Skip to main content

 

ในภาพอาจจะมี 3 คน

 

(ปล.เป็นประเด็นใหญ่ของโลกอีกแล้วกับตะวันออกกลาง ล่าสุดก็ "เลบานอน" จึงขอเรียบเรียงบริฟสถานการณ์คร่าวๆให้ได้อ่านกันนะครับ เผื่อเวลาติดตามต่อจะได้ลื่นปรี๊ดๆ

ปล.๒ รูปประกอบโพสคือ "ท่าน(อดีต)นายกรัฐมนตรีซาอัด ฮารีรี" ผู้นำรัฐบาลท่านล่าสุดที่หลบภัยการเมืองเลบานอนในประเทศซาอุดีอาระเบีย และเพิ่งประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในสถานการณ์อันร้อนแรงของตะวันออกกลาง )

 

"#เลบานอน__ทำไมไม่นอนดีๆ" ?

 

เป็นเวลาหลายยุค หลายสมัยที่ "พื้นที่ตะวันออกกลาง" เป็นพื้นที่อันมีอิทธิพลสูงต่อโลกใบนี้ นับตั้งแต่ในเรื่องอารยธรรม ศาสนา หรือเป็นสนามทางการเมืองของโลก ที่มี "อำนาจ" วิ่งไปวิ่งมาไม่รู้จักเหนื่อย

ผู้เล่นแต่ละข้างที่ตัดสินใจเข้ามาเกี่ยวข้องก็เหมือนโดนคำสาปทางอำนาจด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม องศาที่ร้อนแรงในพื้นที่ทะเลทรายแห่งนี้กลับกลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดเหล่ามหาอำนาจให้เข้ามาแข่งขันอำนาจกัน บ้างก็เพลี่ยงพล้ำอำนาจลดโดนกดขี่ หรือมีบ้างที่เพิ่มอำนาจจนกลายเป็น "บิ๊กเนม" ในเวทีการเมืองโลก

เรื่องราวในตะวันออกกลาง จึงเป็นเรื่อง "จำเป็น" หากต้องการเข้าใจความเป็นไปของโลก ไม่ว่าจะสมัยใดก็ตาม

เอาล่ะ ... ความซาอุยังไม่ทันจบ นี่ก็จะรบกันในเลบานอนอีกแล้วรึ ? ฮาโร้ยยย จริงๆ

ขอรับใช้พื้นฐานทางข้อมูลเลบานอนให้กับท่านผู้อ่านก่อนนะครับ

"เลบานอน" เป็นแผ่นดินที่มีอดีตเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่ชาวอาหรับเรียกว่า "ชาม"

"แผ่นดินชาม" ในปัจจุบันนี้ครอบคลุมอยู่หลายประเทศ เช่น ซีเรีย จอร์แดน ปาเลสไตน์ เลบานอน

ถือเป็นดินแดนที่เชื่อว่าเป็น "แหล่งกำเนิดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ" (Cradle of Humankind) จึงไม่แปลกที่ดินแดนนี้มีส่วนเกี่ยวพันกับชีวประวัติของศาสนทูตในทั้งยูดาย คริสต์ และอิสลามหลายท่าน รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ "อำนาจโลก"เดินทางผ่านอย่างไม่เคยบอกลา

จวบจนมหาอำนาจตะวันตกอย่าง "ฝรั่งเศส" ได้เข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนนี้ และขีดเส้นแบ่ง ซอยเป็นประเทศน้อยใหญ่ และ "เลบานอน" ก็รับเอกราชเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๘๖ ด้วยพื้นที่ ๑๐,๔๕๒ ตารางกิโลเมตร มีเมืองหลวงชื่อซุกซนว่า "กรุงเบรุต"

ประเทศนี้เมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้วเล็กกว่ามากครับ

เลบานอนทั้งประเทศนี้น่าจะประมาณจังหวัดบุรีรีมย์ของไทยเรา

เลบานอนจัดระเบียบการปกครองเป็นระบอบ "สาธารณรัฐ" มี "ประธานาธิบดี" เป็นประมุขของประเทศ

ด้วยความที่เป็นดินแดนที่เป็น "อู่" อารยธรรมเดิม การเป็นประเทศใหม่แบบนี้ จึงทำให้มีช่องว่างทางความรู้สึกระหว่างประชาชนมุสลิมและประชาชนคริสเตียน ที่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกฝ่ายพยายาม "หลอม" ให้รวมกันเป็นประเทศกันเสียที

แต่หลอมไปหลอมมา ไม่รู้ไปทำหลอมกันด้วยสูตรอะไร กลับกลายเป็นเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๘ ถึง พ.ศ.๒๕๓๔ รวมระยะเวลาสู้รบ ๑๖ ปีเต็ม ช่วงชักเย่อทางอำนาจนั้น ต่างฝ่ายได้เปิดประตูให้กองกำลังต่างๆเข้ามาในประเทศ

