Skip to main content

13 ปีตากใบ: ประสบการณ์ลืมไม่ลงของ “ไทยมุง”

 
 

มามะรีกะห์ บินอุมา

จากจุดเริ่มต้นที่เกิดขึ้นเพียงเพราะ "ความอยากรู้" ได้พาชีวิตของ มามะรีกะห์ บินอุมา ชาวอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส ไปสู่จุด "เฉียดตาย-ติดคุก-เห็นคนตายต่อหน้าต่อตา" กับประสบการณ์ที่ไม่อาจลืมเลือนในโศกนาฏกรรมตากใบ เมื่อ 25 ต.ค. 2547

หลังได้ยินเพื่อนบ้านที่กลับจากตลาดเล่าว่ามีคนจำนวนมากชุมนุมอยู่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอ (สภ.อ.) ตากใบ มามะรีกะห์จึงรุดไปสมทบในฐานะ "ไทยมุง"

เมื่อไปถึงจึงรู้ว่าคนนับพันกำลังเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ที่ถูกทางการตั้งข้อหา-คุมขังในระหว่างการสอบสวนนานกว่าสัปดาห์ เพราะสงสัยว่าพัวพันกับอาวุธปืนที่หายไป แต่ชาวบ้านคิดว่าคนเหล่านั้น "ไม่ผิด"

สิ่งที่ มามะรีกะห์เห็นในช่วง 08.00 น. คือเจ้าหน้าที่กำลังเจรจาให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน แต่พวกเขาไม่ยอม

เวลา 09.00 น. มีเฮลิคอปเตอร์บินวนเหนือศีรษะ ก่อนที่เสียงยิงปืนขึ้นฟ้าจะดังขึ้นนัดแรกราว 10.00 น. แต่ผู้ชุมนุมยังปักหลักอยู่ที่เดิม-ยืดเยื้อไปถึงเวลาละหมาดเที่ยง

ตากใบImage copyrightGETTY IMAGES

กระทั่งเวลา 15.00 น. สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานว่า ผู้ชุมนุมเริ่มขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ และพยายามบุกเข้าไปใน สภ.อ.ตากใบ ทำให้แม่ทัพภาคที่ 4 มีคำสั่ง "สลายการชุมนุม"เริ่มจากการฉีดน้ำใส่ฝูงชน ใช้แก๊สน้ำตา และยิงตอบโต้นาน 30 นาที

ทราบภายหลังว่าผู้ชุมนุมเสียชีวิตทันที 7 คนในเหตุปะทะ ส่วนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย

ผู้มีประสบการณ์ตรงอย่างมามะรีกะห์บอกกับบีบีซีไทยว่า "ผมเห็นคนถูกยิงต่อหน้าต่อตา ส่วนผมหมอบอยู่กับที่ จากนั้นก็นำตัวผู้ชุมนุมไปขึ้นรถบรรทุกทีละคน"

ส่วนมามะรีกะห์ถูกสั่งให้ขึ้นรถเอง โดยเจ้าหน้าที่นำเก้าอี้มาวางให้ปีนขึ้นได้ ก่อนหย่อนตัวซ้อนทับผู้ชุมนุมคนอื่นที่ถูกโยนขึ้นรถไปก่อนหน้า ได้อยู่แถวที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นบนสุด เขาบรรยายสภาพตัวเองว่า "ถูกถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง จนดิ้นไม่ได้"

ชาวบ้านImage copyrightGETTY IMAGES

ตลอดระยะทาง 150 กิโลเมตร จาก สภ.อ.ตากใบ ไปค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ทุกคนถูก "กระบอกปืน" บังคับให้เงียบ นาน ๆ ครั้งถึงมีเสียงร้องขอความช่วยเหลือเล็ดลอดออกมา

