Skip to main content

 

บทวิเคราะห์: ทหารเพิ่มบทบาทชุดคุ้มครองตำบลในจังหวัดชายแดนใต้

 

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน 
 
170922-TH-pathan-620.jpeg
เจ้าหน้าที่อาสาสมัครชุดคุ้มครองหมู่บ้าน เฝ้ายามรักษาความปลอดภัย ในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่บ้านตาแกะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553
เอเอฟพี
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในความพยายามในการจัดหาผู้ปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมในระดับหมู่บ้าน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างของโครงการชุดคุ้มครองตำบลในพื้นที่ที่ประสบปัญหาความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แต่การปฏิบัติการ อาจจะไม่เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะกลุ่มก่อความไม่สงบยังมีความมุ่งมั่นในการก่อความรุนแรงตามแนวคิดการแบ่งแยกดินแดน

ตำบล เป็นหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นที่ประกอบด้วยหลายๆ หมู่บ้าน เป็นหน่วยงานการปกครองที่อยู่ต่ำกว่าระดับอำเภอและจังหวัด

กำนัน ก็เช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้าน เมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้ว จะอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเกษียณอายุครบ 60 ปี โดยตำแหน่ง กำนันจะได้รับปืนพกและปืนลูกซอง เพื่อไว้สำหรับป้องกันตนเอง และเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั้งหลาย กำนัน อยู่ภายใต้การปกครองของกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่ในการดูแลบริหารงานเกี่ยวกับประชาชนในตำบล เช่น เรื่องการเกิด การเสียชีวิต และการจดทะเบียนบ้าน รวมถึง ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างชาวบ้าน

นับตั้งแต่การก่อเหตุการณ์รุนแรงระลอกล่าสุดตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และถือว่าตนเองเป็นชาวมุสลิมมลายู ทางทหารไทย ได้พยายามหาทางที่จะให้เจ้าหน้าที่บริหารท้องถิ่นระดับนี้ เข้ามาอยู่ใกล้สายการบังคับบัญชาของตน

เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในพื้นที่จำนวนมาก กล่าวหาเป็นนัยๆ ว่า กำนันและผู้ใหญ่บ้าน โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลชุมชน หลับตาข้างหนึ่งให้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่อาศัยอยู่หมู่บ้านและตำบลของพวกเขา

เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายความมั่นคง ถือว่าการที่ผู้ใหญ่บ้านและกำนันไม่รายงานการเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการต่อทางการว่า เป็นการสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่สามารถเอาผิดผู้ใหญ่บ้านและกำนันเหล่านั้นในทางกฎหมายได้ ส่วนเจ้าหน้าที่บางรายกล่าวว่า ที่ทั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันไม่กล้าพูดอะไรนั้น ก็เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตนเอง

ทางฝ่ายกลุ่มขบวนการเองอ้างว่า ทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านก็มีความคิดเหมือนกับพวกตน คือ ไม่ไว้ใจรัฐบาลไทย ดังนั้นพวกเขาจึงให้การสนับสนุนแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มขบวนการ

ผู้ใหญ่บ้านและกำนันในท้องถิ่นส่วนใหญ่ ปฏิเสธที่จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเปิดเผย เพราะกลัวการถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ หรือจากกลุ่มขบวนการก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม พวกเขายอมรับว่าเขาไม่มีความเชื่อมั่นต่อทางการไทย และพวกเขาก็ยังบอกว่าเขารู้จักกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ และรู้ว่ามีการปฏิบัติการในชุมชนที่เขาอยู่จริง

การประสานงานของ 262 ตำบล กับการปฏิบัติการกองกำลังทหาร

ความพยายามของรัฐที่จะเอาชนะใจประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังห่างไกลจากการพัฒนารอบด้าน

นอกจากนี้ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวมลายูปัตตานี ยังไม่ถูกบันทึกรวมไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย เหตุการณ์ก่อความไม่สงบรุนแรงส่วนใหญ่ มาจากปฏิกิริยาต่อต้านนโยบายการผนวกดินแดนสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งในความรู้สึกของชาวมลายู หมายถึงการถูกกลืนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และศาสนาของพวกตน

นอกจากนี้ การที่ทางการไม่ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดยังคงเป็นปัญหาใหญ่ แม้มีการบันทึกข้อมูลการละเมิดสิทธิต่างๆไว้ ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใด ถูกตั้งข้อหาการละเมิดสิทธิในการก่ออาชญากรรมใดๆ

เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยข่าวกรองรายหนึ่ง กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบล จะถูกรวมเข้ากับหน่วยความมั่นคงของทหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา

ในอดีตที่ผ่านมา ทหารไทยได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้าน โดยการจัดตั้งอาสาสมัครชุดคุ้มครองหมู่บ้านในตลอดพื้นที่นี้ เนื่องจากชุดคุ้มครองหมู่บ้านนี้ ล้วนเป็นอาสาสมัคร จึงไม่ได้รับเงินเดือน ชุดอาสาสมัครคุ้มครองของแต่ละหมู่บ้าน ยังทำงานโดยลำพัง ไม่มีการประสานร่วมกับเจ้าหน้าที่ชุดอื่นในต่างหมู่บ้าน

ทีมงานแต่ละชุดจะได้รับเงินช่วยเหลือรายเดือนประมาณ 20,000 บาท สำหรับเป็นค่าชา กาแฟ และเครื่องดื่มอื่นๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ยามได้ตลอดทั้งคืน โดยมีการอยู่ยามประจำที่ และลาดตระเวนรอบหมู่บ้าน 

สำหรับเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบลนั้น จะมีการประสานงานร่วมกันทั้งหมด 262 ตำบล ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ความดูแลของหน่วยงานความมั่นคง กองทัพบก นั่นหมายความว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และทีมของเขาทุกคนได้รับเงินเดือนจากกระทรวงมหาดไทย จะได้รับการแจ้งเตือนเช่นเดียวกันกับเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง ในกรณีที่เกิดภัยคุกคามหรือการโจมตีโดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย

เจ้าหน้าที่ทหารอาวุโสนายหนึ่ง ในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบล จะไม่เข้าร่วมการดำเนินการค้นหา และปฏิบัติการทำลายที่ซ่อน หรือค่ายฝึกชั่วคราวของกลุ่มขบวนการก่อการร้าย แต่สมาชิกของชุดคุ้มครองตำบลถูกมอบหมายให้ร่วมเดินเท้าลาดตระเวนกับทหาร หรือเข้ายามประจำด่านตรวจของทหาร ซึ่งจะทำให้พวกเขาอยู่ในแนวอันตรายจากการถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย

ขบวนการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ชุดคุ้มครองหมู่บ้านเหล่านี้ เว้นเสียแต่จะมาสอดแนมหาข่าวให้กับทหารหรือตำรวจ

ด้วยบทบาทใหม่ของเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบล ดูเหมือนจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มก่อการแบ่งแยกดินแดนจะมองเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองตำบลนี้อย่างไรนั้น ยังต้องรอดูกันต่อไป

 

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ได้เป็นความคิดเห็นของเบนาร์นิวส์

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/commentary/TH-pathan-09222017171451.html