Skip to main content

 

สามจังหวัดชายแดนใต้ จะเป็นเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ของไทย

 
โดย ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ
 

 

ว่ากันจริงๆ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ควรเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในประเทศ ไม่ว่าพิจารณาด้านโครงสร้างทางภูมิศาสตร์ ที่อยู่ติดกับประเทศมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านหนึ่งเดียวของไทยที่มีจีดีพีสูงกว่าไทย (ซึ่งหมายความว่าเขามีกำลังซื้อสูงด้วย) เราน่าจะเป็นทำเลสำคัญในการขายสินค้าที่มาเลเซียผลิตไม่ได้ เพราะค่าแรงแพงกว่าบ้านเรา หรือเขาไม่มีผลิตในประเทศ

พื้นที่นี้มีทะเลยาวเกือบสองร้อยกิโลเมตร อ่าวปัตตานีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมแก่การขึ้นลงของสินค้าที่บรรทุกมากับเรือ ซึ่งมันดำเนินสภาพความเป็นเมืองท่ามาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน ลองศึกษาจากบันทึกของจีน ฮอลันดา หรือญี่ปุ่น ที่เข้ามาท่าเรือแห่งนี้ บรรยายถึงความคึกคักของเรือสินค้าจากนานาชาติ (หนังสือภาษาไทยลองอ่านของ อับดุลลอฮ ลออแมน หรือ ของ อารีฟีน บินจิ น่าจะพอหาหลักฐานการบันทึกพวกนี้ได้อยู่)

มีทะเล มีภูเขา ที่อุดมสมบูรณ์ มีทุ่งนาขนาดใหญ่ที่สามารถปลูกพืชที่ให้คาร์โบไฮเดรต พืชล้มลุกที่เป็นพลังงานสำคัญของคนและปศุกสัตว์ได้ พื้นที่ราบเหล่านี้จะแปลงมาใช้เลี้ยงปศุสัตว์ก็ถือว่ายอดเยี่ยมมาก พื้นที่ส่วนใหญ่มีแม่น้ำหรือลำคลองพาดผ่าน แถบไม่มีพื้นที่แห้งแล้ง

คิดว่าแถวนี้ปลูกพืชเศรษฐกิจอะไรก็ขึ้นได้หมดแหละ ยกเว้นพวกพืชเมืองหนาว

ข้อต่อมาคือความเป็น Muslim Majority Area ของคนที่นี่สำคัญมากในแง่ของการตั้งฐานการผลิตที่มีตลาดคือโลกมุสลิมที่มีประชากรเกือบสองพันล้านคน ข้อเท็จจริงที่ควรค่าแก่การให้ความสำคัญแก่ตลาดมุสลิมในโลกนี้คือ ประเทศมุสลิมจำนวนหนึ่งเป็นมหาเศรษฐีที่รวยจากทรัพยากรธรรมชาติ คือ น้ำมันและแก๊ซ ประเทศเหล่านี้ต้องนำเข้าอาหารเกือบทั้งหมดที่บริโภคในประเทศ เนื่องจากพื้นที่ของประเทศเหล่านี้แห้งแล้ง เพาะปลูกลำบาก หรือถ้ามาทำเกษตรก็ทำสู้คนอื่นไม่ได้ เลยนำเข้าเสียดีกว่า มีเงินซะอย่าง แต่ติดปัญหาคือ ถ้าเขาไม่ไว้วางใจในมาตรฐาน "ฮาลาล" เขาก็ไม่สั่งของเข้ามาให้คนบริโภค เพราะประเทศเหล่านี้อิทธิพลของศาสนายังมีอยู่สูง ของไทยนี่มีการพัฒนาคุณภาพของมาตรฐานฮาลาล จนเป็นอันดับต้นๆของโลก และชื่อเสียงของ "ปาตานี" ในฐานะ "ระเบียงแห่งเมกกะห์" หรือเป็นหนึ่งในดินแดนที่เคร่งครัดในศาสนาที่สุดในโลก ในสายตาของโลกมุสลิมชื่อชั้นพวกนี้ยังขายได้ และจะเป็นบันไดให้เราขยายและพัฒนาศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตสินค้าฮาลาลของโลกได้

