Skip to main content
ณรรธราวุธ เมืองสุข
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
บทสัมภาษณ์ 5 คำถาม ค้นหาความหมายของ Fundamentalism และ Extremist เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับลิวอิส เอ็ม. ไซมอนส์ (Lewis M. Simons) นักข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ผู้แฉความมั่งคั่งจากการคอร์รัปชั่นของตระกูลอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
 
ผมเจอไซมอนส์อย่างไม่คาดหมายที่ใจกลางเมืองปัตตานี, ชายชราผมสีดอกเลาร่างผอมโปร่งลงมาภาคใต้ของประเทศไทยทำไม? นั่นคือคำถามข้อที่หนึ่ง ส่วนข้อที่สอง ผมนึกในใจว่าเขาสนใจอะไรในปัญหาภาคใต้? และลำดับสุดท้าย มันไม่ใช่คำถาม แต่เป็นความรู้สึกทึ่งของตนเองที่ได้สัมผัสนักข่าวรุ่นใหญ่เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ตัวเป็นๆ อย่างใกล้ชิดเช่นนี้
 

 

มิสเตอร์ไซมอนส์ ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนเปิดเผยให้เห็นความมั่งคั่งจากการคอร์รัปชั่นที่ถูกซุกซ่อนไว้ของตระกูล Marcos แห่งฟิลิปปินส์ กระทั่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากลุกฮือขึ้นมาโค่นล้มอดีตผู้นำรายนี้
 
เขาเข้ามาทำงานด้านสื่อสารมวลชนโดยการเป็นนักข่าวที่ตระเวนทำข่าวทั่วโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 รวมเป็นเวลา 43 ปีที่เขาทำอาชีพนี้ให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อาทิ Washington Post และสิ่งพิมพ์ในเครือ Knight Ridder ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนด้านเนื้อหาอย่างสม่ำเสมอที่ National Geographic และบทความของเขายังปรากฏใน New York Times อีกด้วย
 
สำหรับประเทศไทย เขาผ่านสนามข่าวในเหตุการณ์ความขัดแย้งมาหลายยุคหลายสมัย กระทั่งถึงเหตุการณ์คนเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2553 เขานำเสนอรายงานข่าวและความเห็นมากมายที่ตามหาอ่านได้ในกูเกิ้ลเพียงแต่พิมพ์ชื่อเขาลงไป
 
แต่ที่นี่ –ที่เราพบกันโดยบังเอิญคือจังหวัดปัตตานี ประเด็นสัมภาษณ์ที่ผมได้เวลาอันน้อยนิดจากเขา(เพราะความเหนื่อยล้า) จึงควรเป็นประเด็นปัญหาภาคใต้ที่ยังเป็นโรคเรื้อรังรุนแรงของประเทศไทยไม่ใช่หรือ?
 
DSW: ขอโทษครับ...ผมขอย้อนกลับไปถามอีกครั้งว่าคุณผ่านสนามข่าวในพื้นที่ความขัดแย้งที่ไหนในโลกมาบ้าง?
 
ผมเคยมีประสบการณ์ในเวียดนามใต้, สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา, ลาว ,แคชเมียร์, อิรักและอิหร่าน, อดีตสหภาพโซเวียต, เกาหลีเหนือและใต้, จีน โดยเฉพาะกรณีจตุรัสเทียนอันเหมิน, นอกจากนั้นผมเคยอยู่ในประเทศไทยนานหลายครั้ง และผ่านเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารมาหลายครั้งหลายหน
 
DSW: แล้วทำไมคุณสนใจปัญหาภาคใต้ของไทยและเดินทางลงมาที่นี่?
 
ผมสนใจปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเมื่อ 5 ปีก่อน ผมต้องทำการวิจัยและหาข้อมูลเพื่อทำหนังสือ ทีนี้หนังสือที่จะเขียนมันเกี่ยวกับเรื่อง Fundamentalism  (กลุ่มนิยมการหวนคืนสู่รากฐานดั้งเดิมทางศาสนา  – ผู้เขียน) ใน 5 ประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้ลงมาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้น ตอนนั้นใช้เวลาประมาณหนึ่งอาทิตย์ และได้คุยกับหลายๆ คน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมสนใจปัญหาภาคใต้ ประกอบกับคิดว่าในช่วงที่ผ่านมามุสลิม Fundamentalism Extremist กำลังเป็นที่สนใจของโลกมุสลิมมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศตะวันออกกลางและประเทศที่มีมุสลิมอยู่... ผมคิดว่ามันมากขึ้นนะ ซึ่งนั่น (กลุ่ม Fundamentalism) เป็นแนวคิดที่ผมสนใจ
 
