Skip to main content

 

ที่มาของฮิจญ์เราะฮฺศักราช

 

บรรจง บินกาซัน

 

 

วันนี้ 20 กันยายน พ.ศ.2560 ตรงกับวันที่ 1 เดือนมุฮัรฺร็อม ฮ.ศ.1439 วันปีใหม่ตามปฏิทินอิสลาม แต่มุสลิมทั่วโลกผ่านวันขึ้นปีใหม่ของตนไปโดยมิได้มีการจัดงานเคานต์ดาวหรือจุดพลุเฉลิมฉลองแต่ประการใด เพราะมุสลิมถือว่าวันที่ 1 ของทุกเดือนในรอบปีเป็นเพียงวันที่บอกว่าเวลาของเราได้หมดไปอีกหนึ่งเดือนแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมมีวันสำคัญที่จะเฉลิมฉลองกันในบางเดือนของทุกปี นั่นคือ วันอีดุลฟิฏร์ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน(เดือนที่ 9)และวันอีดุลอัฎฮาซึ่งเป็นวันแห่งการทำพิธีฮัจญ์ของมุสลิมทั่วโลกในเดือนซุลฮิจญะฮฺ เดือนสุดท้ายของปี

ในคัมภีร์กุรอาน 9: 36 ระบุว่า “จำนวนเดือนที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้นั้นมีสิบสองเดือนตั้งแต่เมื่อตอนที่พระองค์ได้ทรงสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน และในจำนวนนี้มีสี่เดือนต้องห้าม นี่คือหลักในการนับที่ถูกต้อง......”

ดังนั้น มนุษย์จึงแบ่งเวลาหนึ่งปีออกเป็นสิบสองเดือนมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว แต่การแบ่งเดือนในแต่ละปีมีวิธีต่างกัน ระบบสุริยคติใช้การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นเกณฑ์กำหนดหนึ่งปี ส่วนระบบจันทรคติใช้การโคจรของดวงจันทร์รอบโลกนับเป็นหนึ่งเดือนและนับไป 12 เดือนเป็นหนึ่งปี เดือนส่วนใหญ่ในปฏิทินจันทรคติจะมี 29 วัน ดังนั้น วันในปฏิทินจันทรคติจะมี 354 วันเศษๆซึ่งน้อยกว่าปฏิทินสุริยคติ 10 -11 วัน

ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างปฏิทินสุริยคติกับปฏิทินจันทรคติก็คือ ปฏิทินในระบบสุริยคติเริ่มต้นวันใหม่หลังเที่ยงคืน แต่ปฏิทินระบบจันทรคติของอิสลามเริ่มต้นวันใหม่เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

คัมภีร์กุรอานยังกล่าวอีกว่าในจำนวน 12 เดือนนี้มีเดือนต้องห้ามอยู่สี่เดือน นั่นคือเดือนที่ 1, 7, 11 และ 12 ในสังคมชาวอาหรับก่อนสมัยอิสลามได้กำหนดประเพณีไว้อย่างหนึ่งว่าในเดือนดังกล่าวห้ามทุกเผ่าทำสงคราม ทั้งนี้เพราะเดือนที่ 12 (เดือนซุลฮิจญะฮฺ) ของทุกปีเป็นเดือนแห่งการทำพิธีฮัจญ์ เดือนที่ 11 (เดือนซุลเกาะด๊ะฮฺ) เป็นเดือนแห่งการเดินทางมาและเดือนที่ 1 (เดือนมุฮัรฺร็อม)เป็นเดือนแห่งการเดินทางกลับ ดังนั้น ชาวอาหรับทุกคนต้องให้เกียรติแก่ผู้เดินทางมาทำพิธีฮัจญ์ และที่สำคัญก็คือความปลอดภัยในช่วงเดือนต้องห้ามจะทำให้ชาวอาหรับทุกเผ่าต่างได้รับผลประโยชน์จากการทำการค้า

แม้สังคมชาวอาหรับสมัยก่อนหน้าอิสลามมีการกำหนดวันและเดือนต่างๆ แล้วก็ตาม แต่ชาวอาหรับก็ยังไม่มีปฏิทินที่บอกว่าเป็นศักราชที่เท่าใด การนับปีจะอ้างอิงเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น นบีมุฮัมมัดเกิดในวันจันทร์ เดือนเราะบีอุลเอาวัล ปีช้าง ทั้งนี้เนื่องจากในปีที่นบีมุฮัมมัดถือกำเนิดเป็นปีที่มีกองทัพช้างจากเยเมนได้บุกเข้ามายังมักก๊ะฮฺ ชาวอาหรับจึงถือว่าปีนั้นเป็นปีเกิดเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ในความทรงจำของพวกตน

