Skip to main content

 

คณะทำงานเทคนิคไทย-มาราปาตานี ร่วมพูดคุยหาพื้นที่ปลอดภัยแดนใต้

 

ราซลาน ราชิด และ ภิมุข รักขนาม
กัวลาลัมเปอร์ และ กรุงเทพฯ 
 
 
 
170912-TH-MY-talks-620.jpg
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุระเบิดรถยนต์นอกห้างบิ๊กซี จังหวัดปัตตานี วันที่ 10 พฤษภาคม 2560
 เอเอฟพี
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประเทศไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างตัวแทนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการพูดคุยทางเทคนิค ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันอังคาร โดยมุ่งความพยายามที่จะทำคัดเลือกพื้นที่ปลอดภัย แต่เจ้าหน้าที่จากทั้งสองฝ่ายไม่ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการพูดคุยครั้งนี้

ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นี้ คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานี ของฝ่ายผู้เห็นต่าง ได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองขึ้นหนึ่งแห่ง โดยในชั้นต้น ได้ให้ทั้งสองฝ่ายเสนอพื้นที่ที่น่าจะเป็นไปได้ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 5 พื้นที่ เพื่อคัดเลือกอีกครั้ง

หลังจากผ่านมาแล้วหกเดือน ยังไม่ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายจะหาทางเลือกหนึ่งในห้าเขต ที่มีการเสนอการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน นับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงระลอกล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2547 จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการก่อความไม่สงบแล้วกว่า 7,000 ราย

"ใช่ ทางเทคนิค การประชุมลับปกติ ไม่มีแถลงการณ์" นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกมาราปาตานี ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในวันอังคาร

ด้านพลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพุดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งไม่ได้ไปร่วมการพูดคุยด้วย แต่ได้ยืนยันว่า การประชุมจัดให้มีขึ้นที่เมืองหลวงของมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพอย่างไม่เป็นทางการ นับเป็นเวลาสองปีแล้ว ระหว่างรัฐบาลทหารไทยกับกลุ่มมาราปาตานี

"ประชุมเทคนิค ก็ไปถามฝ่ายเทคนิค ผมอยู่นี่ไม่ได้ไปมาเลเซียกับเขา วันนี้ ผมก็รู้เท่าคุณนั่นแหละ รอรายงาน..." พลเอกอักษรา กล่าวทางโทรศัพท์ โดยหมายถึงคณะทำงานทางเทคนิคของไทย นำโดยพลตรีสิทธิ์ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะฯ

โดย นายอาบู ฮาฟิซ กล่าวว่าการเจรจายังคงดำเนินอยู่

"มันยังไม่จบ ต้องคุยต่อ ตอนสิ้นเดือน"

อุปสรรค

ในการประชุมในมาเลเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นายอาบู ฮาฟิซ อัลฮากิม โฆษกมาราปาตานี ได้เปิดเผยข้อมูลว่า สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานร่วมกระบวนการพูดคุยสันติสุข (JWG-PDP) ได้ตรวจสอบและเห็นชอบในการจัดกรอบการดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง โดยได้เห็นชอบต่อพื้นที่ที่เสนอมาห้าพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่ในปัตตานี 1 แห่ง ในยะลา 2 แห่ง และในนราธิวาส 2 แห่ง ซึ่งจะคัดเลือกไว้เพียงหนึ่งแห่ง เพื่อเป็นโครงการนำร่อง

ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งคณะปฏิบัติงานร่วมในพื้นที่ประกอบด้วยตัวแทนจากปาร์ตี้เอ (รัฐบาล) ปาร์ตี้บี (มาราปาตานี) ตัวแทนจากองค์กรเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะร่วมกันจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย โดยจะใช้เวลาสำรวจสามเดือน และจะใช้เวลาอีกสามเดือนในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยให้เรียบร้อย และจะรายงานกลับไปยังคณะทำงานร่วม ซึ่งประกอบด้วยคณะพูดคุยสันติสุขไทยและกลุ่มมาราปาตานี ฝ่ายผู้เห็นต่าง

ผู้สังเกตการณ์การพูดคุยสันติสุขของไทย กล่าวว่าการพูดคุยทางเทคนิค ประจำเดือนได้เผชิญกับอุปสรรค

“ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือเรื่องอิมมูนนิตี้ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิในการเคลื่อนไหวในไทย แต่เรากลัวว่าจะมีปัญหาทางกฎหมาย และจะต้องมีเงื่อนไข เพราะมาราปาตานีบางคนมีหมายจับ ในส่วนเซฟตี้โซน ต้องมีทั้งสามฝ่ายเข้ามาร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่” ผู้สังเกตการณ์บอก BenarNews

“ที่ผ่านมามีการพูดคุยทางเทคนิคทุกเดือน เป็นการพบกันตัวต่อตัว แต่ว่าน้อยไป ทำให้ล่าช้า” ผู้สังเกตการณ์กล่าวเพิ่มเติม

ความรุนแรงไม่ลดลง

แม้การพูดคุยฯ ยังคงดำเนินอยู่ แต่ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หาได้ลดลงไม่

หากนับจากวันที่มีการตกลงจะก่อตั้งพื้นที่ปลอดภัย เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ราย และบาดเจ็บอย่างน้อย 138 ราย จากเหตุการณ์ยิงและระเบิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

เหตุการณ์ปะทะดังกล่าวเชื่อว่า เป็นการกระทำของกลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มีกองกำลังแข็งแกร่งที่สุดในชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านการพูดคุยสันติสุขในกระบวนการที่มีอยู่กับรัฐบาลทหาร

ในขณะที่มาราปาตานีประกอบด้วยกลุ่มปฏิบัติการ (BRN Action Group) ที่ประกอบด้วย นายอาวัง ยะบะ ประธานมาราปาตานี นายมะสุกรี ฮารี หัวหน้าคณะเจรจา และนายอาหมัด ชูโว กลับมีกลุ่มที่เรียกตนเองว่า ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็น โดยนายอับดุลการิม คาลิด ได้ออกแถลงการณ์ว่ากลุ่มผู้เห็นต่างที่ประเทศไทยคุยด้วยนั้น ไม่ได้เป็นผู้รับฉันทานุมัติโดยชอบธรรมจากขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปัตตานี และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเจรจาให้ถูกตัว พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีผู้สังเกตการณ์และพยานที่เป็นกลุ่มนานาชาติในกระบวนการเจรจา โดยมิได้เอ่ยถึง มาราปาตานี

ในเรื่องนี้ พลเอกอักษรา กล่าวยืนยันว่า คณะพูดคุยฯ ได้เจรจากับตัวจริงมาโดยตลอดแล้ว

“ที่พูดคุยอยู่ ก็คือ บีอาร์เอ็นหลัก เขาพูดคุยอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าจะมีใครที่ไหนอีก” พลเอกอักษรา กล่าว

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-MY-talks-09122017151241.html