มารู้จักแคว้นกาตาลูญญา ทำไมต้องการเอกราชจากสเปน
มารู้จักประวัติศาสตร์ของ แคว้นกาตาลูญญา ทำความเข้าใจแนวคิดชาวกาตาลัน ในวันที่ต้องการเอกราชจากสเปน
แคว้นกาตาลูญญาเป็นหนึ่งในเขตการปกครองที่มั่งคั่งที่สุดของสเปน เป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ ประชาชนมีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์และภาษาถิ่นของตัวเอง บวกกับประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปได้ถึงยุคกลาง ทำให้ชาวกาตาลันจำนวนมาก มองว่าตนเองเป็นประเทศที่แยกออกจากส่วนอื่นของสเปน และมีแนวคิดต้องการเป็นอิสระจากสเปนมากที่สุด
ความรู้สึกดังกล่าว มีที่มาจากความทรงจำสมัยระบอบการปกครองแบบเผด็จการของนายพลฟรังโก ซึ่งกดอัตลักษณ์ของชาวกาตาลัน ดังที่สะท้อนอยู่ในความไม่ชอบกันอย่างรุนแรงระหว่างทีมฟุตบอลเอฟซี บาร์เซโลนา และเรียลมาดริดในปัจจุบัน
- ผู้นำแคว้นกาตาลูญญาประกาศสิทธิแยกตัวเป็นเอกราช
- บีอาร์เอ็นประกาศจะไม่หยุดยิงจนกว่ารัฐบาลไทยเจรจาสันติภาพ 2 ฝ่ายเท่านั้น
แคว้นกาตาลูญญา มีลักษณะพื้นที่คล้ายสามเหลี่ยม ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน โดยมีเทือกเขาพิเรนีสเป็นแนวกั้นด้านที่ติดกับทางใต้ของฝรั่งเศสซึ่งนับเป็นอีกดินแดนที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด
ประชากรส่วนใหญ่ของแคว้นกาตาลูญญาอาศัยอยู่ในเมืองบาร์เซโลนา ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ ส่วนชายหาดคอสตาบราวาและคอสตาโดราดา ริมทะเลเมดิเตอเรเนียน รวมถึงเทือกเขาพิเรนีส ล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของยุโรป
ส่วนภาคการผลิตของแคว้น ถูกพัฒนาขึ้นจากอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างสิ่งทอ มารวมถึงอุตสาหกรรมเคมี อาหาร และเหล็กในปัจจุบัน ทำให้กาตาลูญญากลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษกิจที่สำคัญของสเปน ไปพร้อมกับการเติบโตในภาคธุรกิจบริการ
ประวัติศาสตร์
ภูมิภาคนี้ก้าวขึ้นมามีอัตลักษณ์ของตัวเอง พร้อมกับการพัฒนาของเขตการปกครองบาร์เซโลนาในช่วงศตวรรษที่ 11 และในช่วงศตวรรษที่ 12 ได้ถูกรวบการบริหารเข้ากับราชอาณาจักรอารากอนซึ่งอยู่ติดกัน จนกลายเป็นมหาอำนาจในการเดินเรือของยุคกลาง
แคว้นกาตาลูญญาถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสเปนมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเมื่อศตวรรษที่ 15 จากการที่กษัตริย์เฟอร์ดินานด์ แห่งอารากอน และพระราชินีอิซาเบลลา แห่งคาสตีล ทรงอภิเสกสมรสกันและรวมดินแดนเป็นหนึ่งเดียว ทำให้ภูมิภาคนี้ผนึกเข้ากันเป็นรัฐเดียว จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีความพยายามฟื้นฟูอัตลักษณ์ความเป็นแคว้นกาตาลูญญาขึ้นมาใหม่ ทั้งในแง่ภาษาและวรรณกรรม จนนำไปสู่การรณงค์เพื่อแยกส่วนการปกครอง และแยกดินแดน
