ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบีย
และเหตุผลที่คนอาจจะไม่อยากมาลงทุนในเรื่องต่างๆ ในซาอุ
อาฎิล ศิริพัธนะ
เมื่อปี 2012 ผมตัดสินใจมาเรียนต่อปริญญาโทสายคณิตศาสตร์ประยุกต์และวิทยาศาสตร์โลกที่ซาอุดิอาระเบีย เพราะเห็นมหาลัยเปิดใหม่อย่าง KAUST ที่ถูกสร้างมาอย่างมีวิสัยทัศน์ยิ่งยวด ผ่านมา 5 ปี และหลังจากการจากไปของคิงอับดุลลอฮ์ ผมไม่แน่ใจอีก ว่าวิสัยทัศน์นี้ กำลังถูกลืมไปหรือไม่ ดูเหมือนมันจะเป็นเช่นนั้น
วิสัยทัศน์ที่ผมกล่าวถึงคือการเปิดซาอุให้เป็นนานาชาติมากขึ้น และบีบคนซาอุเองให้แข่งขันกับนานาชาติมากขึ้น มากกว่าการกินบุญเก่าจากการขายน้ำมัน ที่ไม่เวิร์คอีกต่อไป ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำ นโยบายต่างๆของซาอุก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แม้นโยบายของซาอุ โดยฉากหน้า จะพูดถึงการปฏิรูป ความก้าวหน้า ทันสมัย ความมั่งคั่ง ไม่ขึ้นกับน้ำมัน แต่ฉากหลังมันหาเป็นเช่นนั้นไม่ ในทางปฏิบัติ เนื่องจากประชากรของซาอุเองไม่ได้มีคุณภาพพร้อมขนาดนั้น กฎหมายต่างๆที่ออกมาใหม่จึงมุ่งไปที่การกำจัดแรงงานต่างชาติออกไป เพื่อเปิดที่นั่งให้คนของตนได้งานทั้งสิ้น โดยเฉพาะงานที่นั่งใหญ่ๆที่ต้องใช้คนมีความสามารถสูง ความรู้เฉพาะทางสูง เพราะคนซาอุเองก็ไม่ยอมลงมาทำงานลำบากๆ ติดนิสัยรัฐจัดหาให้จนเคยตัว คนซาอุดี้เหมือนคนที่ติดกับดัก "คนทำงานปานกลาง แต่ต้องได้รายได้สูง" กล่าวคืองานยากๆ เช่นงานวิจัยเชิงลึกก็ทำไม่เป็น ต้องเอาฝรั่งมาทำ งานง่ายๆแต่หนักก็ไม่ทำ เช่นงานก่อสร้าง งานช่าง ต้องจ้างแรงงานทาสจากฟิลิปปินส์ ปากี มาทำ สุดท้ายจึงกลายเป็นคนทำงานระดับกลาง แต่รัฐต้องให้เงินสูงลิ่ว ซึ่งผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร คงเพราะคนซาอุเป็นผู้มีพระคุณกระมัง
ตัวอย่างของการออกนโยบายเพื่อให้คนของตน(ที่เห็นชัดๆว่า ถ้าแข่งกันตรงๆสู้ไม่ได้แน่)ได้งาน เริ่มมาสองสามปีแล้ว ทั้งหมดมุ่งเป้าให้คนที่ต้องการมาหางานในซาอุ อยู่ยาก เช่น การออกกฎหมายค่าวีซ่าเยี่ยมเยือนของครอบครัวในราคากว่าสองหมื่นบาทต่อคน นั่นคือการปิดกั้นไม่ให้คนทำงานที่นี่ได้อยู่กับครอบครัว ต่อมาไม่นานก็ออกนโยบายให้คนต่างชาติจ่ายภาษีลูกเมีย ต่อหัวต่อเดือนหลายพันบาท แม้แต่เด็กๆที่เกิดที่นี่ แต่พ่อไม่ใช่คนซาอุ ซึ่งไม่ได้รับสัญชาติ ก็เหมือนถูกไล่กลับประเทศแบบไร้ปราณีจากการที่ต้องจ่ายมากมายเช่นนี้(ไม่ต้องนับว่าเด็กเหล่านี้ ทั้งๆที่เป็นซาอุไปแล้วในทางพฤตินัย แต่กลับไม่ได้รับสิทธิใดๆแม้แต่การเรียนต่อมหาลัย ทำให้ไม่สามารถหางานสูงๆได้)
มาจนถึงวันนี้ KAUST มหาลัยที่ควรจะเป็นอิสระที่สุดจากนโยบายพวกนี้ เพราะเป็นมหาลัยนานาชาติ ที่ต้องการการพัฒนาอย่างอิสระเพื่อสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ กลับโดนนโยบายที่แนบเนียนอีกอย่างนึงเล่นงาน นั่นคือนโยบาย เลิกจ้างผู้ติดตามของนักเรียนทำงานในมหาลัยตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ทั้งหมดนั้นก็เพื่อที่จะบีบให้ KAUST รับคนซาอุเท่านั้น มานั่งทำงานเหล่านี้แทน(แม้ผู้ติดตามของนักเรียนเหล่านี้ จะมีความสามารถแค่ไหนก็ตาม) กฎนี้ทำลายโอกาสของผู้ติดตามนักเรียนอีก เขาไม่มีสิทธิทำงานช่วยพัฒนามหาลัยแห่งนี้ เพราะคนซาอุต้องการตำแหน่งเหล่านี้แล้ว
ปีที่ผ่านมา คนมีความสามารถหลายคนใน KAUST เริ่มทยอยออกเดินทางจาก KAUST ไปทีละคนทีละคน เพราะเห็นแล้วว่า นโยบายของรัฐบาลซาอุ ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนมั่นคงให้คนต่างชาติได้ ทุกอย่างยังเป็นไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบตามชนชั้นอยู่นั่นเอง คนทำงานที่นี่เขาก็ดูออก ว่าเช่นนี้ อนาคตของที่นี่ไม่ได้ดูรุ่งโรจน์เหมือนตอนเปิดใหม่ๆอีกแล้ว ส่วนผมเองในฐานะนักศึกษา ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมากมาย แต่อย่างน้อยเราก็เห็นๆว่า จะหาความยั่งยืนมั่นคงจากซาอุดี้ มันคงเป็นอะไรที่ห่างไกล เพราะ mindset ทุกอย่างของประเทศนี้ เป็นเผ่านิยมเช่นนี้ไม่เคยเปลี่ยน อีกไม่นาน ผมก็ต้องไปอยู่แล้ว เพราะไม่ได้ทำงานที่นี่
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายแนวเผ่านิยมของซาอุ ที่จะปิดกั้นการพัฒนาตลอดไป แต่มันยังสะท้อนถึงรัฐที่เป็นเผด็จการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า โดยเนื้อแท้แล้ว หาความมั่นคงไม่ได้ ด้วยนโยบายที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ในชั่วข้ามคืน และกฎหมายที่ไม่มีหลักเกณฑ์ มีแต่หลักกู ย่อมทำให้ไม่มีใครอยากมาลงทุนในประเทศ เพราะเสี่ยงถูกหักหลังทางนโยบายโดยง่าย เช่นในกรณีของ KAUST ตอนเปิดใหม่ๆ สัญญากับคนทำงานและนักเรียนที่สนใจมาเรียนไว้ดิบดีเกี่ยวกับอนาคต และโอกาสต่างๆในการมาพัฒนาซาอุ เป็นส่วนหนึ่งของคิงดอมแห่งนี้ แต่ในที่สุด KAUST ก็ต้องยอมรับสภาพว่าตนเองไม่สามารถสัญญาอะไรกับใครได้อีกหากนโยบายของรัฐมันพลิกกลับไปกลับมาได้ขนาดนี้
ณ วันนี้ มีเสียงต่อว่ามากมายจากคนทำงานและนักศึกษาที่นี่ ถึงการไม่สามารถรักษาสัญญาได้ของ KAUST และมันยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นในซาอุยิ่งลดลง และเกรงว่ามันจะทำให้มหาลัยแห่งนี้ กลายเป็นมหาลัยธรรมดาๆอีกที่หนึ่งในตะวันออกกลาง ที่มาเร็ว แล้วก็ไปเร็ว คนมาเพื่อไป ไม่ได้มาเพื่ออยู่ ไม่ยั่งยืนเหมือนมหาลัยในโลกตะวันตก