Skip to main content

 

จัดซื้อ "โดรน" อย่าลืมบทเรียนเรือเหาะ และ จีที 200

 

อุสตาซอับดุซชากูร์ บินชาฟิอีย์ ดินอะ

กรรมการสภาประชาสังคมชายเเดนใต้

[email protected]  

 

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ปรานียิ่ง ขอความสันติสุขจงมีเเด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่าน สุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และหัวหน้าผู้แทนพิเศษรัฐบาลได้ให้ทัศนะตอนหนึ่งเมื่อ 18 ต.ค. 2560 ในขณะเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2561 หลังสำนักงบประมาณ เห็นชอบจัดสรรงบประมาณ ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 54 หน่วยงาน 78 โครงการ 85 กิจกรรม ทั้งสิ้น 13,255,744,700 บาท (โปรดดู http://www.tnews.co.th/contents/369823

“ถ้าหาก เรา ไม่ทำอะไรเลย สถานการณ์อาจแย่ไปกว่านี้ และ อาจนำไปสู่ สิ่งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น นั่นคือ การเสียดินแดน" ส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาชายแดนใต้คือการจัดซื้อ "โดรน"หรือ "ยูเอวี" ตรวจการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดการสูญเสียของกำลังพล โดยอยากให้มีการใช้ถึงอำเภอละ 3-4 ตัวเลยทีเดียว

          "แม้มีการใช้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน และยูเอวี ในการตรวจการณ์ แต่ก็ต้องใช้กำลังทหาร ตำรวจ ลาดตระเวนพื้นที่ด้วย เป็นการใช้เพื่อประกอบกับงานการข่าว ซึ่งการใช้โดรนและยูเอวีเพื่อป้องกันการถูกซุ่มยิงและวางระเบิดซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่หลังก่อเหตุรุนแรงอย่างอื่นแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่มีความมั่นใจมากขึ้นในการทำงาน ผมตั้งใจอยากให้มีการใช้โดรนและยูเอวีอำเภอละ 3-4 ตัวใน 37 อำเภอของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ลาดตระเวน ตามงานการข่าวว่าจะก่อเหตุ และตรวจตราก่อนเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ซึ่งผู้ก่อเหตุจะซุ่มโจมตีไม่ไกลนัก เช่น จุดชนวนระเบิด หากมีอุปกรณ์นี้บินสำรวจก่อนก็น่าจะเห็นความเคลื่อนไหว"

(โปรดดู https://www.isranews.org/south-news/documentary/60572-drone.html)

 

          แนวคิดดังกล่าวหากเป็นจริง ก็ต้องจัดซื้อ "โดรน"หรือ "ยูเอวี" ถึง 111 ตัวและจะใช้งบประมาณมหาศาลมาก

       การจะซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว คิดว่าไม่น่ามีปัญหา หากซื้อแล้วคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ อย่าให้ซ้ำรอยบทเรียน เรือเหาะ และ จีที 200  อันน่าเศร้าสลดที่ท้ายที่สุดไม่ใครรับผิดชอบ

          3 คำ ก่อนซื้อ คุ้มค่า  ไม่คอรัปชั่นและมีคนรับผิดชอบ   กล่าวคือก่อนที่จะมีการ จัดซื้อ ให้มีการศึกษาให้ชัดเจนว่า เมื่อซื้อมาแล้วสามารถใช้งานได้จริง และมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้จริง หรือซื้อเพราะมีเหตุผลอื่นๆ แอบแฝง ตลอดจนต้องตรวจสอบด้วยว่า มีคุณภาพพอหรือไม่      ราคาจะต้องไม่เกินจริง  ต้องไม่มีเงินทอน   บุคลากรที่จะใช้งาน มีหรือไม่อย่างไร  เพราะบทเรียน 2 เรื่องทั้งเรือเหาะ และ จีที 200ใครเป็นผู้เสียหาย  ในขณะที่ประชาชน เสียความรู้สึก และมองคนหรือหน่วยงานจัดจัดซื้อหรือเลยไปถึงรัฐบาลในสายตาที่ไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะคนในพื้นที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้              ท้ายสุดจนถึงบัดนี้ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งเรือเหาะ และ จีที 200

 

และหวังว่า บทเรียนของ เรือเหาะ และ จีที 200  คงจะสร้างความรอบคอบและเป็นบทเรียน ให้กับโครงการนี้และโครงการต่างๆ ของหน่วยงานความมั่นคงที่มีอำนาจล้นมือซึ่งผู้เขียนขอฝากในการประชุมครม.สัญจร ที่จะจัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา 27-28 พ.ย.นี้

ที่สำคัญ บทเรียนปรากฏการร์ของตูน ที่ไม่ได้ทุ่มงบมากมายแต่ได้ใจชาวบ้านดังที่ภาพการ์ตูนที่แชร์ในโลกโซเซียลซึ่งมีใจความว่า “ทหารถือปืนวิ่งเข้าหาประชาชน พูดมาตลอด 13 ปีว่า ที่นี่ "พื้นที่สีแดง" แต่พี่ตูนวิ่งตัวเปล่าเข้าหาชาวบ้านด้วยจิตกุศล บอกว่า "พื้นที่นี้สีชมพู มีแต่ความรัก และรอยยิ้ม"  (https://mgronline.com/pjkkuan/detail/9600000112723)ก็ยากให้ครม.นี้พิจารณาด้วยเช่นกัน

 

รักในหลวง ร.9 อย่าลืมนำทศพิศราชธรรมของพระองค์มาด้วยไม่ใช่ปากบอกว่ารัก จงรักภักดีตลอดจนน้อมนำแนวคิดของพระองค์มาเป็นแนวทางการทำงานและบริหารโดยเฉพาะการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้

 

หมายเหตุ

รู้จัก "โดรน-ยูเอวี" (อ้างอิงจากสถาบันข่าวอิศรา  https://www.isranews.org/south-news/documentary/60572-drone.html)

          อากาศยานไร้คนขับ หรือ ยูเอวี ในภาษาอังกฤษ ย่อมาจาก Unmanned Aerial Vehicle (UAV) เรียกง่ายๆ ว่า "โดรน" หมายถึงอากาศยานที่ควบคุมจากระยะไกล แบ่งได้กว้างๆ 2 แบบ คือ แบบควบคุมจากระยะไกล และแบบที่บินได้ด้วยตนเองโดยอาศัยการโปรแกรมคอมพิวเตอร์

          ส่วน "มินิ-ยูเอวี" (Mini UAV) หรืออากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก เป็นยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ถูกนำมาใช้ในภารกิจสอดแนมหาข่าว ช่วยสนับสนุนการทำงานของกำลังพลในการลาดตระเวน โดย "มินิ-ยูเอวที" มีขนาดเล็กกว่ายูเอวีทั่วไป ทำให้กำลังพลเดินเท้าสามารถนำพาไปใช้งานได้ โดยการทำงานของ "มินิ-ยูเอวี" เจ้าหน้าที่จะส่งขึ้นไปบินอยู่บนอากาศบริเวณพื้นที่เป้าหมาย และที่ตัวของมันจะมีกล้องสำหรับเก็บภาพ และจะส่งภาพกลับมายังผู้ควบคุมที่บังคับอยู่ในระยะไกลได้

          เมื่อปี 2555 กองทัพบก (ทบ.) ในยุคที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้มีการจัดซื้อ "มินิ-ยูเอวี" ยี่ห้อ "ราเวน" (Raven) จากประเทศอิสราเอล จำนวน 120 ระบบ ระบบละ 16 ล้านบาท รวม 1,920 ล้านบาท และบางส่วนถูกนำไปใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้