Skip to main content

รัฐทางใต้บราซิลจัดลงประชามติแบ่งแยกประเทศ ตัดพ้อ ปัญหาคอร์รัปชันและผลตอบแทนภาษีที่จ่ายไป

(ลิงค์ต้นฉบับ)

 
รัฐบาลของ ปธน. มิเชล เทเมอร์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์และประท้วงหลายต่อหลายครั้งImage copyrightREUTERS
คำบรรยายภาพรัฐบาลของ ปธน. มิเชล เทเมอร์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์และประท้วงหลายต่อหลายครั้ง

ชาวบราซิลใน 3 รัฐทางใต้ของประเทศร่วมลงคะแนนเสียงประชามติแบ่งแยกประเทศอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวานนี้ (7 ต.ค.) ซึ่งจัดโดยกลุ่มเคลื่อนไหวซึ่งมีชื่อว่า "ภาคใต้คือประเทศของเรา" (The South Is My Country) ผิดหวังกับปัญหาคอร์รัปชัน และผลตอบแทนที่ได้น้อยเมื่อเทียบกับเงินภาษีที่จ่ายให้รัฐไป

การจัดลงประชามติโดยกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนนี้เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (7 ต.ค.) โดยทางกลุ่มเคลื่อนไหวระบุว่าได้จัดตั้งจุดลงคะแนนเสียงในเขตเทศบาลเมืองกว่า 1 พันแห่งใน 3 รัฐทางตอนใต้ของบราซิลอย่าง ริโอ กรานเด โด ซูล, ซานตา คาตารีนา และปารานา

ผู้มาลงคะแนนเสียงในเมืองคูริทิบา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐปารานา บอกกับสื่อท้องถิ่นว่าพวกเขาผิดหวังกับรัฐบาลกลาง และการคอร์รัปชันอันอื้อฉาวซึ่งทำให้นักการเมืองและนักธุรกิจบราซิลหลายสิบคนถูกตั้งข้อกล่าวหา หรือติดคุก อยู่ในขณะนี้

อาคาซิโอ เฟอนานเดส ตอซินิ บอกกับเว็บไซต์ข่าวออนไลน์บอนดี ว่า "ความวุ่นวายด้านการเมืองในประเทศเราถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว เราอยากจะกำจัดรัฐบาลซะ คอร์รัปชันในบราซิลถึงจุดที่แย่ที่สุดแล้ว"

ส่วนผู้มาลงคะแนนเสียงอื่น ๆ ตัดพ้อว่าได้รับผลประโยชน์จากภาษีที่จ่ายไปน้อย โดยเงินภาษีเหล่านั้นเป็นประโยชน์กับภูมิภาคทางเหนือที่มีฐานะยากจนกว่าแต่มีจำนวนผู้ได้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเยอะกว่า

มิเชล เทเมอร์ ปธน. บราซิลคนปัจจุบัน ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตอื้อฉาวเช่นกันImage copyrightAFP
คำบรรยายภาพมิเชล เทเมอร์ ปธน. บราซิลคนปัจจุบัน เป็นหนึ่งในนักการเมืองหลายคนที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตที่อื้อฉาว

เปาโล เมาริซิโอ อะควารอลี กล่าวว่า "ถ้าคุณลองดู 6 หรือ 7 รัฐทางเหนือของเรา (ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เงินภาษีที่จ่ายรวมกันยังไม่เท่ากับที่ 3 รัฐทางใต้ต้องจ่าย ตามสัดส่วนแล้ว พวกเขามีจำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเท่ากับ ริโอ กรานเด โด ซูล, ซานตา คาตารีนา และปารานา"

"ถ้าคุณฟังสำเนียง[ส่วนใหญ่]ของฝ่ายนิติบัญญัติของบราซิล จะเห็นว่าเป็นสำเนียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"

ก่อนหน้านี้ ภาคใต้ของบราซิลเคยมีแนวโน้มที่จะแบ่งแยกดินแดนมาก่อน นับตั้งแต่นายพลชาวอิตาเลียนอย่าง จูเซบี การีบัลดี เคยช่วยให้พวกเขาได้สถานะกึ่งเอกราชเมื่อปี 1836

เมื่อปีที่แล้ว กลุ่มเคลื่อนไหว "ภาคใต้คือประเทศของเรา" ก็จัดลงประชามติเช่นกัน โดยมีผู้มาลงคะแนนเสียง 617,500 ราย โดยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ต้องการที่จะแบกแยกประเทศ

มีชาวบราซิลน้อยคนที่เชื่อว่าการเคลื่อนไหวนี้จะสำเร็จ เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งก็คือรัฐธรรมนูญบราซิลระบุว่าประเทศ "ประกอบไปด้วยรัฐต่าง ๆ ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้"

อย่างไรก็ตาม การลงประชามตินี้เป็นตัวบ่งชี้ว่า ผู้ลงคะแนนเสียงมีความโกรธที่รัฐบาลกลางไม่สามารถปราบปรามความรุนแรงในประเทศได้ และไม่สามารถจัดการกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่าหนึ่งศตวรรษ

นักวิเคราะห์ระบุว่า การคอร์รัปชันอันอื้อฉาวยังได้ทำลายการสนับสนุนที่มีต่อชนชั้นปกครองทางการเมืองทำให้ผลการเลือกตั้งในปีหน้าออกมาได้หลายทาง