Xinjian ที่ข้าพเจ้าไปเห็นมา ( ตอนที่ 2 )
การพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนโดยรัฐ และการรักษาอัตลักษณ์ด้านภาษาและวัฒนธรรมของชาวอุยกูร์และชนเผ่าต่างๆ
ทันทีที่เครื่องบินลงจอดที่สนามบินในเมืองอุรุมชี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลซินเจียง ผู้เขียนในฐานะนักสังเกตการณ์ ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ขัดแย้ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่พี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่
พยายามสังเกตดูว่า รัฐบาลจีนเขาจัดการความขัดแย้งอย่างไร? ถึงแม้เป็นการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวเสียมากกว่า
ข้อมูลแรกที่ได้รับจากไกด์ตุ๊กตา ก็คือ มณฑลซินเกียง เป็นเขตพื้นที่ปกครองพิเศษของรัฐบาลจีน มีประชากรเป็นชนเผ่าต่างๆ โดยมีชาวมุสลิมอุยกูร์ เป็นประชากรส่วนใหญ่ของมณฑลนี้
ข้อมูลที่สองที่ได้จากการสังเกต ทันทีที่คณะของเราลงจากเครื่องบิน ได้เห็นป้ายต่างๆในสนามบินและตามถนนหนทางต่างๆ 2 ภาษา คือ ภาษาอุยกูร์ และ ภาษาจีน บางป้ายมีภาษาอังกฤษด้วย ที่เป็นจุดเด่น ก็คือ ทุกป้ายนั้น ภาษาอุยกูร์อยู่บนสุด
แสดงว่า ภาษาอุยกูร์ยังเป็นภาษาที่ยังเข้มแข็ง ยืนเด่น ท้าทายการรุกเข้ามาของการพัฒนาโดยรัฐบาลจีน
ส่วนในเรื่องศาสนา รัฐบาลจีนพยายามจะควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจของมุสลิมชาวอุยกูร์
คณะทัวร์ของเราพยายามจะไปเยี่ยมและละหมาดที่มัสยิด
ไกด์ตุ๊กตาบอกพวกเราว่า ไปยากมากเพราะ มีกฏหมายควบคุมเกี่ยวกับมัสยิด และการปฏิบัติศาสนกิจในที่สาธารณะ รวมทั้งระเบียบเกี่ยวกับการแต่งการแต่งกายของผู้หญิงมุสลิมด้วย
เราก็ไม่รู้ว่า สาระจริงๆของกฎหมายเป็นอย่างไร? คงต้องกลับไปอ่านและศึกษา ถ้ามีโอกาส
ไกด์ได้พาคณะของเราไปเยี่ยมชุมชนและมัสยิดแห่งหนึ่งปรากฎว่า ถูกล็อกกุญแจ ปิดประตู ก็ไม่รู้ว่า ปิดเพราะเหตุใด?
ส่วนในเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้น เราต้องยอมรับว่า รัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า เครือข่ายโทรคมนาคม ประปา เป็นต้น
ไกด์ตุ๊กตา ได้ให้ข้อมูลว่า มณฑลซินเจียงมีแหล่งพลังงานมหาศาล คือ นำ้มันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งพลังงานไฟฟ้าจากลม
ตลอดเส้นทางเราจะเห็นแท่นขุดเจาะน้ำมัน และกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า
ควบคู่กับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลจีนได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น อุทยานคานาสือ ทะเลสาบเทียนสือ เป็นต้น
ต้องยอมรับว่า เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติที่สวยงามมาก น่าสนใจ ปัจจุบันยังเป็นธรรมชาติ นักท่องเที่ยวยังไม่มากนัก
ไกด์ตุ๊กตาบอกว่า ตลอดปี เราสามารถท่องเที่ยวคานาสือได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น คือ กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน เพราะเดือนอื่นๆนั้น ภูมิอากาศ ไม่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยว
แต่เราก็มีคำถามลึกๆในใจว่า พี่น้องมุสลิมอุยกูร์และพี่น้องชนเผ่าอื่นๆในมณฑลซินเจียงจะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากโครงการพัฒนาเหล่านี้ ?
คนในพื้นที่จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดจากโครงการพัฒนาเหล่านี้?
มุสลิมชาวอุยกูร์และชนเผ่าต่างๆจะสามารถยืนหยัดรักษาอัตลักษณ์ด้านภาษาและวัฒนธรรม เผชิญกับการท้าทายของระบบทุน ได้หรือไม่? อย่างไร?
หรือ คนที่ได้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาเหล่านี้ คือ ชนชั้นนายทุน ไม่ว่าจะเป็นนายทุนโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ หรือ นายทุนโดยรัฐ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
Xinjiang ที่ข้าพเจ้าได้ไปเห็นมา (ตอนที่ 1)