แม้ว่าสถานการณ์ที่นี่จะมีความเป็นเอกลักษณ์ และมีลักษณะเฉพาะของมัน เมื่อเปรียบเทียบในภาพรวมและเปรียบเทียบกับที่อื่นแล้วมันมีความคล้ายคลึงกับสถานการณ์ที่เกิดในมินดาเนา
 
 
DSW: การได้พูดคุยกับกลุ่ม Fundamentalism ทั้งในประเทศไทยและที่อื่นๆ คุณเองมีความคิดเห็นอย่างไรต่อแนวคิดเช่นนั้น?
 
 ในความคิดเห็นส่วนตัวที่ผมได้พูดคุยกับกลุ่มคนเหล่านี้ ผมคิดว่า ไม่ใช่เฉพาะโลกมุสลิมเท่านั้นที่มีกลุ่มคนหันไปสู่ความเป็น Fundamentalism ทั้งคริสเตียน ทั้งศาสนาพุทธเองก็มีปรากฏการณ์เช่นนี้ คือย้อนกลับไปสู่รากฐาน เอารากฐานมาศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้น จากการที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย โลกคอมมิวนิสต์อ่อนลง เพราะฉะนั้นระยะหลังจะเห็นได้ว่า ศาสนาเริ่มเข้ามามีบทบาทในการปรับแต่ง (refine) พฤติกรรมของผู้คนในด้านต่างๆ มากขึ้น
 
การที่ผมมีประสบการณ์ได้พบได้พูดคุยกับผู้คนในกลุ่มนั้น โดยเฉพาะในกรณีของอิสลาม คนนอกควรจะมองให้ชัดเจนให้เข้าใจว่า Fundamentalism ไม่ใช่ Extremist (ผู้ฝักใฝ่แบบสุดขั้ว และใช้ความรุนแรง –ผู้เขียน) แต่ในขณะที่โลกตะวันตกมักจะมองสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกัน ไม่ได้แยกออกจากกัน โดยส่วนตัวของผม กว่าที่จะทำความเข้าใจว่าสองกลุ่มนี้ไม่ใช่พวกเดียวกันก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร และเขาเหล่านั้นก็พยายามทำให้คนอื่นเห็นว่าพวกเขาไม่ใช่กลุ่มเดียวกันกับพวกสุดขั้วและรุนแรง หมายความว่า ถ้าเป็นมุสลิม เราอาจเป็น Fundamentalism แต่ไม่ใช่ Extremist อะไรอย่างนั้น
 
แต่ผมยังไม่แน่ใจในทิศทางของปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่ (จังหวัดชายแดนภาคใต้) ว่ามันมีแนวโน้มไปตรงไหนอย่างไร แต่ในการเข้าถึง Fundamentalism มันเห็นชัดเจนในอินโดนีเซีย ที่ย้อนกลับไปหาพื้นฐานของศาสนาตนเอง
 
DSW: คุณกำลังหมายความว่า เมื่อเกิดความขัดแย้ง ทุกอย่างมันจะย้อนกลับไปสู่รากฐานเดิมของตนอย่างนั้นหรือ?
 
มันเป็นคำถามที่ดี (หัวเราะ) ผมคิดว่าแนวโน้มมันจะเป็นเช่นนั้น แต่ว่ามันยังมีการต่อสู้ระหว่างแนวคิดสองแนวที่กล่าวมา อย่างเช่น ในมาเลเซีย เราจะเห็นชัดเจนว่ามีกลุ่ม Fundamentalist ขึ้นมา แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการพัฒนาประเทศไปในแนวทางที่ไม่ใช่ศาสนา ที่นี้ ในส่วนตัวของผม อยากเห็นมาเลเซียพัฒนาไปในแนวทางที่ไม่ใช่ศาสนานำ แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะออกมาอย่างไร เพราะมันยังมีการชิงอำนาจ ชิงการนำกันอยู่ว่าจะเอาแบบศาสนาหรือทางการเมือง ซึ่งในส่วนตัวผมหวังว่ามาเลเซียควรจะพัฒนาไปในแนวทางเดิม คือใช้การเมืองมานำ แต่สถานการณ์ยังไม่แน่ไม่นอน ทุกอย่างอาจไม่ได้ออกมาอย่างที่ผมหวังก็ได้
 
DSW: จากประสบการณ์ของคุณ ทำอย่างไรให้คนทั่วไปในโลกนี้สามารถแยก Fundamentalism กับ Extremist ออกจากกันได้ อย่างเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของประเทศไทย?
 
