Skip to main content

ฟังชาวบ้านมาบตาพุดและภาคอุตสาหกรรม หลัง ม.44 ล้มผังเมืองสามจังหวัดเพื่ออีอีซี

(ลิงค์ต้นฉบับ)

 

 
เจ้าหน้าที่กำลังทำความสะอาดหาดของเกาะเสม็ดหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่เมื่อปี 2556Image copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพเจ้าหน้าที่กำลังทำความสะอาดหาดของเกาะเสม็ดหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่เมื่อปี 2556

นักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชนชาวบ้านมาบตาพุดมองว่า การใช้อำนาจ ม.44 ของ หัวหน้า คสช. ยกเลิกกฎหมายผังเมืองสามจังหวัดภาคตะวันออก คือการซ้ำเติมชาวบ้านรอบเขตอุตสาหกรรมมที่เคยเผชิญภาวะมลพิษ ในขณะที่ รัฐบาลและภาคธุรกิจอธิบายว่านี่คือส่วนหนึ่งของมาตรการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาเพื่อสร้างการเติบโตทางศรษฐกิจของประเทศรอบใหม่

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่มีอยู่ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกคําสั่ง ยกเลิกการบังคับใช้ผังเมืองของจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา และให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนผังการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคขึ้นใหม่ ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากชาวบ้านและนักวิชาการถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจจะตามมา

ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับอุตสาหกรรม

"พอรู้เรื่องม. 44 ผมช็อคเลย" เฉลิมพร กล่อมแก้ว แกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกซึ่งต่อสู้เรื่องการควบคุมภาวะมลพิษจากอุตสาหกรรมมาตลอด กล่าวกับบีบีซีไทย "มันเหมือนการลักหลับชาวบ้าน แล้วชาวบ้านจะเหลืออะไรไปสู้กับเขา ความหวังของเราก็คือผังเมืองที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อต้นปีเพื่อลดผลกระทบมลพิษอุตสาหกรรม"

การต่อสู้ของเฉลิมพรเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว เริ่มที่การเรียกร้องเอาที่สาธารณะของชุมชนคืนมาจากกลุ่มอุตสาหกรรม จากนั้นก็ขยายมาเป็นการต่อสู้เพื่อให้มีระบบควบคุมการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เพราะชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะมลพิษที่รั่วไหลหรือปล่อยมาจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอย่างมากทั้งทางอากาศ และน้ำกินน้ำใช้

สถิติของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี พศ. 2550 พบว่าประชาชนในเขตมาบตาพุดและใกล้เคียงได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง โดยมีอัตราป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มสูงกว่าระดับประเทศ และมีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราป่วยโรคเนื้องอกและมะเร็ง เด็กพิการ และโครโมโซมผิดปกติแต่กำเนิดเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในรอบ 8 ปี และกลายเป็นปัญหาเร่งด่วน ที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยตั้งคณะทำงานศึกษาวิจัยหาสาเหตุการป่วยโดยเร็ว ถึงกับวางแผนย้ายรพ.มาบตาพุดออกนอกพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

เด็ก ๆ ที่มาบตาพุดในชุมชนที่อยู่ติดกับโรงงานอุตสาหกรรม (แฟ้มภาพ)Image copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพเด็ก ๆ ที่มาบตาพุดในชุมชนที่อยู่ติดกับโรงงานอุตสาหกรรม (แฟ้มภาพ)

"ตอนนี้ก็เลิกเก็บข้อมูล เลิกศึกษากันไปแล้ว แต่ผมแน่ใจว่าผลกระทบยังคงมีอยู่เพราะไม่มีอะไรที่ได้รับการแก้ไขเลย" เฉลิมพรกล่าว

เฉลิมพรกล่าวอีกว่าการประกาศใช้ผังเมืองเมื่อเดือนมีนาคม 2560 มาจากการต่อสู้มากว่า 2 ทศวรรษ ซึ่งสร้างความอุ่นใจ ให้แก่ภาคประชาสังคม ของระยอง เพราะผังเมืองใหม่เน้นเรื่องเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ ลดพื้นที่อุตสาหกรรม และจัดสรรพื้นที่กันชน ไปมากกว่าที่เคยมีมาแต่เดิม ซึ่งเฉลิมพรบอกว่าเป็นความหวังที่จะทำให้เกิดการพัฒนาสมดุลระหว่างระบบนิเวศน์กับอุตสาหกรรมขึ้น

อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับได้รับผลกระทบจากผังเมืองใหม่เป็นอย่างมาก

นายเอกรัตน์ ทองธวัช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าได้เสนอขอให้ทางรัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงผังเมืองเทศบาลมาบตาพุด "ให้มีความชัดเจนโดยเร็ว" โดยให้เหตุผลว่านักลงทุนทั้งรายเก่าและรายใหม่ไม่สามารถตัดสินใจเดินหน้าลงทุนต่อไปได้ ซึ่งหากไม่มีการขยายพื้นที่สีม่วง(เขตอุตสาหกรรม) หรือปรับผังเมืองใหม่ ก็จะทำให้การลงทุนจะต้องสะดุดลง