"คนที่อยู่ชั้นล่างสุดก็จะดิ้น บอกว่า 'ช่วยด้วย หายใจไม่ออก' พวกเราก็พยายามช่วย โดยขยับ ๆ เพื่อเปิดช่องให้เขาได้หายใจ มันมีทั้งคน (อุจจาระ)ราด (ปัสสาวะ)ราด ช่วงนั้นผมไม่คิดอะไรแล้ว คิดถึงชีวิตอย่างเดียว ความรู้สึกตอนนั้นคือไม่ได้ทำอะไรผิด แค่ไปดู ทำไมต้องเกิดเรื่องแบบนี้ด้วย" มามะรีกะห์ระบุ

เมื่อถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เจ้าหน้าที่สั่งให้ลงจากรถแบบตัวใครตัวมัน ทว่า มามะรีกะห์สังเกตเห็นเพื่อนร่วมทางหลายคนไม่มีโอกาสกลับออกมา เพราะ "นอนตายเกลื่อนอยู่บนรถ"

ข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีนายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นประธาน ระบุว่า มีผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวทั้งหมด 1,370 คน ขึ้นรถบรรทุกจำนวน 22 คัน หรือ 24 คัน ในจำนวนนี้มี 77 คนเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้าย และอีก 1 คนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ผลชันสูตรศพชี้สาเหตุการตายว่าเกิดจาก "ขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน"

 

สถิติในโศกนาฏกรรมตากใบ

7 คน

เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุม

  • 78 คน เสียชีวิตช่วงเคลื่อนย้าย

  • 7 คน สูญหายจากเหตุการณ์

  • 1,370 คน ถูกควบคุมตัวไปสอบสวน

  • 22 หรือ 24 คัน รถบรรทุกที่ใช้เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า เจ้าหน้าที่กระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่ คณะกรรมการอิสระฯ สรุปว่า ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง "ขาดการใช้วิจารณญาณเป็นอย่างมาก ละเลยไม่ดูแลการลำเลียงและเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมให้แล้วเสร็จ แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารระดับชั้นผู้น้อย ที่มีข้อจำกัดด้านประสบการณ์ และมุ่งแต่เพียงปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไปเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบ"

สรุปผลสอบคณะกรรมการอิสระฯ ชี้ 3 นายพลบกพร่อง
- พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี มทภ.4 : ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ขาดความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา
- พล.ต.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร ผบ.พล.ร.5 ผู้ควบคุมกำลังและเป็นหน่วยภาคยุทธวิธีในการสลายการชุมนุม ที่สภ.อ.ตากใบ : ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จากกรณีไม่อยู่ควบคุมดูแลภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วง แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกฯ ที่อำเภอเมือง นราธิวาสโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น
- พล.ต.สินชัย นุตสถิตย์ รอง มทภ.4 ผู้ได้รับคำสั่งจาก มทภ.4 ให้จัดเตรียมน้ำ อาหาร และพื้นที่รองรับผู้ถูกควบคุมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร : ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ครบถ้วนตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จากกรณีพบว่าในรถบรรทุกมีคนตาย แต่กลับมิได้มีคำสั่งหรือดำเนินการใด ๆ กับผู้ควบคุมรถบรรทุกหรือผู้ถูกควบคุมที่จอดรออยู่ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เห็นว่าน่าจะเกิดขึ้น

26 ต.ค. เช้าวันใหม่หลังเกิด "โศกนาฏกรรมตากใบ" กระบวนการสอบสวนผู้ชุมนุมนับพันเพิ่งเริ่มต้น ดำเนินการต่อเนื่องจนถึงเวลาประมาณ 23.00 น. และเป็นเช่นนี้ทุกวัน

ผ่านไป 5 วัน มามะรีกะห์ถูกส่งตัวไปสอบสวนต่อที่ค่ายทหารใน จ.สุราษฎร์ธานี พบว่ามีผู้ชุมนุมกว่า 100 คนรออยู่ก่อนแล้ว

