โปแลนด์ที่ได้เห็น
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
ผมมาอยู่ที่ประเทศโปแลนด์ 5 วันนับจากวันเสาร์ที่ 23 ถึงวันพุธที่ 27 กันยายน 2017 พักค้างคืนในสองเมืองคือเมืองหลวงวอร์ซอ ประชากร 1.7 ล้านคน และเมืองพอซแนน ประชากร 5 แสนคน รวมประชากรทั้งประเทศ 38 ล้านคนและมีแนวโน้มว่าจะลดลงในอนาคตอันไม่ไกลนี้อันเป็นผลจากอัตราการเกิดลดลงซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับชาติในยุโรปส่วนใหญ่ นี่เป็นประเด็นที่ทำให้รัฐบาลของหลายชาติยุโรปรวมทั้งโปแลนด์ที่แม้จะเกิดอาการกลัวอิสลามทว่าไม่ต่อต้านผู้ลี้ภัยจากซีเรียและอัฟริกาเหนือมากนัก เนื่องจากเห็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย ข้อดีคือช่วยเติมประชากรที่ใกล้จะขาดแคลนอีกทั้งประชากรที่มาใหม่เหล่านั้นยังเป็นคอเคเชียนหรือผิวขาวเหมือนกันอีกต่างหาก
การแก้ปัญหาประชาชนด้วยการรับผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องง่าย หลังทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาโปแลนด์สลัดหลุดจากการเป็นประเทศหลังม่านเหล็ก มีประชาธิปไตยทำให้ต้องหังเสียงประชาชน เป็นผลให้โปแลนด์รับผู้ลี้ภัยจากซีเรียได้น้อยมากทั้งมีแนวโน้มว่าจะเลิกรับ เนื่องจากประชาชนยังไม่ต้องการแต่กว่าจะตัดสินใจได้ สงครามซีเรียคงจบลงแล้ว บางครั้งเวลาที่ติดปีกโบยบินผ่านไปก็ช่วยโปแลนด์แก้ปัญหายากๆได้ดี
จะว่าไปโปแลนด์เป็นประเทศที่เสียหายหนักที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงวอร์ซอถูกทำลายทั้งเมืองถึง 95% ชาวโปแลนด์เสียชีวิตในสงครามมากถึง 5.8 ล้านคน จำนวนนี้เป็นชาวโปลเชื้อสายโปล 2.8 ล้านคน เชื้อสายยิวอีก 3 ล้านคน บ้านเมืองพังพินาศแทบไม่เหลือ จบสงครามแล้วยังต้องเข้าไปอยู่ใต้ปีกสหภาพโซเวียตอีกนานกว่า 50 ปี เมื่อหลุดพ้นแม้จะทนทุกข์แต่โปแลนด์ยังเต็มไปด้วยความหวัง ตั้งใจว่าจะพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆในยุโรป จะก้าวทะยานไปข้างหน้าต้องกล้าฝัน ท่านศันศนีย์ สหัสสะรังษี เอกอัครราชทูตไทยประจำวอร์ซอซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่นานมานี้ ท่านเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่ท่านเองก็เชื่อมั่นไปในทำนองนั้น
ผมมีโอกาสเดินทางไปในหลายพื้นที่ของวอร์ซอ ได้นั่งรถจากวอร์ซอผ่านระบบทางด่วนระหว่างเมืองจากวอร์ซอไปเมืองพอซแนนเห็นระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโปแลนด์ต้องยอมรับว่าประเทศนี้พัฒนาไปได้เร็วมาก บ้านเมืองสวยงาม ปลอดภัย ค่าครองชีพถูกจนน่าแปลกใจ มีโอกาสคงได้มาอีกสักครั้ง