การที่สเปนเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐ เมื่อปี 1931 เปิดโอกาสให้แคว้นกาตาลูญญา ได้รับอิสระในการปกครองตนเองภายใต้กรอบกว้างๆ และแคว้นกาตาลูญญายังมีบทบาทสำคัญของฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ ในช่วงสงครามกลางเมืองสเปนด้วย
แต่เนื่องจากเมืองบาร์เซโลนาถูกกองทัพขวาจัดของนายพลฟรังโก ยึดครองเมื่อปี 1939 จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงที่แนวคิดต่อต้านแบบชาตินิยมของชาวกาตาลันถูกลดทอนลง
ภายใต้การปกครองแบบอนุรักษ์นิยมของนายพลฟรังโก แคว้นกาตาลูญญาถูกเพิกถอนสิทธิในการปกครองตนเอง รวมถึงถูกปิดกั้นแนวคิดชาตินิยมแบบกาตาลัน และห้ามใช้ภาษาท้องถิ่น
ความเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช
ประชาธิปไตยในสเปนเริ่มเบ่งบานในช่วงหลังการเสียชีวิตของนายพลฟรังโก และสถานการณ์ในแคว้นกาตาลูญญาได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จนทุกวันนี้กาตาลูญญามีรัฐสภาและมีรัฐบาลของตัวเอง ซึ่งรวมกันเรียกว่า "เจเนอราลิดัด" ในภาษากาตาลัน รวมถึงมีอิสระในกรอบที่กว้างขวาง
แนวคิดชาตินิยมของชาวกาตาลัน เริ่มมีแรงกระเพื่อมมากขึ้นในปี 2010 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญสเปนวินิจฉัยให้กำหนดข้อจำกัดเรื่องการอ้างความเป็นชาติของแคว้นกาตาลูญญา ซึ่งนายโฮเซ มอนติญา ผู้นำแห่งแคว้น กล่าวว่า เป็นคำพิพากษาที่ "โจมตีเกียรติภูมิของชาวกาตาลัน" เมื่อบวกกับผลกระทบจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสเปนแล้ว จึงยิ่งทำให้ชาวกาตาลันต้องการสิทธิในการปกครองตนเองมากขึ้น
ชาวกาตาลันจำนวนมากมองว่า แคว้นที่ร่ำรวยของตนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง มากเกินกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับกลับคืน และโทษว่าเป็นความผิดของรัฐบาลกลางที่ทำให้เกิดวิกฤตหนี้สินเมื่อปี 2008
ความนิยมภาษากาตาลันในช่วงขาขึ้น
เมื่อปี 2014 รัฐบาลท้องถิ่นที่มีเสียงข้างมากจาก 2 พรรคการเมืองที่สนับสนุนการแยกตัว ได้จัดทำประชามติซึ่งไม่มีผลผูกมัดขึ้น โดยผลที่ออกมาชี้ว่าผู้ลงคะแนนถึงร้อยละ 80 เห็นด้วยกับการแยกประเทศ แต่รัฐบาลสเปนยังคงยืนยันว่าแคว้นกาตาลูญญาไม่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะแยกตัวเป็นเอกราช
ส่วนการทำประชามติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น ระหว่างรัฐบาลแคว้นกาตาลูญญากับรัฐบาลกลางสเปน
ขณะนี้ พบว่าทั้งระบบการศึกษาและสื่อท้องถิ่น กำลังสนับสนุนให้ใช้มีการภาษากาตาลัน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นซึ่งพูดกันทั่วไปในภูมิภาคทางตอนใต้ของฝรั่งเศส และแม้ว่าภาษาหลักที่ใช้กันในเมืองบาร์เซโลนายังคงเป็นภาษาคาสติเลียนหรือภาษาสเปน แต่ชาวกาตาลันส่วนใหญ่จะสามารถพูดได้ทั้งสองภาษา
ภาษาถิ่นของชาวกาตาลัน ยังสามารถจำแนกออกเป็นสำเนียงแยกย่อยเฉพาะถิ่นซึ่งพบได้ในแคว้นบาเลนเซีย และหมู่เกาะแบลีแอริกด้วย ทำให้ชาวกาตาลันชาตินิยมจำนวนหนึ่ง มองว่าทั้ง 3 แคว้น รวมถึงแคว้นรูซียงของฝรั่งเศส คือส่วนหนึ่งของ "ดินแดนกาตาลัน"