Skip to main content

 

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป

 

"สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอาซิส" ทรงราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอารเบียพระองค์ที่

๗ เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๕๘

ภายหลังจากการสวรรณคตของ "สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ บิน อับดุลอาซิส" ในพระชนมายุ ๙๐ พรรษา

ซึ่งตามกฏมณเฑียรบาลแล้วราชอาณาจักรซาอุดีอารเบียแห่งนี้ สืบสันตติวงศ์ผ่านทางพี่สู่น้องในสายเลือดของ "สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอาซิส" ปฐมกษัตริย์ในราชอาณาจักซาอุดีอารเบีย โดยผ่านการเห็นชอบของ "สภาราชวงศ์ซาอุดีอารเบีย"

แต่หลังจากรัชสมัยของ "สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน" นี้แล้ว คาดการณ์กันเป็นมั่นเหมาะว่า การสืบราชสันตติวงศ์นี้จะเปลี่ยนจากรุ่นลูกของ "คิงอับดุลอาซิส" เป็นรุ่นหลาน

จึงเกิด "รอยตะเข็บ" ทางอำนาจขึ้น อย่างน้อยก็บรรดาเจ้าชายสายตรงที่มีคุณพ่อเป็นอดีต "สมเด็จพระราชาธิบดี" ก็นับว่ามีสิทธิ์เป็นคิงพระองค์แรกในรุ่นหลานกันทั้งนั้น

เมื่อ "สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน" ทรงเป็นประมุขราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการแล้ว ทรงโปรดให้ "เจ้าชายมุกริน บิน อับดุลอาซิส" (Prince Muqrin) พระอนุชาต่างพระราชมารดาของพระองค์ขึ้นเป็น "มกุฏราชกุมาร" ในวันเดียวกันกับที่พระองค์ทรงครองราชย์

"มกุฏราชกุมารมุกริน" อยู่ในตำแหน่งได้เพียง ๓ เดือนโดยประมาณ ก็ทรงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง

เปิดทางให้ "เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน นาเยฟ" (Prince Muhammad bin Nayef) พระราชนัดดา(หลาน) ของคิงซัลมานขึ้นเป็น "มกุฏราชกุมาร" แทนเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘

"มกุฏราชกุมารมูฮัมหมัด บิน นาเยฟ" อยู่ในตำแหน่งได้สองปีเศษๆ ก็ทรงทราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง

เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองใหม่ของราชอาณาจักรทันที เมื่อ "สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน" ทรงแต่งตั้ง "เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน" (Prince Mohammad bin Salman)พระราชโอรสของพระองค์เองวัย ๓๒ พรรษาขึ้นเป็น "มกุฏราชกุมาร"

ซึ่งปกติแล้ว สมเด็จพระราชาธิบดีจะไม่นิยมแต่งตั้งมกุฏราชกุมารเป็นพระราชโอรสของพระองค์เอง ด้วยความเข้าใจดีถึงเจตนารมย์ของกฏมณเฑียรบาลดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น

รอบนี้ "คิงซัลมาน" ทรงบริหารอำนาจได้ค่อนข้าง "กล้าหาญ" นัก

ทำให้ซาอุดีอารเบียในวันนี้จึงมี "สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน" เป็นคิง และ "เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน" เป็นมกุฏราชกุมาร ด้วยประการฉะนี้

เขียนถึงเรื่องการสืบสันตติวงศ์ของแผ่นดินทะเลทรายนี้ก็สนุกไม่น้อย ...หากมีโอกาสจะรับใช้ถึงเกร็ดประวัติศาสตร์บางส่วนสำหรับ "อำนาจ" ในราชบังลังค์แห่งนี้นะครับ,อินชาอัลลอฮ

เอาล่ะ ... ว่าด้วยเรื่องเด่นสัปดาห์นี้ก่อนละกัน

หนึ่งในนวัตกรรมทางการเมืองของราชอาณาจักรซาอุดีอารเบียในปัจจุบันคือการตั้ง "คณะกรรมการต่อต้านการคอรัปชั่น" โดยพระราชโองการจาก "สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลอาซิส"

โดยมี "มกุฏราชกุมารมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน" พระราชโอรสของพระองค์เป็นประธานกรรมการ

คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจมากนะครับ สามารถออกหมายเรียก

