Skip to main content

       เราออกจาก บขส.ตรังประมาณ 8.30 น. และใช้เวลาในการเดินทาง ประมาณสามชั่วโมง ก็ถึง บขส.กระบี่ จากนั้นก็นั่งรถสองแถวมาจอดที่ท่าเรือสวนสาธารณะธารา แล้วต่อเรือประมาณ สิบนาที ก็ถึง เกาะกลาง จังหวัดกระบี่ ระหว่างที่นั่งเรือนั้น สัมผัสได้เลยว่า ที่นี่อุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นอย่างมาก ทำให้เห็นเลยว่า การอยู่ร่วมกัน ธรรมชาติ กับ คนที่เป็นเจ้าถิ่น และ เเขกที่มาเยือนต่างทะนุถนอมทรัพยากรเหล่านี้มาก เพราะขณะที่เรือกำลังล่องไปยังฝั่งของเกาะกลาง แอบสังเกต ไม่เห็นขยะเลย

       เมื่อมาถึงเกาะกลาง ได้นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อมาส่งที่ พัก ซึ่งครั้งนี้ มาพักกันที่ "คิดถึงโฮมสเตย์"

        "กะมูนา"(เจ้าของคิดถึงโฮมสเตย์) เปิดประตูต้อนรับเข้าสู่โฮมสเตย์ที่น่ารักมาก ชอบวิธีการตกแต่งบ้าน แถมบริเวณบ้านเต็มไปด้วย ดอกไม้ ต้นไม้ ที่ปลูกรายล้อมบ้าน ให้ความสดชื่นแก่ผู้ที่เข้ามาทักทาย โฮมสเตย์แห่งนี้

       รีบจัดการธุระส่วนตัวเสร็จ กะมูนา ชวนปั่นจักรยานเพื่อไปนั่งกิน ส้มตำ ที่ "บ้านส้มตำ" ถูกแล้วคะ บ้านส้มตำเป็นบ้านที่จำหน่ายส้มตำไก่ทอดที่ใช้บ้านของเจ้าของร้านเป็นร้าน และให้ลูกค้าสามารถเข้าไปในบ้านนั่งริมระเบียง

      นอกระเบียงบ้านก็จะเป็นทะเลที่ผู้คนสัญจรไปมา ทานพลาง คุยพลาง ได้บรรยากาศไปอีกแบบ

      "กะมูนา" เป็นคนกันเองมาก คุยสนุก ทั้งยังแนะนำสถานที่สำคัญๆในเกาะกลางให้อีกด้วย เหมือนได้เที่ยวกับพี่สาวเลยล่ะ หลังจากทานส้มตำเสร็จ เราปั่นจักรยานไปชมทะเล เป็นทะเลที่สามารถไปยังเกาะต่างๆ ได้ ซึ่งเวลาที่ไปตอนนั้น เป็นช่วงน้ำลง ได้เห็นหาดทรายอย่างกว้างมหาศาลมาก มีต้นโกงกางน้อย ใหญ่ เรียงกันเป็นแถว ทั้งยังมี ต้นไม้ที่เกาะกันเป็น ความรู้สึกเหมือนอยู่ในทะเลทรายยังไง อย่างนั้นเลย

       แอบคิดเสมอเมื่อได้มาทะเล ว่า คนที่ผูกพันธ์กับทะเล เช่น ชาวประมง หรือ คนขับเรือโดยสาร เขาต้องเป็นคนที่ใจนิ่งมากๆแน่เล เพราะมีคนเคยบอกฉันว่า คนที่ทำอาชีพกับเรือ กับทะเล ชีวิตเหมือนอยู่บนเส้นด้าย ถ้ารอดก็ได้ปลา ปู กุ้ง กลับบ้าน แต่ถ้าไม่รอด ก็จะตกไปในทะเล พูดแล้วเศร้า ถือเป็นอาชีพที่เสียสละอีกหนึ่งอาชีพเลยทีเดียว

       หลังจากชมความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเสร็จแล้ว "กะมูนา" พาไปทำ ผ้ามัดย้อม บ้าน"กะนิด" (ถ้าจำชื่อไม่ผิด) เธอเป็นประธานกลุ่ม มัดย้อม ขณะที่ทำผ้ามัดย้อมอยู่นั้น เราก็คุยกันไปเรื่อย ถามเธอว่าเป็นคนที่ไหน อยู่เกาะกลางนานหรือยัง คุยไปคุยมา เหมือนจะเป็นคนคอเดียวกัน ยิ่งเพิ่มอรรถรสในการพูดคุยมากขึ้น มากพอที่ทำให้ผ้ามัดย้อมที่ทำเสร็จสิ้นกระบวนการ

       คิดว่าอย่างหนึ่งที่เป็นกำไรในการมาเที่ยวคนเดียว คือ เรากล้าที่จะทักทาย พูดคุย กับผู้คนที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน แล้วสานสัมพันธ์ให้เกิดมิตรภาพใหม่ขึ้นมา

       เสร็จจากนั้นเราปั่นจักรยานชมหมู่บ้านในยามเย็น ผู้คนในชุมชนนี้น่ารัก ยิ้มแย้ม ทักทาย เป็นเจ้าถิ่นที่พร้อมจะเปิดรับ คนจากต่างถิ่นเข้ามาเยี่ยมเกือบค่ำแล้วสิ เราจึงรีบปั่นจักรยาน ก่อนที่จะค่ำมากกว่านี้ เพื่อไปทานอาหารเย็น บ้าน "มะอร" อาหารมีหลากหลายมาก อร่อยด้วย โดยเฉพาะเสียงการดูด แกงหอยจุ๊บแจง ที่ผสมเครื่องแกงที่เผ็ด ระอุทั่วท้องกันเลยทีเดียว พิมพ์ไป น้ำลายจะไหล กับข้าวที่ "มะอร" ทำอร่อยเกือบทุกอย่าง ยังติดใจ หอยจุ๊บแจงไม่หาย เผ็ดก็เผ็ด อยากกินก็อยากกิน มือข้างซ้ายก็กำทิชชูเพื่อซับน้ำตากันไป

        แต่ความเผ็ดนั้นถูกล้างด้วย โรตีลาวาช็อคโกแลตชีส ในหมู่บ้าน เป็นร้านโรตีเล็กๆ ที่ผู้คนในชุมชนมักพาคนต่างถิ่นมาชิม และ มาพบปะกันที่ร้านนี้ ร้านแห่งนี้ มีโรตีจำหน่าย หลากหลายรสชาติมาก คำแรกที่เข้าไปในปาก อร่อย นุ่ม ไม่เหนียว ไม่คิดว่ารสชาติของช็อกโกแลต กับ ชีส จะเข้ากันได้

       ค่ำคืนนี้ คงได้นอนอย่างสบาย เพราะบรรยากาศสงบมาก ทิ้งตัวลงนอนแทบไม่ได้ฝันอะไร

       เช้าวันรุ่งขึ้น ได้ไปชิมอาหารเช้าในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า จังหวัดสงขลาขึ้นไป เขาจะกินขนมจีนเป็นอาหารเช้า เช้าวันนั้นเลยจัดไปหนึ่งจาน กับโรตีร้อนๆ อีกหนึ่งจาน อร่อย เข้ากันได้ดีเลยล่ะ สโลไลฟ์มากเลยเช้านี้