ผมคิดว่ามันเป็นการยากมากที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจเช่นนั้น โดยเฉพาะในประเทศไทย เนื่องจากว่า ทั่วโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตกไม่ค่อยสนใจว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่(จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย) เขารู้เพียงว่ามีภัย มีความรุนแรง ฆ่ากัน ซึ่งนั่นคือส่วนยอดนิดเดียวที่เขาสนใจ แต่อะไรที่เกิดขึ้นที่นี่จริงๆ เขาไม่สนใจเลย เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นหน้าที่ของคนในพื้นที่นี้ ที่จำเป็นจะต้องอธิบายหรือส่งสารออกไปให้คนทั่วโลกได้เข้าใจ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่นี่จริงๆ มันไม่ใช่ Fundamentalism ที่นี่มันไม่ใช่ Extremist ความรุนแรงมันเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้เท่านั้น แล้ว ถ้าสมมติว่าเราจะไปถาม คนอเมริกันซึ่งมีการศึกษา ถามในเชิงจิตวิทยาให้จับคู่กัน ถ้าพูดคำหนึ่งขึ้นมา สิ่งที่เขานึกถึงคืออะไร อย่างเช่น เราพูดคำว่า มุสลิม เขาจะบอกทันทีเลยว่า terrorist (ผู้ก่อการร้าย) ปฏิกิริยาแรกของคน พอพูดถึงคนมุสลิมปุ๊บมันจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น มันเป็นหน้าที่ของคุณทั้งหลาย (คนในพื้นที่ –ผู้เขียน) ที่อาจจะต้องส่งสารออกไปว่า มันมีแค่กลุ่มเดียว (เขาหมายถึงกลุ่มคนที่ใช้ความรุนแรง -ผู้เขียน) แต่เรายังมีพัฒนาการทางด้านอื่นๆ ในสังคมที่กำลังจะแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้อยู่.
 
 
 
หมายเหตุส่งท้ายบทสัมภาษณ์: 1.การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ผมจึงไม่ได้เตรียมตัวมากนัก ประเด็นที่ผมถามจึงเกิดขึ้นแบบเฉพาะหน้า คือเอาสิ่งที่เขาสนใจเป็นตัวตั้งคำถาม  
 
2.ขอทำความเข้าใจผู้อ่านก่อนว่า สำหรับนักข่าวหรือคนในแวดวงสื่อมวลชนทั่วโลก รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) ของโจเซฟ พูลิตเซอร์ ที่มอบให้แก่ผู้สื่อข่าวที่ทำงานให้สื่อสิ่งพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ได้รับเกียรติในการมอบความเชื่อถือสูงสุด เป็นประกายฝัน เป็นความปรารถนาของคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ที่ก้าวเข้ามาสู่แวดวงนี้ เหมือนฝันถึงการเป็นนางสาวไทย เป็นพยาบาล เป็นสัตวแพทย์ เป็น ฯลฯ ของเด็กหญิง ฝันอยากเป็นแพทย์ เป็นตำรวจ ทหาร เป็นสถาปนิก เป็น ฯลฯ ของเด็กชาย แต่น้อยรายที่จะก้าวเดินอย่างมุ่งมั่นพอจะถึงฝัน ส่วนใหญ่มักล้มเลิกเสียกลางคัน หรือลืมเลือนมันเสียกลางทาง
 
อาจเป็นเพราะข้อจำกัดมากมาย ที่ผู้ได้รับรางวัลต้องทำงานให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ (หรืออินเทอร์เน็ตที่เพิ่มเข้ามาล่าสุด) ที่มีถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา หรือ ความยากในการผลิตเนื้อหาที่ท้ายที่สุดต้องถูกพิจารณาอย่างเข้มงวดจากคณะกรรมการจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
 
ผู้ได้รับรางวัลนี้ จึงเป็นบุคคลที่น่ายกย่องสูงสุดในวงการวิชาชีพและประชาชนทั่วไป นอกจากเกียรติยศของตัวรางวัล เนื้อหาส่วนใหญ่ของงานข่าวที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ก็มักเป็นเนื้อหาที่กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านใดด้านหนึ่งหรือส่งผลกระทบในวงกว้าง และรับใช้ประชาชนอย่างซื่อสัตย์ในฐานะนักสื่อสารมวลชน