Skip to main content

 

มุฮัมมัด มะฮ์ดี อากิฟ ตำนานนักสู้ผู้ท้าทาย

----------------------------------------------------------

 

 

อากิฟเกิดปี 1928 ที่จังหวัดดะเกาะฮ์ลียะฮ์ อียิปต์ จบจากวิทยาลัยพลศึกษา ในปี 1950 และได้บรรจุเป็นครูพละในโรงเรียนมัธยมฟุอ๊าดเอาวัล

ในปี 1940 ขณะอายุได้ 12 ปี อากิฟเข้าร่วมกลุ่มอิควานที่แพร่หลายอย่างมากในขณะนั้น เพราะชอบที่เห็นกลุ่มอิควานให้ความสำคัญต่อการกีฬาเป็นพิเศษ

ในปี 1952 เป็นหัวหน้าค่ายทหารอิควานประจำมหาวิทยาลัยอิบรอฮีม กรุงไคโร ที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับการยึดครองของอังกฤษที่คลองสุเอซ อีกทั้งยังเข้าร่วมต่อสู้กับกองทัพอิสราเอลที่ปาเลสไตน์อีกด้วย

ในปี 1954 ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเยาวชนของกลุ่มอิควาน และในปีเดียวกัน กลุ่มอิควานก็ถูกยุบ และอากิฟก็ถูกจับกุม

อากิฟถูกจับกุมในสมัยกษัตริย์ฟารูก ในความผิดฐานช่วยพานายพลแกนนำคณะนายทหารเสรีที่ก่อการปฏิวัติอียิปต์ให้หลบหนี และถูกพิพากษาประหารชีวิต ต่อมาลดเหลือจำคุกพร้อมทำงานหนักตลอดชีวิต ตลอดจนยุคนัซเซอร์ และได้รับการอภัยโทษในปี 1974 ในยุคซาดัต ภายหลังจากที่ถูกตำคุกนาน 20 ปี

หลังออกจากคุก ได้เดินทางไปทำงานเป็นที่ปรึกษาองค์กรวามี ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย รับผิดชอบจัดค่ายอบรมเยาวชนทั่วโลก

ต่อมาในปี 1980 ได้ไปอยู่ที่ประเทศเยอรมัน เป็นหัวหน้าศูนย์อิสลามที่เมืองมิวนิค

ในปี 1987 กลับมายังอียิปต์ เพื่อสมัครรับเลือกตั้ง สส.ของอียิปต์ และได้เป็น สส. ในเขตเลือกตั้งไคโรตะวันออก ในนามตัวแทนกลุ่มพันธมิตรอิสลาม ได้เป็น 1 ใน 35 สส. ของกลุ่มอิควานขณะนั้น

ในปี 1987 ได้เป็นกรรมการบริหารกลุ่มอิควาน และในปี 1996 ถูกศาลทหารในยุคมุบาร๊อค พิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหาเป็นฝ่ายอิควานนานาชาติ และได้พ้นโทษในปี 1999

อากิฟเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆในกลุ่มอิควาน เช่น

- หัวหน้าฝ่ายนักศึกษา อันเป็นฝ่ายที่สำคัญอย่างยิ่งในกลุ่ม ซึ่งหะซัน บันนา ก็ดำรงตำแหน่งนี้ด้วยตนเอง

- หัวหน้าฝ่ายฝึกกำลัง ประจำสำนักงานใหญ่ที่กรุงไคโร

- เป็นสมาชิกหนึ่งของหน่วยพิทักษ์กลุ่มอิควาน

- ฝ่ายต่างประเทศ

อากิฟมีความสัมพันธ์อันดีกับองค์กรอิสลามทั่วโลก และเชื่อมั่นในระบบการประชุมชูรอ และเห็นว่า ต้องตามมติที่ประชุม ไม่ใช่แค่เพื่อทราบดังที่ปรากฏอยู่ในตำราฟิกฮ์ และแนวปฏิบัติของกลุ่มก่อนหน้านี้