ผมได้ข่าวแว่วๆ ว่ามีนักลงทุนจากจีนจำนวนหนึ่งที่สนใจมาลงทุนผลิตสินค้าฮาลาลในดินแดนปาตานี เพื่อขายโลกตะวันออกกลาง และโลกมุสลิมล้วนๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า หากผลิตจากจีน ความน่าเชื่อถือของฮาลาลจะถูกลดค่าทันที และกลับกันหากมันออกจาก ปาตานี ความมั่นใจในฮาลาลจะเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ลู่ทางในการพัฒนาเป็นเขตส่งเสริมการท่องเที่ยวก็ยังเปิดกว้างมาก ด้วยความที่ไทยเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก และรัฐบาลกำลังขยายความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มอีก จะมีจังหวัดใหม่ๆถูกผลักดันเป็นที่ท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น

ตอนนี้จังหวัดกระบี่ที่อยู่ไกลจากชายแดนมาเลเซียมากกว่า 300 กม. กลายเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย เขายอมขับรถเดินทางไปดูทะเลที่กระบี่ เดินเล่นหาดอ่าวนาง ร้านอาหารที่อ่าวนางแทบทุกร้านต้องขายอาหารฮาลาล ถ้าคนมาเลยอมขับไปไปไกลขนาดนั้นเพื่อไปดูทะเลได้ ทำไมเขาจะมาเที่ยวสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้ (ถ้าเหตุสงบเกิดขึ้นแล้ว) เงินจำนวนมหาศาลจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเพื่อหาของกินอร่อยๆ พักโรงแรมดีๆ ในราคาที่ถูกกว่าบ้านเขา ไม่ได้เข้ามาเที่ยวแบบ Entertainment เหมือนที่เมืองท่องเที่ยวอื่นๆของไทย ไปอยู่ที่อื่นเสียมาก ทั้งๆที่สามจังหวัดมีทะเล มีภูเขา มีป่า มีแม่น้ำครบ รออย่างเดียวคือการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นยุทธศาสตร์จริงๆ

ปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ ข้อได้เปรียบอย่างแรกคือ คนที่นี่พูดได้สองภาษา หนึ่งคือภาษามลายูซึ่งเป็นภาษาที่มีคนใช้เยอะที่สุดในภูมิภาค สองคือภาษาไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก แต่ข้อได้เปรียบนี้ถูกทำลายไปด้วย ศักยภาพในการแข่งขันของคนในพื้นที่อ่อนแอ ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญมากในการพิจารณาความเสี่ยงในการลงทุน ปัญหาที่แรงงานหรือบุคลากรในพื้นที่ไม่สามารถรักษาความสม่ำเสมอและความต่อเนื่องของการทำงานได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แรงงานในพื้นที่เองยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนนี้ที่ผมยังคิดว่าเรายังด้อยกว่าที่อื่นอีกมาก และเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พื้นที่พัฒนาช้า ไม่อยากพูดถึงว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้มันเกิดปัญหานี้ขึ้นมาบ้าง เพราะเดี๋ยวจะยาวอีก

ไม่รู้ผมฝันไปหรือเปล่า แต่ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า หากความสงบสันติเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ ทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาในพื้นที่จะเป็นเหมือนระเบิดเลย เหมือนพื้นที่ถูกทิ้งร้างมานาน คงจะพัฒนาไปเร็วและไปไกลมาก คงต้องมานั่งคิดต่อว่า หลังการพัฒนามาแล้ว สังคมจะเป็นอย่างไรบ้าง เราจะทนทานต่อการพัฒนาและรักษาสิ่งที่ดีเดิมอยู่แล้วในสังคมอย่างไร ถ้าปล่อยให้ไหลไปตามทุนนิยมก็กลัวจริงๆ จะเป็นเหมือนที่อื่นๆ ของประเทศ ที่มีอะไรก็ขายหมด