ออกมาจับ ออกคำสั่งห้ามเดินทาง หรือยึดพาสปอตใครก็ได้ในราชอาณาจักร ในพระปรมาภิไธยของสมเด็จพระราชาธิบดีฯ

จะว่าไปเราทั้งหลายก็ทราบกันดีว่ามหาอำนาจทองคำดำนี้มีทรัพย์สินมหาศาล ผมเองก็ไม่สามารถจินตนาการออกว่าหากนำเงินทั้งหมดของราชอาณาจักรมากองตรงหน้า จะมีหิมาลัยเงิน หิมาลัยทอง ไม่รู้กี่ลูก เรียกกันว่าคนในประเทศนี้ไม่เคยหลุดจากสารบบเศรษฐีระดับโลก

อย่างไรก็ดี ... ดินแดนแห่งนี้ก็มีความเหลื่อมล้ำที่ค่อนข้างน่าวิตก ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก เมื่อเทียบกับชนชั้นปกครอง นั้นก็คือบรรดาเจ้าชาย เจ้าหญิง ในพระราชวงศ์อัลซาอูด ยังไม่นับถึงสวัสดิการและสิทธิมนุษยชนที่ไม่น่าประทับใจสำหรับแรงงานต่างชาติที่เข้ามาสร้างอนาคตของตนเองในที่แห่งนี้

"คอรัปชั่น" นับเป็นหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ของประเทศ มีข่าวซุบซิบรวมถึงรายงานความไม่โปร่งใส ความไม่เสมอภาคกันทั้งในการปกครองบริหาร หรือการทำธุรกิจ แต่นั้นก็มิได้เป็นเรื่องที่น่าวิตกใดๆสำหรับชนชั้นปกครอง เพราะอาจกลายเป็น "วัฒนธรรม" การปกครองไปแล้ว ดังนั้นความเป็น "อภิสิทธิชน" ในสังคมนี้จึงมีความเข้มข้นสูงมาก

มองกันอย่างแฟร์ๆ ก็จะกล่าวหาบุคคลไปเสียอย่างเดียวก็มิได้

เพราะประเทศแห่งนี้ปกครองด้วย "สมบูรณาญาสิทธิราชย์" ซึ่งอาญาสิทธิ์ทั้งหลายรวมศูนย์ที่ "สมเด็จพระราชาธิบดี" อันมีวงศานุวงศ์เป็นฐานอันแข็งแกร่งของระบบนี้

ดังนั้นการออกพระราชโองการแต่งตั้ง "คณะกรรมการต่อต้านการคอรัปชั่น" ครั้งนี้ ผมจึงเห็นว่าเป็น "นวัตกรรม" ด้านการบริหารอำนาจ

ทว่า...

ภายหลังจากคำสั่งผ่านการประกาศใช้ ก็ปรากฏ "โดมิโน" อำนาจที่ปล่อยให้ลืมๆลำบาก เนื่องจากคำสั่งปลด ลด เรียก ย้าย ปรากฏชื่อของบรรดา "เจ้าชาย" ทั้งหลายที่ล้วนอยู่ในระดับ "เกรดเอ" ของพระราชวงศ์เศรษฐีทองคำดำทั้งนั้น

ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ "เจ้าชายมีเต็บ บิน อับดุลลอฮ" (Prince Miteb bin Abdullah bin Abdulaziz Al Saud) วัย ๖๔ พรรษา ที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (Chief of National Guard) ที่ทรงโดนคำสั่งของกรรมการชุดนี้

ขอรับใช้อีกข้อที่น่าสนใจว่า ""เจ้าชายอับดุลลอฮ" ที่ขณะนั้นเป็นเพียงเจ้าชายส่วนท้ายๆ ของแถวในการสืบสันตติวงศ์ แต่ด้วยการอุปถัมภ์ของ "คิงไฟซอล" ที่ได้ทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายอับดุลลอฮ ขึ้นมากุมบังเหียนกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาตินี้ ทำให้เจ้าชายท้ายแถวนี้ ค่อยๆสร้างผลงาน จนสามารถสั่งสมอำนาจขึ้นกลายเป็น "เจ้าชายแถวหน้า" ต่อด้วยการเข้าไลน์สู่การเป็น "เบอร์หนึ่งของราชบังลังค์" ได้สำเร็จ

