Skip to main content

ผู้ว่าฯ จังหวัดชายแดนใต้ รับรองคณะกรรมการอิสลามจังหวัดชุดใหม่แล้ว

มารียัม อัฮหมัด 
ปัตตานี
 
 
 
 
    171128-TH-islamic-committee-1000.jpg
    บรรยากาศการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลาม ที่บริเวณสำนักงานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2560
     มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์
     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

     

    ในวันอังคาร (28 พฤศจิกายน 2560) นี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ได้ออกหนังสือรับรองผลการคัดเลือกคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแล้ว หลังจากมีการเลือกตั้งในวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการอิสลามชุดใหม่จะทำหน้าที่แทนชุดเก่าที่หมดวาระ 6 ปี ไปเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

    ผลการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ทีมที่ 1 นำโดยนายแวดือราแม มะมิงจิ อดีตประธานคณะกรรมการฯ ได้รับการคัดเลือก 19 คน และ ทีมที่ 2 นำโดยนายอาห์มัด โต๊ะมิง ได้รับการคัดเลือก 11 คน ที่จังหวัดยะลา ทีมที่ 1 นำโดยนายอิสมาแอ ฮะรี อดีตประธานคณะกรรมการฯ ชนะการคัดเลือกแบบยกทีม 30 คน และที่จังหวัดนราธิวาส ทีมที่ 1 นำโดย นายสะแปอิง เจะแล๊ะ อดีตประธานคณะกรรมการฯ ได้รับคัดเลือก 28 คน และทีมที่ 2 นำโดย นายซามานี ยูโซะ ได้รับคัดเลือก 2 คน

    หลังจากนี้ กรรมการอิสลามประจำจังหวัดชุดใหม่ของแต่ละจังหวัดจะคัดเลือกผู้แทน 1 คน เพื่อทำหน้าที่กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยต่อไป

    นายรุสดี บาเกาะ อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา เปิดเผยต่อสื่อมวลชน หลังทราบผลการเลือกตั้งว่า เชื่อว่ากรรมการอิสลามประจำจังหวัดจะสนับสนุนนโยบายของฝ่ายความมั่นคง และเชื่อว่าจะสามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้ดี

    “กรรมการอิสลามในพื้นที่จังหวัดยะลาเป็นหนึ่งเดียว ทำงานแบบบูรณาการกับทุกหน่วยงาน และให้ความสำคัญกับการใช้กฎหมายอิสลามสำหรับมุสลิม พร้อมสนับสนุนการเจรจาของฝ่ายความมั่นคงระหว่างประเทศ จุดนี้ที่ทำให้โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดในพื้นที่ร่วมกันลงคะแนนไว้วางใจทีมชุดนี้ และพร้อมจะสานนโยบายที่ผ่านมาต่อไป” นายรุสดีกล่าว

    ด้าน นายนิมุ มะกาเจ อดีตประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.ยะลา กล่าวว่า คณะกรรมการอิสลามชุดใหม่นอกจากทำหน้าที่ในด้านศาสนาแล้ว ยังรับผิดชอบในการช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ

    “คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเป็นผู้นำองค์กรศาสนาในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทแก้ไขปัญหาหลากหลายในท้องถิ่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเยาวชน ปัญหายาเสพติด ปัญหาเกี่ยวกับอาหารฮาลาล รวมทั้งสานสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการร่วมสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” นายนิมุกล่าว

    สำหรับผู้มีสิทธิเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คือ อิหม่ามประจำมัสยิดในแต่ละจังหวัด โดยปัจจุบันมีมิสยิด 4,100 แห่ง ทั่วประเทศ มี 183 แห่ง ในเขตกรุงเทพมหานคร และ 1,840 แห่ง ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส 655 แห่ง ปัตตานี 691 แห่ง และยะลา 494 แห่ง หลังจากได้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดแล้ว กรรมการชุดใหม่จะได้ดำเนินการเลือกประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และเลขานุการ และให้กระทรวงมหาดไทยประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เลขานุการ และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในราชกิจจานุเบกษา

    การเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม (พ.ร.บ.อิสลามฯ) หมวด 4 ว่าด้วย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มาตรา 23 บัญญัติว่า จังหวัดใดมีราษฎรนับถือศาสนาอิสลาม และมีมัสยิด ตามมาตรา 13 ไม่น้อยกว่า 3 มัสยิด ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ประกาศให้จังหวัดนั้นมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกรรมการมีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 30 คน

    การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดให้วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2560 เป็นวันคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัดที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.อิสลามฯ

     

    เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-islam-election-11282017152734.html