลศาสนา การเมือง และความสงบเรียบร้อย และความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความสามัคคีกลมเกลียวของอาณาประชาราษฎร์

      ตั้งแต่ยุคอาณาจักรอับบาซียะฮ์ ตลอดมาจนยุคอาณาจักรออตโตมาน หรือแม้แต่ราชวงศ์มองโกลในอินเดีย ต่างใช้มัซฮับอบูหะนีฟะฮ์ในการปกครอง ที่อนุญาตให้กุรบ่านแก่ต่างศาสนิกได้ โดยไม่ถือว่าต้องห้ามแต่อย่างใด

       ในยุคการปกครองของคอลีฟะฮ์อุมัร บินอับดุลอะซีซ แห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์ได้ให้ซะกาตแก่นักบวชคริสต์ด้วยซ้ำไป เนื่องจากในประเด็นนี้ ไม่ว่าเหตุผล หลักฐานที่มาของฝ่ายที่ห้ามและอนุญาต ล้วนมาจากการวิเคราะห์วินิจฉัยของอุลามาอ์ จากตัวบททางศาสนาอิสลาม โดยไม่ได้มีตัวบทจากอัลกุรอาน หะดีษ หรืออิจมาอ์ ระบุโดยตรงชัดๆแต่อย่างใด

       ในระดับรัฐ ปัจจุบันหลายๆรัฐใช้ทัศนะที่เห็นว่าอนุญาตให้แจกกุรบ่านแก่ต่างศาสนิกได้ เช่น สถาบันฟัตวาของประเทศอียิปต์ คณะกรรมการฟัตวาของประเทศซาอุดิอาระเบีย และอื่นๆ

       สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกับนักวิชาการอิสลามในองค์กรเอกชน เช่น สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ ที่ชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์ ประธานสหพันธ์ฯ ได้ออกฟัตวาอนุญาตให้กุรบานแก่ต่างศาสนิกได้ รวมถึงการให้ซะกาตแก่นักวิชาการ นักเขียนต่างศาสนิกเพื่อช่วยปกป้องศาสนาอิสลามในแวดวงต่างๆ

       เนื่องจาก ในยุคปัจจุบัน นักวิชาการอิสลามได้วิเคราะห์หลักฐานทางวิชาการ ข้อดีข้อเสียของทัศนะเกี่ยวกับการให้กุรบ่านแก่ต่างศาสนิก ได้เล็งเห็นว่า การให้กุรบ่านแก่ต่างศาสนิกมีผลดีต่อการดะวะฮ์อิสลามในพื้นที่ของต่างศาสนิกได้มากกว่า

       การสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกับต่างศาสนิกมากกว่า อันจะช่วยสร้างพันธมิตรของมุสลิมในการต่อสู้กับวิกฤติปัจจุบันลบล้างอคติในยุคอิสลาโมโฟเบียได้มากกว่า

       ทัศนะในทางตรงกันข้าม มีผลเสียต่อภาพพจน์ของอิสลามมากกว่าผลดี ลดโอกาสการดะวะฮ์ในพื้นที่ต่างๆ สุ่มเสี่ยงต่อความเข้าใจผิด เสียความรู้สึกต่อกัน ช่วยกระพือกระแสอิสลาโมโฟเบียให้ลุกลามได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น และจะโดดเดี่ยวมุสลิมในการเผชิญหน้ากับวิกฤติต่างๆ อย่างเช่นในยะไข่ หรือแม้แต่กรณีปาเลสไตน์และมัสยิด