"ผมอยู่ที่นั่นอีก 6 วัน ถูกสอบต่อ พอวันที่ 6 มีการเรียกชื่อเพื่อปล่อยกลับบ้าน ปรากฏว่าไม่มีชื่อผม จึงกลับบ้านไม่ได้ แต่ถูกส่งตัวกลับไปสวบสวนที่ค่ายอิงคยุทธฯ อีกครั้ง ค้าง 1 คืน พอเช้าอีกวัน ก็ถูกคุมตัวไปเข้าคุกที่นราธิวาส เจ้าหน้าที่บอกว่าผมเป็นแกนนำในการชุมนุมซึ่งมีทั้งหมด 58 คน"

ที่เรือนจำนี่เองที่มามะรีกะห์ ผู้ต้องหาคดีร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และอื่น ๆ อีกหลายข้อหา มีโอกาสพบหน้าครอบครัวครั้งแรก พูดคุยเรื่องการประกันตัว ก่อนได้ประกันตัวคนละ 2.5 แสนบาท

ตากใบImage copyrightGETTY IMAGES

"ก็ได้ประกันตัวออกมา แต่ต้องไปที่ศาลทุกเดือน ทั้งหมด 24 เดือนถึงจะจบ สุดท้ายทนายพาผมขึ้นไปพบ รมว.ยุติธรรม ไปร้องเรียนที่กรุงเทพฯ รัฐมนตรีบอกว่า 'พวกคุณกลับไปซะ ไม่มีความผิดแล้ว' ต่อมาอีก 6 วัน อัยการก็ถอนฟ้อง"

หลังหลุดพ้นสถานะ "จำเลย" มามะรีกะห์กับพวกได้รับค่าเยียวยาจิตใจเป็นเงิน 3.2 หมื่นบาท และยังได้วัวอีก 2 ตัวมาเป็น "ค่าทำขวัญ" แต่เขาคิดว่าไม่คุ้มเลยกับเวลา 2 ปีที่เสียไป

ชะตากรรมของคนที่อ้างว่าเป็นเพียง "ไทยมุง" รายนี้ ไม่ต่างจากผู้รอดชีวิต-ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุตากใบรายอื่น ๆ ที่ถูกฟ้องดำเนินคดี 3 คดี

คดีที่เกี่ยวเนื่องจากเหตุตากใบ
- คดีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้ชุมนุมที่รอดชีวิต 59 คน ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป// คดีหมายเลขดำที่ 96/2548// อัยการถอนฟ้อง 9 พ.ย. 2549
- คดีญาติผู้เสียหายฟ้องแพ่งต่อ ก.กลาโหม ก.มหาดไทย ทบ. สตช.// คดีหมายเลขดำที่ 899/2548 903/2548 และ 911/2548 รวมทุนทรัพย์กว่า 107.4 ล้านบาท// ศาลจังหวัดปัตตานีนัดไกล่เกลี่ยและประนีประนอมยอมความ พ.ย. 2549 โดย ทบ.ยอมจ่ายสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 42.2 ล้านบาท แลกกับการถอนฟ้องต่อผู้มีอำนาจสั่งการทั้งหมด
- คดีการไต่สวนกรณีเสียชีวิตของผู้ชุมนุม 78 ราย// คดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8 /2552// ศาลจังหวัดสงขลา พิพากษา 29 พ.ค. 2552 ว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย และผู้ตายทั้งหมดตายเพราะขาดอากาศหายใจระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยคำพิพากษานี้ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้

เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ ไม่เพียงนำไปสู่การสูญเสีย 84 ชีวิต สูญหายอย่างน้อย 7 คน ยังทำให้ความหวาดระแวงขยายวงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

"ช่วงที่กลับมาบ้านใหม่ ๆ กลัวมาก พอค่ำจะปิดประตูเงียบ อยู่แต่ในบ้าน เห็นเจ้าหน้าที่ทหารนี่ยิ่งไปกันใหญ่ เลยต้องไปสะเดาะเคราะห์ทำพิธีต่าง ๆ ผมระแวงเจ้าหน้าที่มาก ถึงแม้เจ้าหน้าที่มาดี มาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ แต่เราก็คิดไปไกลแล้ว มีอะไรอีกหรือเปล่า มาทำไมอีก"

นั่นคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีก่อน และยังตามหลอกหลอนชายผู้นี้มาถึงปัจจุบัน