Skip to main content

 

Bilim ve Sanat Vakfı :

ประสบการณ์การก่อร่างและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคมทางความคิดของตุรกี

 

อิมรอน ซาเหาะ, ยาสมิน ซัตตาร์

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Patani Forum

 

 

       เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้องค์กรหลายองค์กรในประเทศตุรกี แต่มีหนึ่งองค์กรที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจ นั่นคือ BILIM VE SANAT VAKFI ที่ตั้งอยู่ในนครอิสตันบูล  องค์กรนี้นับได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวของกลุ่มองค์กรทางความคิดที่น่าสนใจ แม้ว่าในประเทศตุรกีจะมีหลายองค์กรทางความคิดที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่จุดที่น่าสนใจหนึ่งของที่นี่ก็คือ เป็นองค์กรภาคประชาสังคมทางความคิด ที่ถูกก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนหนุ่มสาว ในสมัยที่ ศ.ดร.อะห์เม็ต ดาวุดโอก์ลูว์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศตุรกี ผู้ที่นำเสนอและสานต่อแนวคิดนโยบายต่างประเทศแบบใหม่ของตุรกีที่เน้นการนำเอาจุดเด่นของตุรกีในด้านประวัติศาสตร์และที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์มาเป็นยุทธศาสตร์การจัดการกิจการระหว่างประเทศของตุรกี ดาวุดโอก์ลูว์และผองเพื่อนเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มๆ สาวๆ ได้ร่วมกันก่อตั้งวงถกเถียงประเด็นจากหนังสือเล่มเดียวกันที่ทุกคนในห้องเล็กๆ ต้องอ่านมาก่อนเมื่อครั้งเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยบอสฟอรัส จนค่อยๆ ขยับขยายเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1986

       โดยปกติแล้วหากกล่าวถึงองค์กรทางความคิด แน่นอนว่ามักจะเป็นองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานศึกษาวิจัยเพื่อนำไปสู่การสร้างข้อเสนอแนะต่อนโยบายภาครัฐในมิติต่างๆ หากแต่สำหรับองค์กรนี้ระบุว่าพวกเขาเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ในทางวิชาการ และเป็นแหล่งให้นักวิชาการรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการดำเนินงานวิจัย แม้ว่ากลุ่มคนที่เข้ามาร่วมหรือบริหารจะมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่องค์กรนี้ก็ไม่ได้เน้นในการเข้าไปในพื้นที่ทางการเมืองหรือเสนอแนะนโยบายแต่อย่างใด เพื่อให้องค์กรมีความอิสระในการทำงาน เมื่อไม่ได้มีความข้องเกี่ยวกับงานของภาครัฐ งบประมาณที่สนับสนุนจึงมาจากแหล่งอื่น โดยพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มนักธุรกิจที่ต้องการสร้างประโยชน์แก่สังคม รวมทั้งมีการผลิตหนังสือและวารสารเพื่อขายหมุนเวียนงบประมาณสำหรับองค์กรเอง การทำงานลักษณะนี้จึงมีลักษณะที่เป็นอิสระจากแหล่งทุนของภาครัฐและต่างชาติ  

       การเริ่มต้นขององค์กรจากห้องเล็กๆ ขยับขยายมาสู่ตึกอาคารในปี พ.ศ. 2001 ซึ่งเป็นอาคารที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากเครือข่ายธุรกิจ Ülker ของตุรกี โดยอาคารนี้มีห้องเรียน ห้องสัมมนา ตลอดจนห้องสมุดที่เป็นแหล่งให้นักวิจัยรุ่นใหม่ รวมถึงนักศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไปสามารถเข้ามาใช้เพื่อหาข้อมูล นอกจากนั้นจะเปิดสอนหลากหลายหลักสูตรทุกวันอาทิตย์ให้กับนักศึกษาในแต่ละเทอม โดยนักศึกษาจะต้องผ่านการคัดเลือกและเข้ามาเรียนโดยมีผู้สอนมาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อาสามาทำงานโดยไม่มีค่าตอบแทน  ทางองค์กรยังมีการจัดเสวนาหรือมีการเชิญอาจารย์จากทั้งในและต่างประเทศ แม้แต่นักวิชาการด้านสันติศึกษาชื่อดังอย่าง ศ.ดร.โยฮัน กัลตุง ก็เคยถูกเชิญให้มาแลกเปลี่ยนในองค์กรเล็กๆ แห่งนี้ด้วย นักศึกษา ป.โท และ ป.เอก ก็ยังมีโอกาสใช้พื้นที่แห้งนี้มานำเสนองานวิจัยทุกสัปดาห์ผ่านการคัดเลือกหัวข้อของคณะทำงาน โดยเปิดให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาฟังและร่วมแลกเปลี่ยนได้

