Skip to main content

 

รัฐเยียวยาเหยื่อความรุนแรงใต้ จากฝีมือรัฐ 17 ราย

 

มารียัม อัฮหมัด 
ปัตตานี
2017-10-12
171012-TH-violence-1000.jpg
เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบเหตุระเบิดที่ทำให้ทหารพรานเสียชีวิต 4 ราย บนถนนที่มีการวางท่อน้ำใต้ดิน จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560
 เอเอฟพี
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในวันพฤหัสบดี (12 ตุลาคม 2560) นี้ นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินชดเชยแก่ ครอบครัวของเหยื่อ 17 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างปี 2548-2557 รายละประมาณ 1 ล้านบาท

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม กพต. ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหมด 10 กรณี 17 ราย แยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 10 ราย เป็นเงิน 13,590,000 บาท กลุ่มที่ 2 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนระเบียบ กพต. บังคับใช้ 7 ราย จำนวนเงิน 8,031,000 บาท” นายไกรศรกล่าว

ขณะที่ นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาของ กพต. เป็นการพิจารณาจากหลักฐานที่ยืนยันว่า บุคคลที่เสียชีวิต ไม่ใช่กลุ่มขบวนการ แต่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จริงๆ โดยนอกจากเงินเยียวยาตามมติ กพต.แล้ว บุตรของเหยื่อจะได้รับทุนการศึกษาด้วย

"หลักเกณฑ์และรายละเอียดการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบนั้น เมื่อทางพนักงานสอบสวนเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นที่กระทำของเจ้าหน้าที่ เช่น เหตุการณ์หนึ่งที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส คนร้ายขับจักรยานยนต์แล้วยิงเข้าใส่ฐานของทหารพราน จากนั้นทหารที่เข้าเวรอยู่เห็นจักรยานยนต์อีกคันวิ่งมาแล้วหันหัวกลับ ทหารจึงยิงเข้าใส่จนเสียชีวิต แต่เมื่อสอบสวนแล้วกลับพบว่าไม่ใช่แนวร่วมผู้ก่อเหตุ แต่ที่ต้องหันรถกลับเพราะได้ยินเสียงปืน เมื่อเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ก็มีการเยียวยาทันที" นายศุภณัฐกล่าว

“ดูแลค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรจนจบปริญญาตรี การเยียวยานี้เป็นส่วนเพิ่มเติมจากที่ ศอ.บต.ได้เยียวยาไปแล้วรายละ 5 แสนบาท และทาง ศอ.บต.ยังมีหลักเกณฑ์การเยียวยาในเรื่องของอาชีพให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบครอบครัวละไม่เกิน 5 หมื่นบาท” นายศุภณัฐกล่าวเพิ่มเติม

รายชื่อเหยื่อผู้เสียชีวิตที่ครอบครัวจะได้รับการชดเชยมีดังนี้ เหยื่อกลุ่มแรก คือ 1. ด.ญ. ซูไฮลา แตเมาะ 2. ด.ช.มูฮัมหมัดอาซูวัน 3. นายมูฮัมหมัดอายิ ตาเย๊ะ 4. นายอับดุลเลาะห์ สะนิ 5. นายมะกอเซ็ง ลาแซ 6. นายการิง มะ 7. นายสุไฮมี เซ็นและ 8. นายคอลิด มาแม็ง 9. นายมะดารี แมเราะ และ 10. นายซัดดัม วานุ

เหยื่อกลุ่มที่สอง 1.นายฮีสซัน มามะ จำนวน 2.นายอับดุลเลาะ แวแยะ 3. นายนิเล๊าะ บาเห๊ะ 4. นายอาบูคอรี กาสอ 5. ด.ช.สุชีพ รับยูร 6. ด.ช.เจ๊ะมูซอ สาและ 7.นายมัคตา มะมิง

ด้านนายมะหะมะ เซ็นและ บิดาของนายสุไฮมี เซ็น หนึ่งในเหยื่อจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ดีใจที่บุตรชายได้รับการพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ แม้จะต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์นี้

“รู้สึกดีใจที่ ลูกพ้นความผิดจากที่เคยถูกข้อกล่าวหาว่าเป็นคนร้าย กว่าจะได้รับความเป็นธรรมก็ต้องใช้เวลาพอสมควร” นายมะหะมะกล่าว

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-violence-deepsouth-10122017193620.html