โรฮิงญา: จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ดร.ศราวุฒิ อารีย์
ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกอ้างถึงในรายงานต่าง ๆ มีความคลุมเครืออยู่มากว่าชาวมุสลิม-โรฮิงญาเป็นกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชนชาติใด เข้ามาตั้งรกรากในรัฐยะไข่ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ค่อนข้างเป็นที่ชัดเจนในงานวิชาการหลายชิ้นที่เห็นตรงกันว่าคนกลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อาณาจักรยะไข่ในระหว่างศตวรรษที่ 7-16
อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงหลักเกี่ยวกับรากเหง้าของชาวมุสลิม-โรฮิงญาในปัจจุบันมีอยู่อย่างน้อยสามแนวทาง คือ
แนวทางแรก เป็นข้อถกเถียงที่ถูกนำเสนอโดยรัฐบาลพม่าว่า ชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชนชาติที่มีรากเหง้าในประวัติศาสตร์โบราณของยะไข่ แต่เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากประเทศบังคลาเทศหรือประเทศอินเดียในยุคอาณานิคม ข้อถกเถียงนี้ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ.1974 ที่ได้อธิบายถึงชนกลุ่มน้อยที่เป็นคนท้องถิ่น (Indigenous Race) ว่ามี 135 กลุ่มที่ตั้งรกรากอยู่ในพม่าก่อน ค.ศ.1823 โดยในจำนวน 135 กลุ่มนี้ ไม่มีชาวโรฮิงญารวมอยู่ด้วย
แนวทางที่สอง ถูกนำเสนอโดยนักประวัติศาสตร์มุสลิมท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโต้ตอบกับชุดการอธิบายตามแนวทางแรกของของรัฐบาลพม่าว่า ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มคนดั้งเดิมของดินแดนยะไข่ที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาอิสลาม ทั้งจากประเทศอินเดีย ทั้งจากนักเดินเรือชาวมุสลิม-อาหรับในช่วงศตวรรษที่ 7 และทั้งจากความรุ่งเรืองของศาสนาอิสลามในยุคราชวงศ์มรัคอู (Mrauk -U) ระหว่างช่วงศตวรรษที่ 14 – 16
แนวทางที่สาม เป็นข้อเขียนเชิงประวัติศาสตร์ของนักวิชาการทั่วไป ที่ไม่มีเป้าหมายโต้ตอบกับข้อถกเถียงของรัฐบาลรวมถึงนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยข้อถกเถียงชุดหลังนี้ไม่ได้มีบทสรุปที่ชัดเจนว่า ชาวมุสลิม-โรฮิงญามีรากเหง้ามาจากไหนและตั้งรกรากในยะไข่เมื่อใด งานเขียนชุดนี้ได้อภิปรายถึงบันทึกทางประวัติศาสตร์ในภาพกว้างเอาไว้ว่า คนกลุ่มนี้มีรากเหง้าที่เกี่ยวข้องกับคนท้องถิ่นของยะไข่และได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามในระหว่างศตวรรษที่ 7 – 16
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่พม่าก้าวเข้าสู่กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยเมื่อ ค.ศ. 2003 ตามแผนสร้างสันติภาพสู่ประชาธิปไตย 7 ขั้นตอน หรือ “The Seven-Stage Roadmap to Democracy” ได้มีความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคมการเมืองเกิดขึ้นหลายด้าน โดยเฉพาะภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนและการผลักดันให้นโยบายปรองดองแห่งชาติ (national reconciliation) เป็นวาระหลักแห่งชาติ
ความตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงท่าทีของประชาคมนานาชาติที่มีต่อพม่าผ่อนคลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่าสถานการณ์ของชาวมุสลิม-โรฮิงญากลับตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง การแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยชาวมุสลิม-โรฮิงญาในต่างแดนยังไม่มีแนวทางชัดเจนจากรัฐบาลพม่า ตรงกันข้าม กลับมีผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ที่เกิดจากปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในยะไข่ที่ได้ปะทุขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 2012 เป็นต้นมา
ยิ่งไปกว่านั้น ศูนย์กลางความขัดแย้งระลอกใหม่ยังขยายตัวจากยะไข่ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในพม่าเพิ่มมากขึ้น โดยมีรัฐบาลพม่าเป็นส่วนหนึ่งของการขยายความขัดแย้งนี้ ดังจะเห็นได้จากการบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้เกิดการกดขี่ทางศาสนาและการเมืองต่อชาวมุสลิม-โรฮิงญา เช่น ไม่อนุญาตให้ชาวมุสลิม-โรฮิงญาเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ ตลอดรวมถึงการเห็นชอบหลักการเบื้องต้นของร่างกฎหมายจำกัดการแต่งงานข้ามศาสนาระหว่างสตรีชาวพุทธและชายชาวมุสลิมที่ถูกเสนอโดยกลุ่มชาวพุทธ ซึ่งนำโดยกลุ่มพระสงฆ์จำนวน 696 รูปที่มีบทบาทสำคัญในกิจกรรมณรงค์สร้างความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ประชาคมนานาชาติ กลุ่มประเทศในโลกมุสลิม รวมถึงประชาคมอาเซียน ควรให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาตามหลักมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน และกดดันรัฐบาลพม่าให้ยอมมอบสถานะความเป็นพลเมืองแก่ชาวมุสลิม-โรฮิงญา อันถือเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
โรฮิงญา: ขุดรากประวัติศาสตร์บาดแผล