บีอาร์เอ็นประกาศจะไม่หยุดยิงจนกว่ารัฐบาลไทยเจรจาสันติภาพ 2 ฝ่ายเท่านั้น
กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (Barisan Revolusi Nasional - BRN) ซึ่งเป็นกองกำลังหลักที่ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดกว่าสิบปี ให้สัมภาษณ์พิเศษ บีบีซีไทย เมื่อต้นสัปดาห์ เรียกร้องรัฐบาลไทยให้มาเจรจาสันติภาพโดยตรงกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แทนการเจรจากับกลุ่ม "มารา ปาตานี" แต่ หัวหน้าทีมเจรจาฝ่ายไทยขอร้องให้หยุดตั้งคำถามใครตัวจริง-ตัวปลอม
"บีอาร์เอ็น จะปฏิบัติการทางทหารต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่ารัฐบาลไทย จะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายมาหาหนทางยุติความขัดแย้งร่วมกัน "ปฏิบัติการทางทหารของเราไม่ใช่จุดหมายหมายทาง แต่มันคือ วิถีทางสู่เป้าหมาย" ตัวแทนจาก "ฝ่ายข้อมูลข่าวสาร" ของ บีอาร์เอ็น ที่เรียกตัวเองว่า "ยูซุฟ" กล่าว
เหตุความไม่สงบใน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ บางอำเภอของ สงขลา นับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2547 ได้คร่าชีวิตพลเรือน ทหาร ตำรวจไปแล้วเกือบ 7,000 คน ท่ามกลางความพยายามหลายครั้งของทางการไทยในการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่ไม่สามารถยุติได้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา รายงานวันที่ 28 ก.ย. ว่า การหารือระหว่าง คณะพุดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดใหญ่ฝ่ายรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ กับกลุ่มมารา ปาตานี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้เห็นต่างจากรัฐ 5 กลุ่ม โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งนัดหมายหารือกันในวันที่ 27-28 ก.ย. 2560 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ต้องถูกเลื่อนออกไปโดยฝ่ายมารา ปาตานี และยังไม่มีการแจ้งวันนัดพูดคุยรอบใหม่
ก่อนหน้านี้การพูดคุยของ "คณะพูดคุยชุดเล็ก" ในประเด็นการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" อำเภอแรก เมื่อวันที่ 11-12 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ล่มลง โดยทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยร่วมกันได้ หลังจากนั้นก็แถลงกล่าวหากันและกันว่าอีกฝ่ายไม่พร้อม
อยากเห็นสันติภาพ
โฆษกของบีอาร์เอ็น บอกกับบีบีซีไทยว่าพวกเขาพร้อมที่จะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมที่จะวางอาวุธชั่วคราว และนี่เป็นเหตุผลที่ได้ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ สื่อสารไปยังรัฐบาลไทยเพื่อย้ำข้อเสนอ 3 ข้อที่เคยเสนอไว้ ทว่าถูกรัฐบาลปฏิเสธ
"หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเราได้พักรบชั่วคราวมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะเรารู้ดีว่าการแก้ปัญหาต้องอาศัยความเชื่อมั่นของทั้งฝ่าย เราได้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถคุมกำลังของเราได้ แต่คำถามคือว่ารัฐบาลไทยสามารถคุมกองกำลังและอาวุธของตนในพื้นที่ได้หรือไม่ รัฐบาลควรสร้างความมั่นใจในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป้องกันไม่ให้กองกำลังปฏิบัติการรุนแรงในพื้นที่"
