Skip to main content

 

ประชามติคาตาลูญญา บทเรียนติมอร์-เลสเต ส่งสัญญาณถึงปาตานี

 

(ภาพประกอบจาก Google.com)

 

ดินแดนที่ถูกเรียกขานว่า “คาตาลูญญา” ไม่เป็นที่รู้จักมากนักเมื่อเทียบกับ “บาร์เซโลน่า” ทีมฟุตบอลท้องถิ่นประจำแคว้น ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมฟุตบอลขวัญใจเยาวชนทั่วโลกรวมถึงเยาวชนปาตานี /ชายแดนใต้

คาตาลูญญาเข้ามาอยู่ในกระแสโลกด้วยการประกาศกำหนดการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากรัฐบาลสเปน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา พร้อมคำประกาศจาก นายคาร์เลส ปุยจ์เดอมองต์ ประธานาธิบดีของแคว้นว่าจะประกาศเอกราช แยกตัวจากสเปนภายใน 48 ชั่วโมง หากผลประชามติผ่านการสนับสนุนจากประชาชนในแคว้น

แคว้นคาตาลูญญา ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปนประกอบด้วย 4 เมือง คือ เยย์ดา ตาร์ราโกนา คิโรนา และ บาร์เซโลนา ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีประชากรประมาณ 7 ล้าน 5 แสนคน

ผลการลงประชามติของชาวคาตาโลเนีย ปรากฏว่า 90% ของผู้ออกมาใช้สิทธิสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระ โดยมีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งสิ้น 42.3% ของผู้มีสิทธิออกเสียง คาตาลันโห่ร้อง ชื่นชมกับผลประชามติได้ไม่นาน รัฐบาลสเปนก็ประกาศหมายจับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ในข้อหากบฏกระทำการละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญสเปน และบัดนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงประธานาธิบดีคาร์เลส ปุยจ์เดอมองต์ ต่างถูกควบคุมตัว

ย้อนไป 18 ปี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 1999  ติมอร์-เลสเต ประกาศลงประชามติเพื่อประกาศตัวเป็นอิสระจากประเทศอินโดนีเซีย ผลการลงประชามตินำมาซึ่งสถานะเอกราชของประเทศเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2002 รวมระยะเวลาประมาณ 2 ปี 9 เดือนนับจากวันลงประชามติ

สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่คาตาลูญญา และติมอร์-เลสเตมีเหมือนกันคือ เจตจำนงของประชาชน แต่การได้มาซึ่งเอกราชของติมอร์-เลสเต ภายหลังการลงประชามติเป็นสิ่งที่ควรนำมาถอดบทเรียน

กระบวนการจัดประชามติของ ติมอร์-เลสเต ไม่ได้โดดเดียวอาศัยเพียงแรงหนุนจากประชาชนในดินแดนเฉกเช่น คาตาลูญญา เพราะกระบวนการต่างๆมีพี่เลี้ยงคือชาติที่สามอย่างโปรตุเกส คอยประสานหาแรงหนุนจากชาติต่างๆในเวทีระหว่างประเทศ

ออสเตรเลีย และอินเดียถือเป็นสองชาติสำคัญที่ตอบรับการเชิญชวนของโปรตุเกส โดยเฉพาะอินเดียถือเป็นชาติที่สอง ที่ให้การรับรองติมอร์-เลสเต ในฐานะชาติเอกราช (Independent State)

คาตาลูญญาถือเป็นดินแดนที่มีความพร้อมทางโครงสร้างการเมืองภายใน และฐานเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับติมอร์-เลสเต ณ ขณะที่จัดประชามติแยกตัวจากอินโดนีเซีย แต่ในสภาวะการณ์ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าหนทางสู่เอกราชของชาวคาตาลันยังอีกยาวไกล โดยอาจต้องแสวงหาแรงหนุนสำคัญคือ ชาติที่สามผู้เข้ามาโอบอุ้มคาตาลูญญา

หรืออีกแนวทางที่อาจดูยากเย็นแต่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ คือ การแสวงหาแรงหนุนจากชาวสเปนผู้เข้าใจในวิถีประชาธิปไตย และเคารพการตัดสินใจของชาวคาตาลัน (Self-Determination) ด้วยแนวทางนี้ผู้เขียนจึงถือเป็นบทเรียนสำคัญของชาติ หรือดินแดนที่กำลังแสวงหาเอกราชเฉกเช่น คาตาลูญญา ให้ตระหนักถึงแนวทางการต่อสู้ อย่าได้เกินเลยขอบเขตจนยากที่จะแสวงหาการสนับสนุนจากมิตรในดินแดนตนเอง

 

Sources:

https://www.posttoday.com/world/news/517695

http://www.bbc.com/thai/41473864

https://news.voicetv.co.th/world/57056.html

https://www.prachachat.net/world-news/news-48366

http://www.eastasiawatch.in.th/th/information/8/

http://timor-leste.gov.tl/?p=29&lang=en