เหตุการณ์สิ่งแวดล้อมสำคัญของมาบตาพุด

  • 2532 ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
  • 2534 เกิดปัญหาเรื่องกลิ่นรบกวนจากโรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่น สืบเนื่องจากพื้นที่ตั้งของโรงงานอยู่ใกล้กับชุมชน ขาดพื้นที่กันชน
  • 2548 เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความระแวงในการแย่งน้ำใช้ระหว่างชุมชนกับภาคอุตสาหกรรม
  • 2550 จากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทำให้องค์กรเอกชนเคลื่อนไหวรณรงค์ให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ
  • 2552 ศาลปกครองให้ระงับชั่วคราวการดำเนินงาน 76 โครงการ ในเขตอุตสาหรรมมาบตาพุดตามคำร้องของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม
  • 2560 เดือนมีนาคม ประกาศใช้ผังเมืองฉบับใหม่ของระยองและชลบุรี
  • 2560 คสช. ออกคำสั่ง ม.44 เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ล้มผังเมืองที่เพิ่งประกาศ

ล้างไพ่ใหม่ด้วยม.44

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 47/2560 ที่ประกาศออกมาเมื่อ 25 ต.ค. เรื่อง มิให้นำกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองมาใช้บังคับ และให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่แถบนี้เสียใหม่ก็เท่ากับ "เป็นการล้างไพ่ใหม่หมด" ตามคำกล่าวของดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภาคตะวันออก

ดร.สมนึกตั้งข้อสังเกตว่า คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม นั่นคือ ในช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เพียงเพื่อต้องการผลักดันให้โครงการในพื้นที่อีอีซีผ่านโดยเร็ว โดยไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและไม่ได้คำนึงถึงกฎหมายที่มีบังคับใช้อยู่

"ทำไม คสช. ไม่ออกมาบอกว่าให้ใช้ผังเมืองเดิมไปก่อน เขาสั่งยกเลิกไปเพื่อให้กิจการต่างๆ สามารถมายื่นขอในช่วงที่ยกเลิกไปได้.....คุณหักหลักการของการมีส่วนร่วมประชาชนทิ้งไปเลย" เขากล่าว

ดร.สมนึกกล่าวว่ามีโอกาสสูงที่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) จะพิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆ เพราะไม่มีผังเมืองรวมควบคุมแล้ว เช่น โครงการถมทะเลมาบตาพุดเฟส 3 มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว แต่ คชก. ยังไม่อนุมัติเนื่องจากอาจติดเรื่องผังเมือง

ชุมชนที่อยู่ที่กับโรงงานอุตสาหกรรมมักได้รับผลกระทบจากภาวะมลพิษอยู่เสมอImage copyrightGETTY IMAGES
คำบรรยายภาพชุมชนที่อยู่ที่กับโรงงานอุตสาหกรรมมักได้รับผลกระทบจากภาวะมลพิษอยู่เสมอ

"มันมีโครงการอื่น ๆ อีกเยอะที่อาจทับที่ป่า หรือที่ ๆ เขาบอกเราไม่ได้ เช่น ป่าอนุรักษ์ หรือที่อนุรักษ์สำหรับการเกษตร เพราะถ้าบอกไว้ก่อน เดี๋ยวประชาชนประท้วง และราคาที่ดินจะขึ้น แต่ในช่วงสูญญากาศเขาจะจิ้มเป้าว่าจุดไหนบ้างเป็นอะไรบ้าง" ดร.สมนึกกล่าว

นักธุรกิจขานรับกับการล้มผังเมือง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่เมื่อมาศึกษาแล้วบางคนมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องผังเมืองและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เช่น ผังเมืองเดิมที่กำหนดไว้ ทำให้บางส่วนที่ต่อขยายทับพื้นที่ที่ไม่สามารถขยายได้ ทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจว่าเมื่อมาลงทุนแล้วจะติดปัญหาเหล่านี้

"การที่ คสช. ใช้มาตรการตรงนี้ปลดล็อค จะสร้างความมั่นใจนักลงทุนไทยและต่างประเทศ" นายเกรียงไกรกล่าวกับบีบีซีไทย

ทั้งนี้ อีอีซีเป็นนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในการสร้างศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใน จ.ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี โดยรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง

นายเกรียงไกรกล่าวว่า มีนักลงทุนจำนวนมากจากหลายประเทศติดต่อผ่านสภาอุตสาหกรรมฯ ให้ช่วยจับคู่ทางธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยด้วย เนื่องจากใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่ไทยยังไม่มีเทคโนโลยี

อีอีซี: พรบ.อีอีซีกำลังจะตามมา

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวกับบีบีซีไทยว่าผังเมืองอย่างเดียวไม่ได้ดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเท่าไรนัก สิ่งที่นักลงทุนรายใหญ่ต้องการเห็นก็คือพระราชบัญญัติการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพราะเป็นสิ่งที่รับประกันได้ว่าแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลในอนาคตแต่อีอีซียังคงอยู่ต่อไป

"คิดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้จะออกมาเป็นกฎหมายได้" ดร.คณิศกล่าว และเสริมว่ารัฐบาลคาดว่าการลงทุนน่าจะเริ่มเข้ามาในปลายปี 2560 หรือต้นปีหน้า "น่าจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาได้ถึงห้าแสนล้านบาทในช่วงห้าปีข้างหน้า"

ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ดร.คณิศชี้แจงว่าอุตสาหกรรมในอีอีซีจะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนอุตสาหกรรมที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น การซ่อมแซมอากาศยาน อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ

"เราเชื่อว่าอีอีซีไม่ได้ทำให้สิ่งแวดล้อมเลวลงแน่นอน ที่สำคัญเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน"

อย่างไรก็ตามเฉลิมพรไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เลย เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขาไม่วางใจ เขาบอกว่าชาวบ้านมาบตาพุดก็ต้องสู้ต่อไปกับภาวะมลพิษกันต่อ

"ไม่รู้ต้องติดคุกกันก่อนหรือเปล่านะ แต่เราต้องหาทางคัดค้านคำสั่งให้ได้"