ปัญหาการเมือง ต้องแก้ที่การเมือง
"บีอาร์เอ็นคิดว่า ปัญหาความไม่สงบเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ใช่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ หรือ เรื่องการก่อการร้าย ถ้าคุณต้องการแก้ปัญหาการเมือง คุณต้องใช้กระบวนการทางการเมืองแก้" โฆษกของบีอาร์เอ็น กล่าวเป็นภาษามลายู
"มันสมควรแล้วหรือที่มีการส่งกำลังทหาร และอาวุธลงไปในดินแดนปาตานีมาตลอด 13 ปี การทำเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เราเข้าใกล้ทางออกของปัญหาเลย หรือรัฐบาลไทยทำได้เพียงแค่นี้ และเพราะเช่นนี้เราจึงต้องการสื่อสารไปยังรัฐบาลว่าหากยังใช้กลยุทธ์เช่นนี้ก็ไม่มีทางที่ความขัดแย้งจะยุติ"
ในรอบกว่าสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณหลายแสนล้านบาทซึ่งรวมทั้งงบด้านการทหาร พัฒนาเศรษฐกิจและการศึกษาลงไปยังพื้นที่ แต่ความไม่สงบยังดำเนินอยู่
แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนา จชต. ตาม พรบ. งบประมาณ | |
---|---|
ปีงบประมาณ | ล้านบาท |
2547 | 13,450 |
2548 | 13,674 |
2549 | 14,207 |
2550 | 17,526 |
2551 | 22,988 |
2552 | 27,547 |
2553 | 16,507 |
2554 | 19,102 |
2555 | 16,277 |
2556 | 21,124 |
2557 | 25,921 |
2558 | 25,744 |
2559 | 30,887 |
2560 | 34,535 |
รวม | 299,489 |
ที่มา:ศูนย์ข่าวอิศรา | |
โฆษกของบีอาร์เอ็น กล่าวว่า การเจรจากับกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งบีอาร์เอ็นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเป็นเพียง "คอสเมติก" หรือ "เปลือก" เท่านั้น
ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยอธิบายว่า มารา ปาตานี ถือเป็น "องค์กรร่ม" ของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ได้แก่ 3 กลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (PULO ) กลุ่มแนวร่วมปลดแอกอิสลามปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจาฮีดินอิสลามปัตตานี (GMIP) และบีอาร์เอ็น แต่ในภายหลัง PULO-P4 ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของ PULO ได้ถอนตัวออกไป
ปีกที่สนับสนุนการเจรจา ได้ร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อยุติความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ช่วงต้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไทยไม่รับเจรจาตรงบีอาร์เอ็น
ด้าน พล.อ.อักษรา หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ให้สัมภาษณ์บีบีซีในวันนี้ (29 ก.ย.) ไม่รับข้อเสนอเปิดเจรจาตรงกับตัวแทนบีอาร์เอ็น แต่ไม่ปิดกั้นการเข้ามาพูดคุยด้วยแนวทางสันติวิธี
"เขาอยากเข้ามาร่วมวงพูดคุยอยู่แล้ว เพราะไม่มีทางให้ไปแล้ว แต่ต้องเข้ามาผ่านช่องทางที่เป็นทางการ คือผ่านผู้อำนวยความสะดวก ตอนนี้ฝ่ายเขายังไม่มีเอกภาพ ก็ต้องไปจัดการสมาชิกในขบวนการเอง แต่ฝ่ายเรามีเอกภาพมานานแล้ว และยืนยันเจตนารมณ์ในการพูดคุยตามเดิม" พล.อ.อักษรากล่าวทางโทรศัพท์