คริสต์ก็อิมพอตกองกำลังเข้ามา มุสลิมก็เรียกมา ชีอะห์ก็ใช่ย่อย

รบกันจนหมดกระบวนท่าแล้ว นึกได้ว่ารบไปก็เท่านั้น มาร่วมมือกันเดินหน้าเลบานอนกันดีกว่า อย่างไรก็ดีสงครามกลางเมืองใช่ว่าจบแล้วจบไปนะครับ มันซ่อนความแค้น ขยายช่องว่างของความไม่วางใจกันเกิดขึ้น

รู้กันกลายๆว่า หากปล่อยไปให้เลบานอนอยู่อย่างเอกเทศ อาจจะรบกันอีก ทหารกองทัพซีเรียที่มีพรมแดนติดกันของประธานาธิบดีบัชชาร์ซึ่งนับถือชีอะห์จึงส่งกองกำลังเข้ามาตั้งฐานในเลบานอน กลายเป็นอีก "ขั้วอำนาจ" ที่ส่งเสริมให้กลุ่มชีอะห์มีเพาเวอร์มากขึ้น

"กลุ่มฮิซบุลลอฮ" เป็นกองกำลังติดอาวุธที่นิยมชีอะห์ก็มีฐานที่มั่นในพื้นที่เลบานอน ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ มีผลงานชิ้นโบว์แดงคือการรบชนะอิสราเอล ไม้เบื่อไม้เมาของชาวอาหรับ ทำให้คะแนนนิยมของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งประเทศที่ได้รับเครดิตมากที่สุดในการสู้รบครั้งนี้คือ "อิหร่าน" ชีอะห์เบอร์หนึ่งนั้นเอง

เพราะเขารู้กันดีว่า การรบระหว่าง "ฮิซบุลลอฮ" กับ "อิสราเอล" ครั้งนั้น เป็น "สงครามตัวแทน" ระหว่าง "อิหร่าน" กับ "อิสราเอล" ในพื้นที่เลบานอน

"ซีเรีย" ที่มีรัฐบาลนิยมชีอะห์จึงกลายเป็น "พี่ใหญ่" ของเลบานอน มีอิทธิพลทั้งทางทหาร หรือ สามารถแทรกแซงทางการเมืองได้บ่อยครั้ง โดยมีสายตรงถึง "เบอร์หนึ่งอิหร่าน" ตลอดเวลา

ฉะนั้น "เลบานอน" จึงเป็นเสมือนทางขรุขระของมหาอำนาจที่ต้องเลือกเดินหมากกันดีๆ เดินมั่วซั่วก็จะกระทบกับขั่วอำนาจอย่างน้อยขั้วหนึ่งแน่นอน

กระนั้น ... ก็อย่าเพิ่งมองว่าทุกอย่างอยู่ภายใต้ "ซีเรีย" หรือ "อิหร่าน" เสมอไปนะจ๊ะ

เพราะการเมืองภายในของเลบานอนนั้นมีความผกผันสูง ตามความหลากหลายของพลเมืองในประเทศ

ภายหลังจากสงครามกลางเมืองของเลบานอนจบลง เลบานอนมีนายกรัฐมนตรีชื่อ "รอฟิก ฮารีรี" (Rafic Hariri) นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์

"ท่านรอฟิก" นี้เคยทำงานที่ซาอุดีอารเบียจนประสบความสำเร็จใหญ่โต เป็นคู่สัญญากับราชวงศ์ซาอุดีในรัชสมัย "คิงคอลิด"แห่งซาอุดีอารเบีย ได้รับสัญชาติซาอุดีอารเบียทำให้ฐานะของท่านขึ้นชั้นอภิมหาเศรษฐี

จากนั้นก็กลับบ้านเกิดลงสนามการเมืองในนามผู้นำทางการเมืองของกลุ่มมุสลิมซุนนีย์เลบานอนในช่วงประเทศเป็นซากจากการต่อสู้กันเอง

"นายกรัฐมนตรีรอฟิก" ใช้ความพยายามอย่างมากในการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม โดยเฉพาะกรุงเบรุตให้กลับมาสวยงามน่าเที่ยวอีกครั้ง และความพยายามอันนั้นก็ทำให้คะแนนนิยมของท่านเพิ่มขึ้นสูงขึ้น

ท่านมีนโยบายในการถอนทหารซีเรียออกจากเลบานอน เจริญสัมพันธ์ไมตรีกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงมากต่อนโยบายอิหร่าน ซีเรีย ต่อเลบานอน

อย่างไรก็ตาม "ท่านรอฟิก" ก็ตัดสินใจลาออกจากรัฐบาล หลังจากบริหารประเทศมา ๔ ปี

ทำให้โมเมนตั้มทางการเมืองเปลี่ยนน้ำหนัก และด้วยนโยบายตรงข้ามของขั้ว "ชีอะห์"ต่อ "ซุนนีย์" ส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ "ระเบิดสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีรอฟิก ฮารีรี" ในวันวาเลนไทน์ พ.ศ.๒๕๔๘ สี่เดือนหลังจากท่านลาออกในฐานะนายกรัฐมนตรีเลบานอน

หลังสิ้นวินาศกรรมมีนักวิเคราะห์บางส่วนชี้ว่ากลุ่มฮิซบุลลอฮ กองกำลังนิยมชีอะห์เป็นผู้เตรียมการและลงมือลอบสังหารครั้งนี้ ส่วนกลุ่มฮิซบุลลอฮ กล่าวหาพร้อมชี้หลักฐานยืนยันว่า "อิสราเอล" เป็นตัวการในเหตุสลดครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ขับกองทัพซีเรียออกจากเลบานอนให้เร็วยิ่งขึ้น

การเมืองในตะเข็บอำนาจแถวนี้เล่นกันแรงครับ

"ท่านนายกรอฟิก ฮารีรี" มีลูกชายสองคน คนแรกชื่อ "ซาอัด" คนที่สอง "ฮอสซาม" ทั้งสองคนถือสองสัญชาติทั้งเลบานีสและซาอุดีเหมือนคุณพ่อ

"ซาอัด" ตัดสินใจทำงานการเมือง จนได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในปี พ.ศ.๒๕๕๒ ดำเนินนโยบายใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา บริหารประเทศสมัยแรกได้สองปีก็ต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมือง อันทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปอยู่ที่ "ท่านนาจิบ มิกาตี" นักการเมืองฝ่ายฮิซบุลลอฮ

"นายกนาจิบ มิกาตี" แม้จะได้รับการหนุนหลังจากกลุ่มชีอะห์

แต่ก็อยู่ในตำแหน่งเพียงสองปีก็ต้องลาออกเพราะความผันผวนทางการเมืองสูง

ทำให้สภาฯต้องหาทางออกด้วยการให้ "ท่านตัมมาม ซาลาม" (Tammam Salam) นักการเมืองภาพลักษณ์ซอฟๆต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อบรรเทาอุณหภูมิทางการเมืองลงนิด และท่านตัมมามก็รับตำแหน่งประธานาธิบดีในระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

แค่นี้ก็พอจะมองออกว่า การเมืองที่นี่เล่นกันแรง ไม่แน่จริงก็ "อยู่กันยาก"

"ท่านตัมมาม" เป็นประธานาธิบดีครบวาระ เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลปรากฏว่า "ท่านมิเชียล โอน" (Michel Aoun) อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นคริสเตียนได้รับชัยชนะ ท่านประกาศแต่งตั้งให้ "ซาอัด ฮารีรี" บุตรชาย "รอฟิก ฮารีรี" กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่สอง เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา

"นายกซาอัด" บริหารประเทศได้เกือบปี ก็ต้องหลบเข้าไปพักในซาอุดีอารเบียเพื่อความปลอดภัย

และประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเลบานอนในแผ่นดินซาอุดีอารเบีย ด้วยเหตุผลว่าทางอิหร่านมีแผนที่จะทำการลอบสังหารท่าน ซึ่งทางอิหร่านได้ตอบปฏิเสธต่อคำอ้างนี้อย่างทันควัน

ทางฮิซบุลลอฮได้แถลงว่าการลาออกของนายกรัฐมนตรีซาอัดนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อว่าได้ตัดสินใจภายใต้ความกดดัน และไม่ยอมรับการลาออกของนายกรัฐมนตรีซุนนีย์ท่านนี้

อลวนกันไปมาครับ...เกมแบบนี้

"ฮิซบุลลอฮ" ชีอะห์ ฐานบัชชาร์ซีเรีย สนิทอิหร่าน

ไม่ยอมรับการลาออกใดๆ ของ "ซาอัด" ซุนนีย์ ใกล้ชิดซาอุ สหรัฐ

ฮาโร้ยยยย...

ท่ามกลางความกังวลในสถานการณ์ของเลบานอน ซึ่งมีทีท่าว่าจะใช้ "ความรุนแรงทางอาวุธ" กันไปทุกที จะว่าไป มันคือ "สงครามตัวแทน" ที่เริ่มซัดกันชัดๆออกไปทุกที ระหว่างนโยบายของอิหร่านและซาอุดีอารเบีย ที่พยายาม "อย่างยิ่ง" ในการขยายอิทธิพลในพื้นที่ตะวันออกกลาง พื้นที่ที่มีความเปราะบางทางการเมืองมากที่สุดของโลกในวินาทีนี้ก็ว่าไปได้

ต้องติดตามกันต่อไป แผนกระชับอำนาจภายใน แผนขยายอำนาจทางภายนอก ผลกระทบกับอิหร่าน จุดยืนของสหรัฐฯในยุคของทรัมป์ รัสเซียของปูติน มหามังกรจีน

และตัวเล็กๆอย่างเรา ที่หากทนทำความเข้าใจมัน เวลาคันก็จะเกาได้ถูกที่ ผมก็ว่าอย่างนั้นไปเรื่อยแลเห็นจะได้.

 

#PrinceAlessandro

11-11-2017