เมื่อนบีมุฮัมมัดอพยพจากมักก๊ะฮฺไปที่มะดีนะฮฺใน ค.ศ.622 ท่านพบว่าชาวบนีอิสรออีลที่นั่นถือศีลอดในวันที่ 10 เดือนมุฮัรฺร็อม (วันอาชูรอ) ท่านจึงได้ถามคนกลุ่มนี้ถึงเหตุผลในการถือศีลอดในวันนั้น ชาวบนีอิสรออีลตอบท่านว่า “มันเป็นวันดีวันหนึ่ง” (วันที่โมเสสช่วยชาวยิวให้รอดพ้นจากฟาโรห์)นบีมุฮัมมัดจึงบอกชาวยิวว่า “เราใกล้ชิดโมเสสมากกว่าพวกท่านเสียอีก”

ในเวลานั้น คำบัญชาเรื่องการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนยังไม่ได้ถูกประทานมา นบีมุฮัมมัดได้ถือศีลอดในวันนั้นตามชาวบนีอิสรออีลและท่านได้สั่งมุสลิมในมะดีนะฮฺให้ถือศีลอดตามแบบชาวบนีอิสรออีล เพราะท่านถือว่าโมเสสเป็นนบีของพระเจ้า ท่านจึงปฏิบัติตาม

ในปีถัดมา นบีมุฮัมมัดได้รับคำบัญชาให้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน การถือศีลอดในวันที่ 10 เดือนมุฮัรฺร็อมจึงเป็นสิ่งที่มุสลิมสามารถเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้ตามความสมัครใจ ไม่ใช่ข้อบังคับเหมือนกับการถือศีลอดในเดือนเราะฎอน

ในสมัยของนบีมุฮัมมัด มุสลิมยังไม่มีศักราชของตนเอง หลังสมัยนบีมุฮัมมัด ใน ค.ศ. 638 ซึ่งเป็นสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อาณาเขตของรัฐอิสลามขยายกว้างออกไป อบูมูซา อัชอะรีย์ เจ้าหน้าที่ปกครองของอุมัรฺในเมืองบัศเราะฮฺในประเทศอิรักได้ร้องเรียนว่าจดหมายที่เขาได้รับจากอุมัรฺไม่ได้ระบุปีไว้ ทำให้เขาไม่อาจจำได้ว่าจดหมายฉบับใดเป็นฉบับล่าสุด ดังนั้น เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่มุสลิมต้องมีการกำหนดศักราชของตนเอง

หลังจากปรึกษาหารือกับผู้อาวุโส อุมัรฺก็ตัดสินใจว่าศักราชของอิสลามควรเริ่มต้นตั้งแต่ปีที่นบีมุฮัมมัดอพยพมาถึงเมืองมะดีนะฮฺ อุษมาน บินอัฟฟาน สาวกผู้อาวุโสคนหนึ่งแนะนำว่าปฏิทินอิสลามควรเริ่มต้นด้วยเดือนมุฮัรฺร็อมตามประเพณีของชาวอาหรับแม้ในความเป็นจริงแล้ว นบีมุฮัมมัดอพยพมาถึงเมืองมะดีนะฮฺในเดือนถัดจากนั้นก็ตาม นับแต่นั้นมา ศักราชของอิสลามจึงเริ่มต้นและถูกเรียกว่า “ฮิจญ์เราะฮฺศักราช” เพราะฮิจญ์เราะฮฺหมายถึงการอพยพ

แม้มุสลิมทั่วโลกไม่เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺศักราช แต่ในวันที่ 9 และ 10 ของเดือนมุฮัรฺร็อม ประชาคมมุสลิมซุนนีส่วนใหญ่จะมีประเพณีปฏิบัติร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นคือการถือศีลอดด้วยความสมัครใจ บางชุมชนเชื่อว่าวันที่ 10 เดือนมุฮัรฺร็อมเป็นวันที่เรือของโนอาห์(นบีนูฮฺ)ได้เกยตื้นบนภูเขาญูดีและโนอาห์ได้เอาเมล็ดธัญพืชทั้งหมดที่เหลืออยู่ในเรือมากวนเป็นอาหารแจกผู้ที่เหลือรอดชีวิต จึงได้จัดประเพณีกวนเมล็ดธัญพืชที่เรียกว่า “บูโบอาชูรอ” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

ส่วนชุมชนชาวชีอะฮ์จะจัดพิธีอาลัยอาวรณ์ถึงการจากไปของอิมามฮุเซนหลานของนบีมุฮัมมัด