       ขณะเดียวกันก็จะมีกลุ่มที่ร่วมกันจัดวงถกเถียงแลกเปลี่ยนผ่านหนังสือต่างๆ โดยจัดเป็นกลุ่มเล็กๆ ในประเด็นที่หลากหลาย นอกจากนั้นแล้วยังมีศูนย์วิจัยใน 4 สาขาที่น่าสนใจ คือ ด้านอารยธรรม ตุรกีศึกษา ด้านศิลปะ และด้านการเมืองโลก  ซึ่งจะมีนักวิจัยประจำ อีกทั้งยังมีฝ่ายบรรณาธิการผลิตหนังสือวิชาการโดยเฉพาะที่มีทั้งหนังสือเขียนใหม่หรือหนังสือแปล องค์กรนี้ยังมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ตุรกีที่น่าสนใจ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ดำเนินการโดยคนทำงานเพียง 35 คน เป้าหมายสำคัญของที่นี้ก็เพื่อสร้างนักวิชาการรุ่นใหม่ และสร้างแหล่งเรียนรู้สำหรับงานศึกษาต่างๆ ให้ไปสู่สาธารณะนั่นเอง องค์กรนี้ยังขยับขยายตนเองไปสู่การตั้งมหาวิทยาลัย โดยมีการทำงานร่วมกันในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาที่มีความต้องการจะเดินในทางวิชาการต่อไปให้มีความสามารถเพียงพอ

       แน่นอนว่าในตุรกีไม่ได้มีเพียงแค่ Bilim Sanat ที่ทำหน้าที่เป็นเวทีพัฒนาศักยภาพทางงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ หากแต่มีอีกหลายๆ องค์กรที่ถูกตั้งขึ้นจากการรวมตัวของนักวิชาการเช่นเดียวกัน เช่น TASAM (Turkish Asian Center for Strategic Studies), ISAM Islamic Research Center , หรือ ILAM (Ilmi Arastirmalar Merkezi เป็นต้น ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายกัน แต่มีประเด็นเน้นคนละจุด นอกจากนั้นก็มีองค์กรวิจัยที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัย อีกหลายองค์กร เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์กรที่ดำเนินงานด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มองค์กรหรือกลุ่มธุรกิจ และได้รับการหนุนเสริมจากหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยของรัฐบาลเป็นรายโครงการ การเติบโตของพื้นที่ลักษณะนี้ในตุรกีมีความคล้ายคลึงกับอีกหลายๆประเทศในยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา  นั่นเอง

       สิ่งที่กลายมาเป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้เขียน เมื่อได้เห็นระบบการทำงานและศักยภาพในการทำงานทั้งหมดนี้ นั่นคือ แรงสนับสนุนที่ทำให้การทำงานนี้ขับเคลื่อนต่อไปได้คืออะไร แน่นอนว่าทางองค์กรเองก็มีความพยายามในการทำหนังสือและวารสาร ตลอดจนมีอาสาสมัครที่เข้ามาทำงาน แต่อีกหนึ่งแรงสนับสนุนขององค์กรแห่งนี้คือ กลุ่มธุรกิจในประเทศที่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชน ในมิติหนึ่งนี่อาจจะเป็นลักษณะของความรับผิดชอบต่อสังคมที่ธุรกิจพึงมีและเป็นที่คาดหวังว่านักธุรกิจจะแสดงบทบาทนี้ แต่ในอีกมิตินับเป็นที่น่าสนใจเมื่อนักธุรกิจหันมาสนับสนุนองค์กรทางวิชาการที่ไม่ใช่องค์กรวิชาการของบริษัทเอง หรือเป็นองค์กรวิชาการที่ศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท

       แน่นอนว่า ประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนย้อนคิดกลับมาสู่ประเทศไทยและพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ว่าเรามีองค์กรลักษณะนี้ที่เอื้อให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการพัฒนาศักยภาพหรือไม่ เรามีกลุ่มคนผู้ใหญ่ที่เล็งเห็นว่าต้องสานต่อและพัฒนางานวิชาการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศหรือสังคมต่อไปหรือไม่ เรามีกลุ่มธุรกิจที่พร้อมสนับสนุนงานในมิติที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ของธุรกิจหรือไม่ และถึงที่สุดแล้วหากมีองค์กรลักษณะนี้แล้วจะมีเยาวชนที่สนใจและร่วมมือในการพัฒนาองค์กรต่อไปหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่น่าสนใจต่อการพัฒนาศักยภาพของคนในประเทศและในพื้นที่