ไม่แปลก ที่คิงอับดุลลอฮ จึงทรงโปรดให้พระราชโอรสของพระองค์เข้ารับตำแหน่งนี้ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พระองค์ทรงสร้างและกลายเป็นฐานอำนาจใหญ่ของราชวงศ์จนถึงปัจจุบัน

อันมีผลให้"เจ้าชายมีเต็บ"ถูกปลดจากตำแหน่งอันทรงอำนาจตำแหน่งหนึ่งในราชอาณาจักร และกลายเป็นจุดสนใจของสาธารณชนด้วยเหตุผลอีกข้อที่เจ้าชายพระองค์นี้ก็มีสิทธิเป็นแคนดิเดตสำหรับการเสวยราชย์ต่อจาก "สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน"

แต่เมื่อทรงโดนอาญาสิทธิ์จากคำสั่งของกรรมการสุดยอดนี้ ทำให้คาดกันว่า "เจ้าชายมีเต็บ" ทรงจะหลุดจากไลน์เกรดเอไปด้วยเรื่องนี้เป็นแน่

หรือในกรณี "เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ฟาฮัด" (Prince Abdul Aziz bin Fahd) พระราชโอรสของ "สมเด็จพระราชาธิบดีฟาฮัด บิน อับดุลอาซิส" ประมุขพระองค์ที่ ๕ แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอารเบีย เป็นอีกพระองค์หนึ่งที่มีสิทธิอยู่ในไลน์ของการเป็นใหญ่เป็นโตในยุคใหม่ชั้นหลาน เช่นกันที่พระนามของพระองค์ก็อยู่ในรายชื่อเป้าหมายของ"คณะกรรมการต่อต้านการคอรัปชั่น" และมีมติให้จับกุม

เป็นที่น่าสลดที่ท้ายที่สุดแล้ว "เจ้าชายอับดุลอาซิซ บิน ฟาฮัด" ได้ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ด้วยวัยเพียง ๔๔ พรรษาเท่านั้น

หรือบิ๊กเนมอย่าง "เจ้าชายอัลวาลิด บิน ตาลาล" พระราชนัดดาของคิงซัลมาน ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก มีหุ้นในซิตี้แบงค์ ทวิตเตอร์ เฟิร์สเซ็นจูรีฟ็อกซ์ เป็นต้น ก็เป็นเป้าในครั้งนี้ด้วย

สำหรับรายชื่อเป้าหมายของคณะกรรมการต่อต้านการคอรัปชั่นนี้ มีอีกหลายพระองค์ และยังรวมถึงบรรดาผู้มีอิทธิพล "บิ๊กเนม" ในซาอุดีอารเบีย ซึ่งบางส่วนได้ถูกจับกุมแล้ว และอีกบางส่วนยังอยู่ในระหว่างการติดตามตัว

สรุปได้คร่าวๆคือ เจ้าชาย ๑๑ พระองค์ รัฐมนตรีปัจจุบัน ๔ คน และอดีตรัฐมนตรีอีกเป็นหลักสิบ

มาตรการนี้สามารถมองได้อีกมุมคือเป็นการ "กระชับอำนาจ" ให้เข้าสู่องค์รวม สามารถควบคุมการจัดการให้เบ็ดเสร็จมากขึ้น เสริมอำนาจให้กับ"มกุฏราชกุมารมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน"ได้อย่างมาก ซึ่งเชื่อกันว่าสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานเองก็ผลักดันเต็มที่ที่จะให้พระราชโอรสของพระองค์ท่านนี้สืบราชบังลังค์ต่อไป

การจัดแถวบรรดาเจ้าชายทั้งหลายให้อยู่ในการควบคุม ก็ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะมกุฏราชกุมารที่ปัจจุบันมีพระชนมายุเพียง ๓๒ พรรษา การออกกำลังกายบริหารอำนาจจึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง

แต่บางครั้งฝ่ายเสธ.ก็ลงมติว่า "จำเป็น" มันเลยมีเรื่องให้ติดตามต่อได้เรื่อยๆ

เรื่องราวของราชอาณาจักรยังไม่จบเพียงเท่านี้ น่าสนใจที่ว่าประตูของราชบังลังค์ในรัชสมัยของคิงซัลมาน จะเปิดให้ราชอาณาจักรแห่งนี้พบเจอกับเรื่องราวใดๆได้บ้าง ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดไว้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของสถานการณ์โลกเลยทีเดียวเชียวนะ .

 

#PrinceAlessandro

08-11-2017