คาตาลูญญาจะรุ่งหรือร่วงหากได้เป็นรัฐเอกราช
ความเป็นรัฐเอกราชมีความซับซ้อนหลายมิติมากกว่าที่เราคิด อย่างเช่น การต่างประเทศ การเงินการคลัง การรักษาความสงบภายใน กองกำลังป้องกันตัวเอง หรือแม้แต่การเป็นหนี้ระหว่างประเทศ ฯลฯ ความปรารถนาจะแยกตัวจากสเปนของคาตาลูญญาทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าคาตาลูญญาจะยืนอยู่ได้ด้วยกำลังความสามารถของตัวเองหรือไม่
ลักษณะความเป็นรัฐ
หากมองโดยผิวเผินแล้ว แคว้นคาตาลูญญามีลักษณะหลายอย่างที่บ่งบอกถึงความเป็นรัฐ เช่น ธง รัฐสภา และนายคาร์เลส ปุกเดมองต์ ที่เป็นผู้นำ
นอกจากนี้ คาตาลูญญายังมีกองกำลังตำรวจของตนเองที่เรียกว่า มอสโซส เดเอสควอดรา มีสำนักงานควบคุมสื่อกระจายเสียง สถานทูตขนาดเล็กในต่างประเทศซึ่งคอยทำหน้าที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุน และยังมีบริการสาธารณะ เช่นโรงเรียน และบริการสาธารณสุข เป็นต้น
- มารู้จักแคว้นคาตาลูญญา ทำไมต้องการเอกราชจากสเปน
- แคว้นคาตาลูญญาเตรียมแยกดินแดน กษัตริย์สเปนมีบทบาทอย่างไร ?
แต่หากจะตั้งตัวเป็นประเทศเอกราช ก็ยังต้องจัดตั้งอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลกลางสเปน เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ กระทรวงกลาโหม ธนาคารกลาง กรมที่ดิน และหน่วยงานควบคุมการจราจรทางอากาศ
คำถามที่ตามมาก็คือ แม้สามารถจัดตั้งหน่วยงานเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ได้ แต่รัฐบาลจะสามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมดหรือไม่?
เหตุผลที่ทำให้ยิ้มได้
สโลแกนของกลุ่มผู้สนับสนุนการแยกตัวที่ว่า "มาดริด โนส โรบา" หรือ "รัฐบาลกลางสเปนกำลังปล้นเรา" เกิดจากการที่แคว้นคาตาลูญญาที่มั่งคั่งกว่า ต้องจ่ายเงินสนับสนุนงบประมาณรัฐบาลกลางเกินกว่าประโยชน์ที่ได้รับกลับคืน
คาตาลูญญามีประชากรประมาณร้อยละ 16 ของสเปน แต่มีสัดส่วนทางเศรษฐกิจร้อยละ 19 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และกว่า 1 ใน 4 ของตัวเลขการส่งออก
นอกจากนี้ คาตาลูญญายังเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว คิดเป็นประมาณ 18 ล้านคน จากทั้งหมด 75 ล้านคนที่เดินทางไปยังสเปนเมื่อปีที่ผ่านมา หรือเรียกได้ว่าเป็นแคว้นที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่สุดของสเปน
เมืองทาราโกนา เป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมเคมีที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป และนครบาร์เซโลนา อยู่ในรายชื่อ 20 เมืองท่าสำคัญของยุโรป จากการจัดอันดับตามน้ำหนักสินค้าเข้าออก
ส่วนประชากรในวัยทำงานของคาตาลูญญา มีประมาณ 1 ใน 3 ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา
ตัวเลขงบประมาณปี 2014 ชี้ว่า ชาวคาตาลันจ่ายภาษีเกินกว่าที่รัฐบาลสเปนให้คืนกลับมา เกือบ 1 หมื่นล้านยูโร (ราว 3.96 แสนล้านบาท) แต่คำถามก็คือ หากแยกตัวแล้ว คาตาลูญญาจะได้เงินส่วนต่างนี้กลับคืนมาหรือไม่? และยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า แม้การประกาศเอกราชจะช่วยให้เก็บเงินภาษีได้เพิ่มขึ้น แต่ก็อาจจะต้องใช้จ่ายไปกับการก่อตั้งหน่วยงานใหม่ที่จำเป็นจนหมด และอาจต้องนำเงินไปลงทุนกับหน่วยงานเหล่านี้อย่างไม่คุ้มค่า
การคิดคำนวณที่ซับซ้อน
อย่างไรก็ตาม คาตาลูญญายังมีหนี้ของรัฐให้คำนึงถึงด้วย โดยรัฐบาลท้องถิ่นเป็นหนี้ 77 พันล้านยูโร (ราว 3.05 ล้านล้านบาท) หรือประมาณร้อยละ 53.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของแคว้น โดยในจำนวนนี้ 52 พันล้านยูโร (ราว 2.06 ล้านล้านบาท) มีรัฐบาลกลางสเปนเป็นเจ้าหนี้
เมื่อปี 2012 รัฐบาลกลางสเปน ได้จัดตั้งกองทุนพิเศษขึ้น เพื่ออัดฉีดเงินสดให้กับแคว้นต่างๆ ซึ่งไม่สามารถกู้ยืมจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศได้ในช่วงหลังจากเกิดวิฤกตการเงิน ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการมา คาตาลูญญาได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด เป็นเงิน 67 พันล้านยูโร (2.65 ล้านล้านบาท)
การแยกตัวจากสเปน ไม่เพียงแต่จะมีผลให้คาตาลูญญาไม่สามารถเข้าถึงโครงการดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เมื่อประกาศเอกราชแล้ว จะจ่ายเงินคืนได้เท่าไร และนี่จะเป็นประเด็นอยู่ในการเจรจาใดๆ ก็ตาม บวกกับคำถามที่ว่า รัฐบาลกลางสเปนจะคาดหวังให้รัฐบาลคาตาลูญญาช่วยแบกรับหนี้ของรัฐบาลสเปนด้วยหรือไม่
การแยกตัวโดยไม่สมัครใจ
นอกจากความยุ่งยากในการแยกระบบเศรษฐกิจออกจากสเปน ซึ่งจะตามมาหลังการประกาศเอกราชแล้ว อำนาจทางเศรษฐกิจของคาตาลูญญา ยังขึ้นอยู่กับสมาชิกภาพอียูด้วย หรืออย่างน้อยการเข้าถึงตลาดร่วม
การส่งออก 2 ใน 3 ของคาตาลูญญา มีคู่ค้าเป็นประเทศในกลุ่มอียู ซึ่งหากแยกตัวจากสเปนแล้ว คาตาลูญญาจะต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ และการจะเข้าถึงตลาดร่วมได้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกชาติสมาชิกอียู รวมถึงสเปนด้วย
ผู้ที่สนับสนุนการประกาศเอกราชบางส่วน มองว่าคาตาลูญญา อาจจะหันไปทำข้อตกลงในแบบเดียวกับนอร์เวย์ได้ โดยเป็นสมาชิกในตลาดร่วมแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู ซึ่งชาวคาตาลันอาจจะยินดีจ่ายค่าเข้า และยอมรับการเข้าออกอย่างเสรีของประชาชนที่ถือสัญชาติสมาชิกอียู ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสเปนว่า จะเลือกทำให้การอยู่อย่างเป็นเอกราชของคาตาลูญญา กลายเป็นเรื่องลำบากหรือไม่