พล.อ.อักษราอธิบายว่า ในการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องทำครบทั้ง 3 มิติคือ
1. งานยุทธศาสตร์ คือ รัฐไทยยืนยันแนวทางการพูดคุยเพื่อสันติ
2. งานยุทธการ คือ แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการให้ชัดเจน เพื่อควบคุมและจัดวางกำลังพลให้เหมาะสม โดยงานมวลชนสำคัญที่สุด
3. งานยุทธวิธี เป็นการชิงไหวชิงพริบกันของ 2 ฝ่าย โดยฝ่ายรัฐไทยต้องเอาความผิดพลาดมาซ้อนกลผู้ก่อเหตุ และกวาดล้างให้หมดไปจากพื้นที่
"ที่ผ่านมาในทุกเวทีสาธารณะรวม 521 เครือข่ายได้ประกาศจุดยืน 'ไม่เอาก่อการร้าย ไม่ว่าจากขบวนการใด และ 'ไม่เอาโจร ไม่ว่าจะกลุ่มอิทธิพล กลุ่มยาเสพติด หรือกลุ่มของเถื่อนผิดกฎหมายใดๆ บรรดาโจรก็ต้องย้ายไปอยู่ประเทศอื่น และประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น หากมี "พื้นที่ปลอดภัย" เกิดขึ้น"
"พลาดยุทธวิธี แต่ไม่แพ้ยุทธศาสตร์"
"อยากขอร้องบรรดานักวิเคราะห์และสื่อว่าอย่าเอางานยุทธวิธีมาเหมารวมว่ายุทธศาสตร์เราแพ้ เห็นเขาก่อเหตุหน่อย ก็บอกว่าเจรจากันไม่ได้แล้ว มันไม่ใช่ เพราะในการพูดคุย มีแค่ปากกา กระดาษ และแว่นตา ไม่มีกำลังพล ปืน ไปท้ารบ เราก็พยายามดึงให้ทุกกลุ่มเข้ามาร่วม แต่สำหรับกลุ่มใช้ความรุนแรงที่หวังประกาศแบ่งแยกดินแดน ไม่มีประโยชน์ที่เราจะไปพูดคุย จะไปยกระดับเขาทำไม" พล.อ.อักษราตั้งคำถาม
หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายไทย บอกว่า หากกลุ่มหัวรุนแรงยังได้รับการสนับสนุนจาก "คนบางกลุ่ม" ก็จะออกมาเคลื่อนไหวต่อเนื่อง จึงอยากขอร้องให้เลิกตั้งคำถามว่าบีอาร์เอ็นที่อยู่ในร่ม มารา ปาตานี เป็นตัวจริงหรือตัวปลอม เพราะนี่คือเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การแทรกแซงจากองค์กรภายนอก
แหล่งข่าวจากคณะพูดคุยสันติสุขฯ อีกราย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่บีอาร์เอ็นอยากมาร่วมกันพูดคุยสันติสุขฯ แต่การพูดคุย ยังอยู่ในกรอบการคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่าง คือ มารา ปาตานี ที่มีนายสุกรี ฮารี เป็นผู้นำ ฝ่ายไทยไม่สามารถเปิดเจรจาตรงกับฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ แต่ ทางไทยไม่ปิดกั้นการขยายโควตาฝ่ายผู้เห็นต่างที่มาร่วมพูดคุย จากปัจจุบันมี 8-9 คน
คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ยอมรับว่า ในการพูดคุยสันติสุขฯ นายสุกรี ฮารี จะเป็นผู้นำการประชุม ถือว่าได้รับการยอมรับพอสมควร โดยเป็นการเปลี่ยนบทบาทจากสมัยก่อนที่เป็น "ปีกทหาร" ของบีอาร์เอ็น มาสู่สันติภาพมากขึ้น จุดนี้อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในฝ่ายขบวนการเอง
ส่วนข้ออ้างเรื่องเรื่อง "พักรบชั่วคราว" เมื่อเดือนเมษายนนั้น ทางทีมพูดคุยฯ ของไทยไม่เคยได้รับการติดต่อในเรื่องนี้ โดยถือเป็น "ข้อมูลใหม่" ส่วนจะมีการติดต่อแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐไทยส่วนอื่นหรือไม่นั้น ต้องขอเวลาตรวจสอบก่อน
จากปลายด้ามขวานสู่เกาะอังกฤษ 25 เยาวชนไทย ชมและฝึกซ้อมกับทีมโปรด
ศึกชิงการนำ?