มากกว่าครึ่งชีวิตอาศัยอยู่ในคุก ไม่ใช่เพราะลักขโมย ติดสินบาทสินบน แต่เพราะกบ้าพูดความจริงต่อผู้นำที่อธรรม และยังเป็นหัวหน้ากลุ่มอิควานมุสลิมีน ที่เป็นก้างขวางคอชิ้นใหญ่ของไซออนิสต์และผู้นำอาหรับพันธมิตรไซออนิสต์

อากิฟดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มอิควานในปี 2004 ภายหลัง มะมูน หุดัยบี ผู้พิพากษาอาวุโส หัวหน้ากลุ่มอิควานเสียชีวิตลง

อากิฟได้ปฏิเสธการเป็นต่อหลังหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ในปี 2010 นับเป็นผู้นำอิควานคนแรกที่ออกจากตำแหน่งขณะยังมีชีวิต โดยมี ดร.มุฮัมมัด บาเดียะ ได้เป็นหัวหน้ากลุ่มอิควานคนต่อมา ซึ่งปัจจุบันก็ถูกจำคุกในหลายๆข้อหา รวมทั้งรอการประหารชีวิต

ในปี 2012 อากิฟให้สัมภาษณ์สื่อว่าเห็นควรไม่ส่งตัวแทนลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ต่อมาก็ส่งตามมติที่ประชุมกลุ่มอิควาน

ในยุคซีซี หลังรัฐบาลอิควานโดนโค่น ในปี 2013 อากิฟถูกจับกุมอีกครั้ง พร้อมกับกลุ่มอิควานและผู้ปฏิเสธรัฐประหารนับพันๆคน ในข้อหาหมิ่นศาล จากการที่ได้กล่าวว่า ศาลเสื่อม ซึ่งศาลก็พิพากษาให้พ้นผิด ในปี 2014 แต่ยังคงถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดีในข้อหาฆ่าผู้ประท้วงรัฐบาลมุรซี

ในปี 2017 มีการนำอากิฟเข้ารักษาตัวในห้องไอซียูของโรงพยาบาล 2 - 3 ครั้ง จนกระทั่งเสียชีวิตที่โรงพยายาลก๊อศรุลอัยนีย์ กรุงไคโร ในวันศุกร์ ที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ด้วยโรคมะเร็ง ในวัย 89 ปี

จดหมายฉบับสุดท้ายของอากิฟถึงลูก บอกพ่อไม่ได้ห่วงตัวเอง แต่ห่วงประเทศอียิปต์

หลังเสียชีวิต รัฐบาลอียิปต์ใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่ใช้เชือกกั้นรอบสุสานและรถหุ้มเกราะ ห้ามประชาชนละหมาดศพ รวมถึงละหมาดฆออิบ และห้ามเข้าร่วมพิธีฝังศพ มีเพียงวาฟะ ภรรยา อุลยาอ์ ลูกสาว และหลานชายคนหนึ่งเท่านั้นที่เข้าร่วม และมีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งอยู่นอกเขตสุสาน

ศพของท่านถูกเจ้าหน้าที่นำไปฝังที่สุสานอะมัลวัลวะฟะอ์ ทางทิศตะวันออกของกรุงไคโร ในเวลา หนึ่งนาฬิกา ของคืนวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา

ปิดฉากชีวิตนักสู้ที่ผ่านคุกตะรางมาทุกยุคสมัยผู้นำอียิปต์ ตั้งแต่กษัตริย์ฟารูก นัซเซอร์ ซาดัต มุบาร๊อก และซีซี

ยอมทนลำบากตรากตรำนานา ในการนำองค์กรอิสลามที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกองค์กรหนึ่ง ยอมสละความสุขสบายเพื่ออนาคตของประชาชาติอิสลาม ไม่ยอมก้มหัวสยบต่อมหาอำนาจ ไซออนิสต์ และทรราชอาหรับ จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เพื่อเดินทางไปรับการตอบแทนจากพระเจ้าผู้ทรงเมตตาต่อไป

ขอพระองค์ดูแลครอบครัวของท่าน อภัยโทษต่อท่าน เมตตาต่อท่าน และรับเป็นแขกคนสำคัญร่วมกับกัลยาณชนทั้งผอง

 

 

บทความโดย ดร.ฆอซาลี เบ็ญหมัด

คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี