Skip to main content

 

ความเป็นพี่น้องกันในอิสลาม

--------------------------

 

ชัยคฺ ดร.ยูสุฟ อัล เกาะเราะฎอวียฺ

 

 

       อันที่จริงอิสลามได้เสนอนิยามความเป็นพี่น้องที่ไม่มีใครเหมือน ในอิสลามแต่ละคนประกอบกันเป็นภราดรภาพหนึ่งเดียว ไม่มีใครอยู่นอกกรอบของภราดรภาพนี้ อิสลามกำหนดอย่างชัดเจนว่าความมั่งคั่ง ตำแหน่ง ชาติตระกูล หรือสถานะทางสังคมมิได้เป็นเหตุผลที่จะสร้างความรู้สึกหยิ่งยโสหรือความเหนือกว่าผู้อื่น ในอิสลามผู้ปกครองและผู้ที่อยู่ใต้ปกครองถูกเชื่อมภายใต้ภราดรภาพเดียวกัน มีหะดีษต้นหนึ่ง กล่าวว่า “ผู้ปกครองที่ดีที่สุดของพวกท่านคือผู้ที่พวกท่านรักพวกเขาแล้วพวกเขาก็รักพวกท่าน คือผู้ที่พวกท่านให้เกียรติพวกเขาแล้วพวกเขาก็ให้เกียรติพวกท่าน ผู้ปกครองที่เลวที่สุดของพวกท่านคือผู้ที่พวกท่านรังเกียจพวกเขาแล้วพวกเขาก็รังเกียจพวกท่าน คือผู้ที่พวกท่านต่อว่าพวกเขาแล้วพวกเขาก็ต่อว่าพวกท่าน” (รายงานโดย มุสลิม)

       คนรับใช้คนหนึ่งเขาก็คือพี่น้องของนายเขา ข้อผูกมัดของความเป็นเจ้านายและความเป็นบ่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงข้อนี้ ในหะดีษต้นหนึ่งรายงานว่า “ผู้รับใช้ของพวกท่านคือพี่น้องของพวกท่าน อัลลอฮฺทรงจัดให้พวกเขาอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกท่าน ถ้าพระองค์จะทรงทำให้พวกท่านอยู่ภายใต้การควบคุมของพวกเขาพระองค์ก็ทำได้ ฉะนั้นใครก็ตามที่มีพี่น้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเขา ก็ให้เขารับประทานอาหารที่เหมือนๆ กัน ให้เขาสวมเสื้อผ้าที่เหมือนกัน อย่าได้มอบภาระหน้าที่การงานที่หนักเกินความสามารถของพวกเขา ถ้าการงานเกิดความยุ่งยากด้วยเหตุผลบางประการ ก็จงยื่นมือช่วยเหลือพวกเขา (รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)

       ในอิสลาม คนยากจนและคนรวย นายจ้างและลูกจ้าง เจ้าของที่ดินและคนเช่าทั้งหมดล้วนเป็นพี่น้องกัน อิสลามมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับความขัดแย้งทางสังคมหรือการแบ่งแยกทางชนชั้น อิสลามมิมีสิ่งใดที่เรียกว่าระบบชนชั้น เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นท่ามกลางยุคกลางของยุโรปที่ระบบดังกล่าวถูกวางอยู่บนประเพณี ข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ในการปกครอง จนกระทั่งถึงยุคสมัยของเราที่ระบบนี้ยังคงมีแพร่หลายในหลายประเทศ

       อิสลามมิได้ปฏิเสธความมั่งคั่ง แต่อิสลามยืนยันที่จะต่อต้านระบบชนชั้นทางสังคมที่ให้อภิสิทธ์แก่คนรวย อิสลามได้เน้นย้ำถึงข้อเท็จจริงในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ความร่ำรวยนั้นขึ้นอยู่ความพลิกพลันของชีวิตและมันมีขึ้นมีลง อิสลามได้ให้ข่าวดีแก่บรรดาผู้ที่ยากจนว่าในความยากลำบากย่อมมีความผ่อนคลาย และหลังเมฆหมอกย่อมมีแสงเรืองรอง ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา กล่าวว่า “ฉะนั้นแท้จริงหลังจากความยากลำบากก็จะมีความง่าย” (อัลอันชิรอหฺ 5)

       ในอิสลาม ประตูถูกเปิดไว้สำหรับบุคคลใดก็ตามที่มีความสามารถที่จะเป็นผู้รู้อิสลาม อิสลามมิได้ทำให้ผู้รู้เป็นอย่างพระหรือนักบวช พวกเขาแตกต่างจากระบบพระหรือนักบวชอย่างสิ้นเชิง การเป็นผู้รู้หมายถึงการมีหน้าที่ที่จะต้องชี้นำผู้คนและสอนหลักการสอนศาสนาแก่พวกเขา ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวกับท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ว่า “ดังนั้นเจ้าจงตักเตือน เพราะแท้จริงเจ้าเป็นเพียงผู้ตักเตือนเท่านั้น เจ้ามิใช่มีอำนาจเหนือพวกเขา” อัลฆอซิยะฮฺ 21-22

       ฉะนั้นมันเป็นเรื่องปกติที่ผู้รู้อิสลามซึ่งดำเนินตามแนวทางของท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม พวกเขาจึงไม่ได้เป็นทั้งผู้คุมนักโทษและทรราช พวกเขาเป็นเพียงแค่ผู้ตักเตือนและผู้นำทางเท่านั้น