น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิชาการอิสระด้านการจัดการความขัดแย้งบอกกับบีบีซีไทยว่า การออกมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งของบีอาร์เอ็น เป็นการตอกย้ำถึงการแย่งชิงการนำกันระหว่างกลุ่มมารา ปาตานี กับบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดความเห็นต่างภายในกลุ่มผู้ติดอาวุธ
"บีอาร์เอ็นแสดงความชัดเจนว่าไม่ได้ปฏิเสธการพูดคุยสันติภาพ แต่ต้องการให้รัฐบาลทำตามเงื่อนไขที่ร้องขอ ซึ่งก็นับว่าน้อยลงกว่าในตอนแรกแล้ว แต่รัฐบาลมีท่าทีไม่ค่อยยอมรับเงื่อนไขของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้กระทั่งในกรอบที่พูดคุยอยู่กับมารา ปาตานี รัฐบาลก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องหลายอย่าง ซึ่งทำให้การพูดคุยก็สะดุดชะงักอยู่เป็นระยะๆ"
- EXCLUSIVE: บีอาร์เอ็นขอนานาชาติร่วมสังเกตการณ์เจรจาสันติภาพโดยตรงกับไทย
- ฟังมุสลิมไทยคุยกระแสระแวงอิสลาม
น.ส.รุ่งรวี เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลไทยจะไม่ยอมรับเงื่อนไขของบีอาร์เอ็นในเรื่องการให้มีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ซึ่งที่จริงแล้วนับเป็น ข้อเสนอพื้นฐาน การเจรจาสันติภาพที่มีขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกก็มักมีผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ การเจรจาประสบความสำเร็จ
"สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือภาวะชะงักงันอันเจ็บปวดที่เกิดขึ้นมานานหลายปี การพูดคุยเดินไปไม่ได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ไม่สามารถใช้ กำลังทางทหารปราบปรามได้สำเร็จ"
วาระแห่งชาติ?
ด้าน นายแอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ประจำประเทศไทยของกลุ่มไอเอชเอส - เจนส์ กล่าวกับบีบีซีไทยว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพ กับมารา ปาตานี ไม่มีความเชื่อมโยงกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะผู้ก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ บีอาร์เอ็น ไม่ได้อยู่ในกระบวน การเจรจา สองเหตุการณ์นี้อาจจะมาเกี่ยวข้องกันในบางครั้ง เมื่อ บีอาร์เอ็นปฏิบัติการทางทหารเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการไม่ตอบสนอง ต่อข้อเรียกร้องสันติภาพที่เสนอไป
"รัฐบาลทหารไทยรู้ทั้งรู้ว่าเจรจาไม่ถูกตัว แต่ใช้การเจรจาเพื่อเป็นหน้าฉาก เพื่อบอกว่าต้องการเห็นสันติภาพ แต่ดูเหมือนว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะยังไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนของ คสช.ในขณะนี้"นายเดวิส ให้ความเห็น
น.ส. รุ่งรวี เห็นเช่นกันว่าการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมารา ปาตานี นั้นขับเคลื่อนไปอย่างเชื่องช้า จนน่าตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เป็น "วาระแห่งชาติ" อย่างที่รัฐบาลพูดจริงหรือไม่
"รัฐบาลแสดงท่าทีเหมือนอยากคุยแต่ก็ไม่ยอมรับข้อเสนอของอีกฝ่าย ส่วนอีกฝ่ายก็พยายามใช้ปฏิบัติการทางทหารกดดันต่อไป บีอาร์เอ็นพูดผ่าน ความรุนแรงมา 13 ปีแล้ว รัฐบาลจะเฉยชาต่อความสูญเสียเหล่านี้ต่อไปอีกนานเท่าไหร่ จะต้องมีเหตุการณ์ที่รุนแรงแค่ไหน ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ รัฐบาลไทยคิดว่ายอมจะพูดคุยและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยน พร้อมที่จะพูดในเรื่องสาระสำคัญคือการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่กับคนในพี้นที่ ที่น่าสงสารคือทหาร ตำรวจ คนในพื้นที่ทุกๆ ศาสนาที่ต้องเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนานนี้"