รัฐสภาคาตาลูญญาชิงประกาศเอกราชขณะรัฐบาลสเปนขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ

รัฐสภาคาตาลูญญาลงมติท่วมท้นเห็นชอบให้ประกาศเอกราชจากสเปน หลังรัฐบาลสเปนมีท่าทีจะเข้ามายึดอำนาจควบคุมการปกครอง
นายกรัฐมนตรีมาริอาโน ราฮอย ของสเปน กล่าวต่อสมาชิกวุฒิสภาก่อนหน้านี้ว่า จำเป็นต้องเข้าปกครองแคว้นคาตาลูญญาโดยตรง เพื่อคืน "กฎหมาย, ประชาธิปไตย และเสถียรภาพ" ให้แก่แคว้นคาตาลูญญา
วิกฤตนี้เริ่มขึ้นเมื่อชาวคาตาลันลงประชามติสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช โดยรัฐบาลคาตาลูญญาระบุว่า 90% ของผู้ลงประชามติ สนับสนุนการเป็นเอกราช แต่ศาลรัฐธรรมนูญของสเปนตัดสินว่าการลงประชามตินี้ขัดต่อกฎหมาย

มติให้ประกาศเอกราชจากสเปนได้รับการรับรองจากสมาชิกรัฐสภาคาตาลูญญา 70 เสียง คัดค้าน 10 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 135 คน
หลังจากการประกาศเอกราชของแคว้นคาตาลูญญา นายกรัฐมนตรีสเปนได้ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ และรับปากว่าจะ "คืนความชอบธรรม" ให้แก่แคว้นคาตาลูญญา
วุฒิสภาสเปนยังคงต้องลงมติว่าจะบังคับใช้มาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญสเปนเป็นครั้งแรกหรือไม่ โดยกฎหมายนี้จะให้อำนาจรัฐบาลในการ "ใช้มาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อสั่งการ" ในภูมิภาคกรณีเกิดเหตุวิกฤต ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลสเปนสามารถปลดผู้นำของแคว้นคาตาลูญญาได้ และเข้าควบคุมด้านการเงิน ตำรวจ และสื่อสาธารณะของแคว้นได้