       หลังจากนั้น บังมัตถ์ (เจ้าของโฮมสเตย์ หรือ แฟนกะมูนา) บังก็เป็นคนกันเองเช่นเดียวกัน คุยสนุก ข้อมูลเพียบในการแนะนำสิ่งดีๆในชุมชน ชวนไปดู กลุ่ม เรือหัวโทง ช่วงที่ไปหาเจ้าของกลุ่ม โชคดีมากได้เห็นบังมิด(ประธานกลุ่ม ถ้าจำชื่อไม่ผิด อิอิ) เขากำลังประกอบเรือจีนในสมัยก่อนโดยมีลูกค้าสั่งออร์เดอร์ ทางไลน์ส่วนตัวของบังมิด พร้อมส่งรูปแบบทางไลน์ งานนี้ต้องชื่อชมบังมิดมากว่า สามารถที่จะดูแบบเรือเพียงในรูปที่ส่งมา สามารถประกอบได้เลย บังมิดบอกว่า "ส่วนตัวชอบการทำเรือตั้งแต่เด็กๆ เพราะพ่อของบังมิดจะมีอาชีพทำเรือเลยได้รับวิชาจากพ่อมาเเบบเต็ม" อีกทั้งบังมิดยังเล่าอีกว่า "สมัยก่อน เกาะกลางมีความอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ออกเรือบ้าง ทำสวนบ้าง " อีกหลายเรื่องที่บังมิดได้เล่า "มันทำให้คิดเลยว่า คนสมัยก่อนเขาอยู่กันอย่างไร ถ้าชีวิตไม่ต้องเร่งรีบอะไร กลับมามองที่ตัวเราตอนนี้ เร่งรีบอะไรกันหนอ 555 "

       ก่อนกลับ บังมิดได้สาธิตวิธีการจุดไฟในสมัยก่อน โดยบังได้บอกว่า ได้ความรู้นี้จากคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน บังมิดจึงศึกษา เพราะบังคิดว่า ภูมิปัญญาในสมัยก่อนเหมือนเพชร เหมือนทองเลยน่ะ มันมีคุณค่ามากเลย หากเราได้ศึกษาอย่างจริงๆ จังๆ

       ก่อนกลับจากเกาะกลาง ได้ถามกะมูนาว่าบนเกาะนี้มีที่จำหน่ายโพสต์การ์ดใหม กะมูนาบอกว่าไม่มี แต่จะทำไหม เดี่ยวกะจะหาอุปกรณ์ทำ เราก็อึ้ง ทำอย่างไรเอ่ย กะมูนาเลยจัดการ หาอุปกรณ์ วัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อเอามาเป็นสี ในการเขียนบนกระดาษสีขาวให้เป็นโพสต์การ์ด เวริคอะ โพสต์การ์ดนี้มีแค่ใบเดียวในโลก ไม่เหมือนใคร ซึ่งขณะที่วาดอยู่นั้น แอบเห็นโมเม้นต์ที่บังมัตถ์ กับ กะมูนา หยอกล้อกัน (ไอเรายิ้มมุมปากเลยทีเดียว ) น่ารัก เข้ากันได้ดี เหมือนเขาทั้งสอง ชอบอะไรเหมือนๆกัน จึงสามารถจับมือแล้วทำโฮมสเตย์ที่น่ารักหลังนี้ได้อย่างลงตัว

       ระหว่างที่นั่งเรือกลับเข้าฝั่ง นั่งคิดคนเดียวว่า ชุมชนเกาะกลางไม่ได้มีเสน่ห์เพียง ธรรมชาติ ผู้คน อย่างเดียว แต่ ศักยภาพของคนบนเกาะมีเสน่ห์เป็นอย่างมาก เพราะบนเกาะกลางนี้ มีหลากหลายกลุ่มอาชีพมาก สังเกตว่า "กลุ่มเหล่านี้บนเกาะมีการเชื่อมโยงกันเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน เช่น คิดถึงโฮมสเตย์และ กลุ่มโฮมสเตย์ในชุมชน เป็นตัวกลางที่พาผู้มาเยือนเข้าไปทำความรู้จักกับ กลุ่มต่างๆในชุมชน เช่น กลุ่มผ้ามัดย้อม กลุ่มผ้าบาติก กลุ่มเรือหัวโทง และ ยังมีอีกหลายกลุ่มบนเกาะ ซึ่งส่วนตัวมองว่า สิ่งเหล่านี้แหละคือคุณค่าทางภูมิปัญญา นับเป็นทุนศักยภาพของชุมชน ที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้