ไม่มีการเชื่อมโยงของกลุ่มแนวร่วมภาคใต้ไทย-กลุ่มรัฐอิสลาม: รายงานระบุ
กรุงเทพ และ ปัตตานี
องค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (International Crisis Group - ICG) เผยรายงานล่าสุด ว่าจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเรื่องสมาชิกกลุ่มนักรบรัฐอิสลาม หรือ กลุ่มไอเอส แฝงตัวเข้ามาปฏิบัติการร่วมกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
รายงานยังระบุว่า เพราะความแตกต่างเรื่องอุดมการณ์และวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติการ แต่รัฐบาลไทยควรเร่งเจรจาสันติสุขกับผู้นำของขบวนการมลายูมุสลิมในภาคใต้ ก่อนที่จะหันไปสวามิภักดิ์กับขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ
อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศประจำเบลเยี่ยม ที่เน้นศึกษาปัญหาความขัดแย้ง และเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อนำเสนอทางออกในการแก้ปัญหาให้กับรัฐบาล หรือผู้เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น ได้เปิดเผยรายงานล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
“จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่ากลุ่มนักรบรัฐอิสลาม https://www.cialissansordonnancefr24.com/cialis-5-mg/ หรือ กลุ่มไอเอส แทรกซึมเข้ามาอยู่กับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ต่อสู้เพื่อต้องการปลดปล่อยรัฐปาตานี แต่ความขัดแย้งในพื้นที่ และความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ และการออกคำขู่ของกลุ่มไอเอส ทำให้เกิดความกังวลต่อภัยคุกคามในรูปแบบใหม่จากกลุ่มก่อการร้าย” รายงานตอนหนึ่งระบุ
ในการป้องกันปัญหาภัยคุกคามที่หลากหลายเหล่านี้นั้น องค์กร ICG ได้เสนอว่า รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นควรร่วมกันบอกกล่าวแก่ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างชัดเจนกว่า ทั้งสองฝ่ายมีความจริงจัง ความมุ่งมั่นทางสังคม ความเป็นห่วงเป็นใย เพื่อหลีกเลี่ยงความขุ่นข้องใจของสมาชิกขบวนการต่างๆ
“รัฐบาลไทยควรปลุกการเจรจาสันติภาพที่ให้บีอาร์เอ็นมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์ในการหาทางออกทางการเมือง ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ บนพื้นฐานของการกระจายการรวมอำนาจ รวมถึงการที่รัฐบาลควรคืนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความเห็น และการชุมนุมทางการเมืองให้กับประชาชนในพื้นที่ เพื่อจะได้สื่อความต้องการของท้องถิ่นอย่างชัดเจน และการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ” รายงานตอนหนึ่งกล่าว
ICG ได้แสดงความกังวลไว้ในรายงานว่า ยิ่งปล่อยเวลาให้ความขัดแย้งยืดเยื้อไปนานมากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการขยายความรุนแรงของกลุ่มผู้ก่อการที่ออกมาปฏิบัติการนอกพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เช่นเดียวกับการคำนวนผิดพลาดถึงการขยายตัวของขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ ที่นักรบไอเอสเคลื่อนตัวออกจากตะวันออกกลางเข้าสู่เมืองมาราวี บนเกาะมินดาเนา ของประเทศฟิลิปปินส์ และเรียกร้องให้กลุ่มไอเอส และอัลกออิดะห์ แก้แค้นให้กลุ่มมุสลิมโรฮิงญาที่โดนบังคับให้หนีตาย จากประเทศพม่า และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่ก่อตัวในภูมิภาค
“ความสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลไทยและกลุ่มก่อความไม่สงบ มาเลย์-มุสลิม คือยุติความขัดแย้งที่คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 7,000 คนแล้ว ตั้งแต่ปี 2547 แทนที่จะกังวลเรื่องความเป็นไปได้ในการเข้ามาของกลุ่มนักรบญิฮาด” รายงานระบุ
โดย ICG มองว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนมาเลย์-มุสลิม มีความมุ่งมั่นในเรื่อง “การกำหนดใจตนเอง” มากกว่าการต้องการดินแดน เป็นการแสวงหาโอกาสร่วมกันตามระบบสากล มากกว่าการทำลายการร่วมมือนั้น ส่วนแกนนำชาวมลายูปาตานี เป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มรัฐอิสลาม รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และมองว่าพวกเขาเป็นกำแพงต่อต้านการเข้ามามีอิทธิพลของกลุ่มนักรบญิฮาด
“พวกเขาพูดกันว่าการเข้าร่วมกับไอเอส หรือ อัลกออิดะห์ หรือการเลียนแบบยุทธวิธีการปฏิบัติการ เช่น ระเบิดพลีชีพ หรือการสังหารหมู่ จะทำให้เราอ้างความชอบธรรมในสากลได้ แต่ทำให้เสียการสนับสนุนจากคนในพื้นที่ แล้วยังเป็นการเชิญให้ศัตรูที่อยู่ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงอีกด้วย” รายงานระบุ
กองกำลังบีอาร์เอ็น
ICG รายงานว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ที่มีกองกำลังแข็งแกร่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แคลงใจและได้ปฏิเสธข้อเสนอจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายข้ามชาติ ในการให้โจมตีแหล่งท่องเที่ยวของไทย
"ขบวนการต่อสู้ในพื้นที่ของเราต่างจากของพวกเขา" ICG กล่าวอ้างคำพูดสมาชิกอาวุโสรายหนึ่งของบีอาร์เอ็น ชายผู้นี้ยังได้ปฏิเสธคำเชิญให้ไปพบกับ อาบู บาการ์ บาเชียร์ นักโทษผู้นำทางจิตวิญญาณชาวอินโดนีเซียของกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ ที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่ถูกคุมขัง เพราะเป็นมือวางระเบิดที่คร่า 202 ชีวิต ในบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อ 15 ปีก่อน
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ว่า ยังไม่พบหลักฐานหรือรายงานชัดเจนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มอุดมการณ์รัฐอิสลาม
“ทางนี้มีแนวคิดชาตินิยมมลายูอิสลามท้องถิ่น ไม่เน้นเรื่องหลักสากล ส่วนกลุ่มไอเอส มีอัตลักษณ์ที่เป็นอิสลามสากล อุดมการณ์ของสองกลุ่ม ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้โดยตรง รวมถึงการปฏิบัติการ การใช้ความรุนแรง เหี้ยมโหด การต่อสู้ของขบวนการในภาคใต้มีความเหี้ยมโหด แต่จะไม่ทำพลเรือนและผู้บริสุทธิ์ เพราะจะมีผลกับความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ดร.ศรีสมภพ ยังระบุว่า “มีสมาชิกไอเอสพยายามที่จะเข้ามาปลุกระดมบ้าง ในลักษณะบุคคลเข้ามาหลบซ่อนตัว แต่ไม่ได้เข้ามาก่อความรุนแรง เพราะเงื่อนไขไม่พร้อม.. อาจจะมีคนในพื้นที่เชื่อในหลักการของกลุ่มไอเอส แต่น่าจะเป็นลักษณะตัวบุคคลมากกว่าเรื่องแนวคิด อุดมการณ์"
ทางด้านเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง เผยกับเบนาร์นิวส์ว่า “การข่าวของกลุ่มงานความมั่นคงพบว่า น่าจะมีการเข้ามาในพื้นที่ภาคใต้แล้ว ผ่านแนวตะเข็บชายแดนในหลายอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้อย่างแน่นอน ทำให้ต้องยืนยันไปว่ายังไม่มี ส่วนการทำงานเชิงลึกก็มีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ แต่กลุ่มเหล่านี้เข้ามาในลักษณะแฝงตัวเฉพาะบุคคล ไม่ได้เข้ามาในรูปขององค์กรณ์ หรือ ขบวนการ ทำให้ยากต่อการเฝ้าระวัง”
และยังระบุด้วยว่า “สมาชิกกลุ่มไอเอสที่เข้ามาแล้วมีความพยายามปลุกระดมกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่อยู่ แต่กลุ่มคนในพื้นที่ ไม่น่าจะเข้าร่วมกับกลุ่มนี้ เพราะมีแนวคิดคนละอย่าง หรืออาจจะมีเงื่อนไขอย่างอื่นที่เรายังไม่รู้ ที่ทำให้เขายังปรับให้เข้ากันไม่ได้ ก็เป็นได้”
พลังศรัทธา ต้านแนวคิดลัทธินิยมความรุนแรง
การก่อการร้ายระหว่างประเทศอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ถึงร้อยละ 20 ของจีดีพี - ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไทยต้องไม่เพียงแต่ป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีเท่านั้น แต่ต้องลดภัยคุกคามด้วย
ในรายงาน ICG ยังได้ยกย่องการให้เสรีภาพทางศาสนาของรัฐบาลไทย ที่ไม่ขัดขวางการนับถือศาสนาและวิถีปฏิบัติของชนชาวมุสลิมในภาคใต้ ซึ่งนับเป็นการป้องกันไม่ให้ เกิดการปลูกฝังอุดมการณ์ของไอเอส ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
"ความเชื่อความศรัทธาของพวกเขา คือพลังต้านอิทธิพลของกลุ่มหัวรุนแรง" ผู้นำอาวุโสของกลุ่มพูโล - องค์การปลดปล่อยแห่งสหประชาชาติปัตตานี อีกหนึ่งกลุ่มกบฏในชายแดนภาคใต้บอกแก่ ICG และว่า "อีกทั้งคำสอนที่โรงเรียนอิสลามในพื้นที่ ก็ยังเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี"
ICG สรุปในข้อเสนอแนะว่า ประเทศไทยควรรักษาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และส่วนที่เหลือของประเทศ ให้ปลอดจากการคุกคามของกลุ่มไอเอส
"ขบวนการแนวร่วมชาวมลายูมุสลิม และรัฐบาลไทยมีความเห็นตรงกัน ในการป้องกันพื้นที่ให้ปลอดจากการเข้าถึงของกลุ่มไอเอส และกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ขณะนี้ความขัดแย้งในพื้นที่ยังไม่ได้นำไปสู่การที่จะยอมรับกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติจากที่อื่นๆ แต่อาจมีวิวัฒนาการการสร้างเงื่อนไขอื่นๆ ที่มีแนวโน้มนำไปสู่การเข้าแทรกแซงของกลุ่มญิฮาดได้" ICG กล่าว
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org