สเปนประกาศจะระงับสิทธิในการปกครองตนเองคาตาลูญญา
สำนักงานนายกรัฐมนตรีสเปน ระบุว่า คณะรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตามมาตรา 155 ในรัฐธรรมนูญ เพื่อเข้าควบคุมการปกครองของแคว้น ขณะที่นายคาร์เลส ปุดจ์เดมองต์ ผู้นำคาตาลูญญา กล่าวก่อนหน้านี้ว่า หากสเปน "ยังคงกดขี่เช่นนี้ต่อไป"รัฐสภาของแคว้นจะลงมติประกาศเอกราช
ก่อนหน้านี้ นายคาร์เลส ปุดจ์เดมองต์ ผู้นำคาตาลูญญา มีเวลาถึง 8.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 15.00 น. เวลาไทย เพื่อล้มเลิกความพยายามประกาศเอกราช หลังจากที่รัฐบาลกลางได้ยื่นคำขาดจากสเปนว่าจะเข้าระงับสิทธิในการปกครองตนเองของแคว้นคาตาลูญญา
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากผลการทำประชามติเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ผู้นำคาตาลูญญาได้ลงนามในคำประกาศอิสรภาพแล้ว แต่ให้ระงับเอาไว้ก่อนเพื่อหาทางเจรจากับรัฐบาลกลางสเปน ซึ่งรายงานระบุว่า หากรัฐบาลสเปนเคลื่อนไหวเพื่อเข้าควบคุมแคว้น เขาจะผลักดันให้ประกาศเอกราชให้ได้ ทำให้เกิดความกังวลว่า อาจเกิดความไม่สงบในคาตาลูญญา โดยในช่วงก่อนหน้าจะถึงกำหนดเส้นตายในวันนี้ ได้มีการประท้วงใหญ่ของผู้ไม่เห็นด้วยกับการควบคุมตัวผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการแยกตัวของคาตาลูญญา
จุดยืนของรัฐบาลสเปน
นายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอย ของสเปน ขีดเส้นตายให้นายคาร์เลส ปุดจ์เดมองต์ ให้คำตอบที่ชัดเจนเรื่องการประกาศเอกราช และเรียกร้องให้เขาใช้เหตุผล โดยนายกรัฐมนตรีราฮอย กล่าวต่อรัฐสภาเมื่อวันพุธ (18 ต.ค.) ว่า "มันไม่ได้ยากขนาดนั้นที่จะตอบคำถามว่า คาตาลูญญาประกาศเอกราชไปหรือยัง เพราะหากประกาศแล้ว รัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องลงมือในรูปแบบหนึ่ง แต่หากว่ายัง เราก็จะคุยกันได้"
วันนี้เป็นกำหนดเส้นตายครั้งที่ 2 หลังจากที่รัฐบาลกลางสเปนระบุเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า นายปุดจ์เดมองต์ ยังไม่ได้ให้ความกระจ่างเรื่องการประกาศเอกราช
จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้นำแคว้นคาตาลูญญา ไม่ละทิ้งจุดยืน
หากนายกรัฐมนตรีราฮอย ตัดสินใจว่ารัฐบาลกลางจะเข้าแทรกแซง ก็คาดว่าจะต้องเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีวาระพิเศษ เพื่อหารือถึงมาตรการที่จะใช้
ทั้งนี้นายกฯ สเปน มีกำหนดจะต้องเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอียูที่กรุงบรัสเซลส์ในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี ซึ่งการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีอาจเกิดขึ้นก่อนการเดินทาง แต่ยังมีความเป็นไปได้ว่าจะเลื่อนออกไปจนถึงวันศุกร์
ส่วนเนื้อหาของวาระพิเศษ คือ การกำหนดมาตรการภายใต้มาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญสเปน เพื่อเริ่มถ่ายโอนอำนาจการปกครองจากคาตาลูญญากลับมาเป็นของรัฐบาลกลาง
มาตรา 155 ในรัฐธรรมนูญสเปน ระบุว่า "หากชุมชนที่ปกครองตนเอง ไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือในกฎหมายฉบับอื่น หรือมีพฤติกรรมในทิศทางที่เป็นผลเสียหายร้ายแรงต่อผลประโยชน์ของสเปน รัฐบาล... อาจ... หามาตรการที่จำเป็น เพื่อบังคับให้ชุมชนปฏิบัติตามพันธกรณีได้ หรือเพื่อปกป้องผลประโยชน์โดยรวมอย่างที่กล่าวมาข้างต้น"
มาตรการดังกล่าว อาจหมายถึงการเข้าควบคุมกองกำลังตำรวจ การเงิน ไปจนถึงการประกาศเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหลังจากคณะรัฐมนตรีได้รายละเอียดที่ชัดเจนแล้ว จะต้องส่งให้วุฒิสภาอนุมัติต่อไป โดยพรรคพีพีที่มีแนวนโยบายอนุรักษ์นิยมของนายกรัฐมนตรีราฮอย มีเสียงข้างมากอยู่แล้ว แต่กระบวนการนี้ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มาตรา 155 นี้ ไม่ได้รับรองสิทธิ์ของรัฐบาลสเปนในการระงับสิทธิการปกครองตนเองอย่างเบ็ดเสร็จ ส่วนนายทอม เบอร์ริดจ์ ผู้สื่อข่าวบีบีซี รายงานจากเมืองบาร์เซโลนาว่า สำหรับรัฐบาลกลางสเปนแล้ว นี่เป็นเรื่องของการรักษากฎหมายในแคว้นคาตาลูญญา การปกป้องรัฐธรรมนูญ และการรักษาวินัย แต่ในขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องลดความเสี่ยงที่จะเกิดการประท้วงใหญ่ด้วย
ทางเลือกของผู้นำคาตาลูญญา
สื่อสเปนและคาตาลูญญา รายงานตรงกันว่า หากรัฐบาลสเปนปฏิเสธข้อเรียกร้องขอเจรจาและเข้าระงับสิทธิในการปกครองตนเองของคาตาลูญญา นายปุดจ์เดมองต์จะเดินหน้าต่อกับแผนการประกาศเอกราช
ขณะนี้ ผู้นำคาตาลูญญา กำลังถูกกดดันอย่างหนัก จากหลายกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองซึ่งสนับสนุนการแยกตัว ให้ล้มเลิกคำสั่งระงับการประกาศเอกราช
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา แฟนบอลในเมืองบาร์เซโลนา เรียกร้องให้มีการจราจาทางการเมือง โดยได้คลี่ป้ายขนาดใหญ่ที่มีข้อความว่า "เจรจา เคารพ น้ำใจนักกีฬา"
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในรัฐบาลระบุว่านายปุดจ์เดมองต์มีอีกหนึ่งทางเลือก นั่นคือหากเขาประกาศเลือกตั้งในแคว้นคาตาลูญญา รัฐบาลกลางสเปนก็จะไม่ยกมาตรา 155 มาใช้ ซึ่งทางเลือกนี้จะเปิดโอกาสให้ชาวคาตาลูญญาได้ตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง ในรูปแบบที่รัฐบาลกลางยอมรับได้ ซึ่งต่างจากการทำประชามติ
แต่นายราอูล โรมีวา หัวหน้าสำนักงานนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลท้องถิ่นคาตาลูญญา ระบุเมื่อวันพุธแล้วว่า "การเลือกตั้งยังไม่ใช่ทางเลือกในขณะนี้"