       แม้ว่าในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีเองจะมีนักธุรกิจซึ่งบริจาคเงินเพื่อการกุศลเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดเจนก็คืออาคารใหญ่โตทั้งในโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย ได้มาจากการบริจาคของนักธุรกิจ ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้จะยังประโยชน์ต่อสังคมไปอีกนานแสนนาน สำหรับมุสลิมแล้วการบริจาคเพื่อสร้างสิ่งถาวรในลักษณะดังกล่าวนี้ถือเป็นการบริจาคเพื่อสาธารณกุศลที่เมื่อตัวคนบริจาคเสียชีวิตไปแล้ว ผลบุญที่ยังคงได้รับตลอดไปตราบใดที่ยังมีคนใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น การบริจาคในลักษณะดังกล่าวนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีงาม เพราะแม้ว่าทั้งสองสถาบันข้างต้นจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริการประชาชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ล่าสุดนี้มีนักร้องชื่อดังทำกิจกรรมวิ่งจากใต้สุดไปจนถึงเหนือสุดของประเทศเพื่อรับบริจาคให้กับโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่งทั่วประเทศ

       แต่ในพื้นที่แห่งนี้เช่นเดียวกัน กลับยังไม่พบเห็นเป็นที่เด่นชัดถึงการบริจาคของนักธุรกิจที่มอบแก่ภาคประชาสังคมหรือองค์กรที่ทำงานด้านอาสาเพื่อสังคมอย่างที่ BILIM SANAT ได้รับการสนับสนุนในตุรกี โดยเฉพาะองค์กรที่ทำงานด้านการสร้างและพัฒนาทรัพยากรบุคคล หรือในพื้นที่แห่งนี้มีองค์กรที่ทำงานด้านการสร้างสันติภาพซึ่งก็ถือว่าสำคัญในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งถึงตาย เพราะหากนักธุรกิจที่มีเงินเป็นจำนวนมากบริจาคให้แก่องค์กรที่อาสาทำงานเพื่อสังคมแล้ว องค์กรที่ได้รับบริจาคในส่วนนี้ก็จะได้ทำงานเพื่อสังคมอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องปากท้องของทีมงานและครอบครัว ซึ่งนักทำงานเพื่อสังคมเองก็มีครอบครัวให้ต้องดูแลเช่นเดียวกัน อีกทั้งการที่นักธุรกิจบริจาคเงินย่อมไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แอบแฝง องค์กรอาสาที่รับเงินมาทำงานเองก็จะได้ทำงานอย่างสบายใจโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกมองว่าไม่เป็นกลาง ซึ่งสำคัญมากในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง

       แน่นอนว่าการบริจาคเพื่อสร้างอาคารต่างๆ อันจะยังประโยชน์ต่อสังคมในภายภาคหน้าถือเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการบริจาคเพื่อสนับสนุนองค์กรที่ทำหน้าที่ผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในการที่จะเข้าไปบริหารจัดการในอาคารต่างๆ เหล่านั้นด้วย เพราะคำถามที่สำคัญก็คือหากไม่มีทรัพยากรบุคคลที่ดีและมีคุณภาพเข้าไปบริหารจัดในสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ทุกท่านร่วมบริจาคแล้ว อะไรคือหลักประกันว่าเงินบริจาคที่ท่านร่วมบริจาคเพื่อสร้างอาคารต่างๆ จะยังประโยชน์ต่อสังคมได้เต็มที่จริงๆ?

       เมื่อนักธุรกิจที่ส่วนใหญ่ตระหนักได้ว่าการที่จะทำให้สังคมดีขึ้นได้ ทุกๆ คนในสังคมย่อมจะต้องมีส่วนในการร่วมด้วยช่วยกัน แม้ว่าจะมีความพยายามของนักธุรกิจที่ผ่านมาในการช่วยเหลือในหลากมิติของพื้นที่ แต่การใช้งบประมาณเพื่อคืนทุนต่อสังคมนี้ กลับยังไม่มีความหลากหลายและยั่งยืนเพียงพอ บางครั้งการหันมาสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคล รวมไปถึงสนับสนุนด้านการทำงานอาสาเพื่อสังคม อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้สังคมชายแดนใต้กลายเป็นพื้นที่แห่งความรู้ได้มากยิ่งขึ้นก็อาจเป็นได้ และอาจส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไปได้