Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

(1)

"แผนพิทักษ์แดนใต้" หลากชื่อหลายพื้นที่ที่รุกคืบโดยการใช้กำลังผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารสนธิ กำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายเพื่อควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและยึดหลักฐานต่างๆ เป็นระลอก โดยเฉพาะในรอบกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา สามารถกวาดจับผู้ต้องสงสัยได้ครั้งละหลายคน  ทำให้ทางการเชื่อว่าสามารถจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของ "ฝ่ายตรงข้าม" และตัดตอนสายบังคับบัญชา ตลอดจนเครือข่ายของเซลล์ชุดต่างๆ ในพื้นที่ได้อย่างอยู่หมัด 

          บทสรุปเบื้องต้นของ "แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้" อันประกอบด้วยแผนยุทธการย่อย 14 แผน ในห้วงตั้งแต่ปลายปีที่แล้วกระทั่งถึงปัจจุบันตามคำแถลงของ พล.ต.จำลอง คุณสงค์ เสนาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาคที่ 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้รวม 1,780 คน  

          ในจำนวนนี้ ทางการเชื่อว่าเป็นแกนนำและแนวร่วมหลัก 96 คน สมาชิกอาร์เคเค 132 คน และให้การภาคเสธ 1,542 คน แม้ส่วนใหญ่จะทำการปล่อยตัวไป แต่ก็ยังคงถูกควบคุมตัวเพื่อผ่านกรรมวิธีซักถามและปรับเปลี่ยนความคิดอีกจำนวนกว่า 400 คน 

          อย่างไรก็ตาม จำนวนเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้นทุกวันตามยุทธการกวาดจับที่ยังดำเนินอยู่อย่างแข็งขันในขณะนี้ 

           กลุ่มคนที่ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ได้รับการจัดประเภทที่แตกต่างกัน เพื่อเข้าสู่กระบวนการซักถาม ทั้งนี้ หากมีหลักฐานชัดเจนเจ้าหน้าที่ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) หรือในบางกรณีก็กันเป็นพยาน  

แต่หากใครที่ไม่มีหลักฐานและน่าเชื่อว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จะถูกปล่อยตัวกลับ ในขณะที่ "กลุ่มเสี่ยง" หรือบุคคลที่อาจมีพฤติกรรมน่าสงสัยที่มาทั้งจากความตั้งใจและจำยอม แต่หลักฐานยังไม่เพียงพอก็จะเข้าสู่การคุมตัวต่อเนื่องไปยังศูนย์ซักถามและปรับทัศนคติต่างๆ ที่รองรับให้ครบเวลาตามกฎหมาย คือ 37 วัน กระทั่งเข้าสู่โครงการฝึกอาชีพ 4 เดือน ด้วยความยินยอมพร้อมใจจากบุคคลนั้น

กวาดจับทำลาย "เครือข่าย" 

          เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่า ยุทธการต่างๆ ตาม "แผนพิทักษ์แดนใต้" ยังผลให้สามารถสกัดกั้นการก่อเหตุรุนแรงรายวันได้ เนื่องจากบุคคลที่ถูกควบคุมตัวบางส่วนล้วนมีอิทธิพลต่อการก่อเหตุ และเป็นผลสำเร็จตามมาตรการ "เกาะติด" ของกองทัพที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว  

          ที่สำคัญ ยังเป็นการอาศัย "ข้อมูล" จากการรับสารภาพของบรรดาผู้ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้เห็นโครงสร้างทางการเมืองและการทหารของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ตลอดจนตัวละครสำคัญที่นำมาสู่การจับกุมบุคคลที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่า "ไม่ผิดตัว"  

          พ.ต.เฉลิมพล ประเสริฐกุล รอง ผบ.ฉก.31 หนึ่งในนายทหารระดับปฏิบัติการ ระบุว่า การเข้าจับกุมคุมตัวผู้ต้องสงสัยอยู่บนฐานของข้อมูลที่ได้รับจากแหล่งข่าวในพื้นที่และจากการซัดทอดของผู้ถูกซักถามรายอื่นๆ หน่วย ฉก.ในพื้นที่จะมี "บัญชีเป้าหมายในการกำหนดเป้าหมายการจับกุม ขณะที่ระหว่างการบุกค้นจะตรวจสอบหลักฐานหรือวัตถุต้องสงสัยตามบ้านพัก นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบด้วยเครื่องตรวจไอออนวัตถุระเบิดในกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์อีกทางหนึ่ง 

           "บุคคลที่เราควบคุมตัวได้ ส่วนมากไม่มีพลาดเป้า" ผู้พันกล่าวด้วยความเชื่อมั่น 

          นายทหาร ฉก.31 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่ อ.เจาะไอร้อง และ อ.สุไหงปาดี กล่าวด้วยว่า  หลังการปฏิบัติการปิดล้อมตามแผนพิทักษ์ปาดี ฉก.31 ยังได้ส่งทีมประชาสัมพันธ์เข้าชี้แจงการปฏิบัติงานและแผนการในอนาคตให้กับครอบครัวที่ถูกควบคุมตัวและชุมชน ผ่านลักษณะของเวทีชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย 

          อย่างไรก็ตาม ยุทธการต่างๆ เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของกระบวนการทั้งหมดที่คาดหวังถึงการ "ถอนแกน" เพราะกระบวนการต่อเนื่องทั้งการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหรือการถอนแกนความคิดของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นการต่อสู้ที่ "ชนะ" หรือ "แพ้" อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและยั่งยืน 

เข้าศูนย์ซักถาม สั่งห้ามทรมาน 

          พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์กองบัญชาการพลเรือน ตำรวจ ทหาร  (พ.ต.ท.) ระบุว่า กระบวนการกวาดจับและคุมขังผู้ต้องสงสัยเป็นแนวคิดการต่อสู้ด้วยการใช้การเมืองนำการทหาร หลังจากที่ในสองปีแรกของการต่อสู้ส่งผลให้ทางกองทัพได้รับบทเรียนและพร้อมจะรับมือมากยิ่งขึ้น แม้โดยภาพรวมงานมวลชนยังติดลบ แต่ผลจากการซักถามที่ผ่านมาทำให้มองเห็นโครงสร้างทางการเมืองและโครงสร้างทางการทหารของพวก "ฟาฎอนี" ได้ชัดเจนขึ้น  

          นั่นนำมาสู่ปฏิบัติการกวาดจับใน "แผนพิทักษ์แดนใต้" ด้วยสมมติฐานที่ว่า การก่อเหตุในแต่ละห้วงเวลา พวกเขาจำเป็นที่จะต้องมีองค์ประกอบตามโครงสร้างชัดเจน การเข้าไปกวาดจับเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายสายบังคับบัญชา ซึ่ง พ.อ.อัคร ระบุว่า หลังจากการกวาดจับเหตุร้ายได้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด 

           "ถ้าไม่ครบองค์ประกอบ พวกเขาจะไม่มีการก่อเหตุ" พ.อ.อัครกล่าว  

          สำหรับการจับกุม-เชิญตัวบุคคลต้องสงสัยเหล่านี้จะอยู่บนพื้นฐานของอำนาจกฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎอัยการศึก ที่สามารถคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน และอำนาจตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือที่รู้จักในนาม "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ซึ่งสามารถคุมตัวได้ไม่เกิน 30 วัน  

          ในเพดานเวลาของการควบคุมตัว 37 วันเป็นอย่างมากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะจัดส่งตัวบุคคลต่างๆ ไปยังสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ ทีกระจายอยู่ในพื้นที่ 5 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (เดิมชื่อศูนย์วิวัฒน์สันติ) ค่ายอิงคยุทธบริหาร (ค่ายบ่อทอง) จ.ป 2.โรงเรียนสันติสุข (โรงเรียนการเมือง) ค่ายรัตนพล อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 3.ค่ายพระปกเกล้า อ.เมือง จ.สงขลา 4.ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และ 5.ศูนย์พิทักษ์สันติ โรงเรียนตำรวจภูธร 9 ในตัวเมืองยะลา 

          สำหรับ 4 ศูนย์แรกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพภาคที่ 4 รับ "ลูกค้า" ที่ใช้ทั้งอำนาจตามกฎอัยการศึกและใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมตัวมา โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ที่เหลือเป็นลูกข่ายที่คอยรับช่วงต่อเพื่อกระจายภารกิจในการสอบซักและปรับเปลี่ยนทัศนคติ

มีเพียงกรณีของค่ายปิเหล็งเท่านั้นที่เป็นคล้ายสถานแรกรับก่อนส่งตัวไปยังศูนย์ใหญ่ที่ค่ายอิงคยุทธฯ

ขณะที่ ศูนย์พิทักษ์สันติของตำรวจ ซึ่งวางระบบมาตั้งแต่กลางปี 2548 และได้รับการต่ออายุเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จะรับ ลูกค้า' เฉพาะที่มีหมาย ฉ.เท่านั้น  

          ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ทั้งหมด 123 คน และกำลังอยู่ในกรรมวิธีซักถาม ระหว่างนี้มีการเปิดโอกาสให้ญาติเข้าเยี่ยมได้วันละ 2 เวลา เจ้าหน้าที่ยังได้อำนวยความสะดวกต่อการประกอบศาสนกิจ มีกฎวินัยเคร่งครัดที่จะไม่มีการทรมานหรือซ้อมผู้ถูกควบคุม

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีกรณีอื้อฉาวที่มีเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิวัฒน์สันติทำร้ายร่างกายผู้ต้องสงสัยรายหนึ่ง จนเป็นเหตุให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบ และท้ายที่สุดแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 ได้มีคำสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบและเปลี่ยนชื่อศูนย์เป็น "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" ในปัจจุบัน 

          พ.ท.ภูมิเดชา พ่วงเจริญ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการและดำเนินกรรมวิธี ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ เปิดเผยว่า หลังจากที่มีปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากศูนย์วิวัฒน์สันติก็มีความเคร่งครัดในเรื่องการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัว ยืนยันว่าไม่มีการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แม้ว่าส่วนใหญ่ของผู้ถูกควบคุมตัวจะให้การปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ 

          อย่างไรก็ตาม ผู้พันภูมิเดชา ก็สะท้อนว่า ศูนย์ฯ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ ภายหลังจากที่การควบคุมตัวมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องรวมผู้คนที่น่าเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ต่างระดับเข้าด้วยกัน  

          ทั้งนี้ เขาเสนอว่า การควบคุมตัวในลักษณะอย่างนี้ควรอย่างยิ่งที่ต้องหาสถานที่ที่มีความพร้อมและอยู่ไกลจากพื้นที่เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกข่มขู่คุกคามจาก "ฝ่ายตรงข้าม" ที่มาในรูปแบบต่างๆ  

          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ได้มีคำสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในพื้นที่ให้ดำเนินการตรวจสอบซักถามผู้ต้องสงสัยด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อสร้างศรัทธาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากขัดคำสั่งจะได้รับการลงทัณฑ์สถานหนัก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากมีเจ้าหน้าที่บางคนได้กระทำการอันรุนแรงและมีข่าวแพร่กระจายสู่สาธารณชนจนเป็นผลเสียในงานมวลชนและเป็นเงื่อนไขในการโฆษณาชวนเชื่อบ่อนทำลายกลไกของรัฐให้อ่อนแอลง


          "แผนพิทักษ์แดนใต้"  เป็นความหวังของฝ่ายความมั่นคงว่าจะสามารถ "บล็อก" เหตุร้ายรายวันตลอดจนนำไปสู่การทำลายเครือข่ายของขบวนการใต้ดินอันเป็นศัตรูแห่งรัฐ แม้จะมีการตอบโต้จาก "ฝ่ายตรงข้าม" ด้วยยุทธวิธีทางการทหารในรูปแบบกองโจร เช่น วางระเบิด ลอบสังหารประปราย แต่มีนัยสำคัญว่าอ่อนด้อยลงไป แสดงให้เห็นว่ายุทธการกวาดจับในรอบเดือนสองเดือนที่ผ่านมาสามารถสกัดกั้นเหตุร้ายได้จริง

          แต่ถึงกระนั้น ในท่ามกลางความคาดหวังต่อยุทธการต่างๆ เสียงสะท้อนของผู้คนที่เดินเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว เครือญาติ ตลอดจนองค์กรสิทธิมนุษยชนซึ่งเปรียบเหมือนคู่กัดกับฝ่ายความมั่นคง ก็ยังสะท้อนภาพช่องโหว่ในกระบวนการเหล่านี้อยู่หลายประการ 

          ชายวัยกลางคนรายหนึ่งจากพื้นที่สุไหงปาดี จ.นราธิวาส กล่าวถึงยุทธการของทางการที่เข้ากวาดจับผู้ต้องสงสัยในพื้นที่เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนว่า การปูพรมจับอย่างนี้เป็นสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว แม้ว่าหลังจากการกวาดจับ ญาติของผู้ถูกคุมตัวจะบ่นกันระงมว่าเจ้าหน้าที่จับผิดตัว รวมทั้งญาติฝ่ายภรรยาของเขาด้วย  

           "จริงๆ ที่จับไปนั้นไม่ผิดตัวแน่ เพียงแต่จะระดับไหนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นพวกปลายแถว พวกระดับแกนนำหนีข้ามไปฝั่งมาเลย์ก่อนหน้าวันหนึ่งแล้ว

          สิ่งที่เขากังวลคือเมื่อบรรดาแกนยังไม่ถูกจับตัวไป เมื่อผู้ถูกคุมตัวถูกปล่อยกลับมาตามกำหนดเวลาจะกลายเป็นเงื่อนไขที่จะใช้ปลุกระดม สร้างความเคียดแค้นเจ้าหน้าที่และอาจจะมีเหตุร้ายใหญ่เกิดขึ้นในไม่ช้า

          เขายังประเมินว่า ปฏิบัติการจิตวิทยาของทางการเรียกได้ว่ายังไม่เข้าถึงชาวบ้าน "พวกโน้น" พวกเขาได้ชาวบ้านไปก่อนแล้ว ที่ยังเหลือในหมู่บ้านของตนประมาณ 10 - 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แม้ไม่ได้ก่อเหตุแต่ก็มีความคิดสนับสนุน จะเห็นได้จากงานเวทีชาวบ้านที่ทางหน่วย ฉก.จัดขึ้นเพื่อชี้แจงการทำงานกวาดจับให้แกชาวบ้านก็มีชาวบ้านมาร่วมเพียงไม่ถึง 10% เท่านั้นเอง 

          สิ่งที่คนในพื้นที่สีแดงอย่างเขาซึ่งแม้ใจจริงจะไม่อยากเข้าร่วมกับฝ่ายใต้ดิน แต่ก็ทำให้อยู่อย่างลำบาก ในเมื่อสภาพแวดล้อมของหมู่บ้านที่เพียงแวะคุยกับเจ้าหน้าที่ก็มักจะถูกเตือนในภายหลัง สิ่งที่ทำได้มากสุดเพียงการบอกญาติพี่น้องและลูกหลานที่ใกล้ชิดว่าอย่าริไปร่วมกับ "พวกโน้น" 

           "เราคนทำงาน เป็นอะไรไปก็ลำบาก จะเอาอย่างไรก็เอา เราไม่ไปต่อต้านหรอก แต่จะให้ร่วมด้วยคงไม่ได้" ชายคนดังกล่าวทิ้งท้าย พร้อมระบุความต้องการให้เจ้าหน้าที่เน้นงานจิตวิทยากับชาวบ้านให้หนักกว่านี้ ยิ่งเฉพาะในหมู่บ้านที่เพิ่งถูกกวาดจับไปอย่างหมู่บ้านของเขา 

          เสียงสะท้อนของเขาก็เป็นหนึ่งในมุมมองที่ฉายภาพให้เห็นผลอีกด้านหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นจากแผนพิทักษ์แดนใต้ในบางพื้นที่ อย่างน้อยสิ่งที่เขากังวลก็เป็นการบ้านสำคัญที่ทางการต้องเร่งอุดช่องโหว่เหล่านี้ให้โดยเร็ว ก่อนที่ "แกน" ที่เพิ่งถอนไปเพียงบางส่วน จะกลับเข้ามารื้อฟื้น "อำนาจนำ" เหนือมวลชนในหมู่บ้านได้อีกครั้ง 

ชะตากรรมหลังการปล่อยตัวกลับ 

          ในขณะที่ ชะตากรรมของผู้ที่ถูกควบคุมตัวใน "ศูนย์ซักถาม" ที่ต้องเผชิญคำถามของเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องการคำตอบของพวกเขาด้วยวิธีการอันหลากหลาย ผู้ถูกควบคุมเหล่านี้ยังต้องตกอยู่ในความกังวลว่าหากกลับไปยังชุมชนของพวกเขาแล้วจะถูกมองอย่างไร ทั้งนี้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานะเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม 

          ชายหนุ่มจากบ้านดารุลอิฮซาน ม.14 ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายปิเหล็ง เปิดเผยว่า เขาบริสุทธ์ ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะไปทำงานมาเลเซียกว่า 4 ปีแล้วและกลับบ้านมาเพื่อแต่งงาน แต่ถึงอย่างไร เขาก็เข้าใจว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่ต้องกวาดจับชาวบ้านมาทีละเยอะๆ เช่นนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่รู้ว่าโจรคือใครบ้าง 

          "มาที่นี้ผมไม่ได้คิดอะไร เพราะถ้าเราไม่ผิด เจ้าหน้าที่ก็คงไม่ทำอะไร ถ้าเราหนี ผมก็กลัวว่าทหารจะใส่ความผมอีก เจ้าหน้าที่ก็คงต้องทำอย่างนี้อยู่แล้ว

          แหล่งข่าวรายนี้ยังได้รับการเลือกตั้งจากคะแนนเสียงภายในผู้ถูกควบคุมตัวที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันเพื่อให้เป็น "ผู้ใหญ่บ้าน" หรือหัวหน้ากลุ่มที่มีลูกบ้านทั้งหมด 9 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบที่เจ้าหน้าที่วางไว้ให้ดูแลกันเอง อย่างไรก็ตามเขาปฏิเสธที่จะเป็น "ผู้ใหญ่บ้าน" ในหมู่บ้านจริงๆ  หากได้รับการปล่อยตัวออกไป 

          ในขณะที่ชายวัยกว่า 50 ปี อีกรายหนึ่ง ซึ่งถูกควบคุมตัวที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์เช่นกัน ระบุว่า เขาได้รับการปฏิบัติด้วยดีจากเจ้าหน้าที่ ไม่มีการซ้อมหรือทำร้ายร่างการในระหว่างการซักถาม แม้จะมีการใช้คำพูดข่มขู่บ้าง ซึ่งตนอยากให้เจ้าหน้าที่ใช้คำพูดที่ดีกว่านี้

          เขาถูกควบคุมตัวพร้อมชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ในฐานะที่เขาเป็นกรรมการมัสยิดซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีส่วนในการสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทั้งการให้ที่พักพิงและเป็นที่ซ่องสุมเสบียง แต่จากการซักถามเป็นเวลาหลายวัน เขายืนยันว่าตัวเองไม่ได้ข้องเกี่ยวใดๆ อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวในที่สุด 

          แต่ความกังวลใจที่สำคัญที่สุดของเขา คือ หากได้รับการปล่อยตัวออกไป ชีวิตของเขาและครอบครัวจะปลอดภัยหรือไม่ เพราะเคยได้ยินข่าวว่าผู้ที่ถูกปล่อยตัวไปหลายคนถูกสังหารตายในภายหลัง ซึ่งตอนนี้เขาเองยังคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไรหลังการถูกปล่อยตัวไปแล้ว 

          ทั้งนี้ การให้สัมภาษณ์ของทั้งสองอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้รับการชี้แจงในภายหลังว่า โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ถูกควบคุมมักให้การปฏิเสธเป็นพื้นฐาน ขึ้นอยู่กับการดำเนินกรรมวิธีในการซักถาม ซึ่งอาศัยทั้งเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยา ตลอดจนผู้รู้ทางศาสนาในการพูดคุย 

          ด้าน พ.อ.อัคร ระบุว่า เมื่อถึงกำหนดเวลาตามกฎหมาย การคัดแยกบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจะขึ้นอยู่กับหลักฐานที่บ่งชัด ซึ่งรายใดที่มีหลักฐานไม่ว่าจะเป็นวัตถุพยานหรือการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเป็นผู้มีส่วนในการก่อเหตุจะถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามความผิดอาญา ที่เหลือจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจหากต้องการเข้าสู่โครงการฝึกอบรมอาชีพหรือต้องการจะกลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาเดิม 

          พ.อ.อัคร ระบุด้วยว่า ทางเจ้าหน้าที่มีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยของชาวบ้านที่ถูกปล่อยตัวไป โดยจะมอบหมายให้กับทหารหน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่ในการนำตัวผู้ถูกควบคุมไปส่งยังที่ว่าการอำเภอและติดต่อกับเครือญาติให้มารับตัว หรืออาจจะร้องขอให้หน่วยทหารนำตัวไปส่งที่บ้านก็ได้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลาดตระเวนระวังภัยอยู่เป็นประจำ 

          อย่างไรก็ตาม จากสถิตินับตั้งแต่มีการควบคุมตัวใน "ศูนย์ซักถาม" ในห้วงเวลาของการเปิดยุทธการต่างๆ ตามแผนพิทักษ์แดนใต้ เฉพาะคนที่ไม่ได้ถูกส่งดำเนินคดีอาญา ปรากฏว่า มีสัดส่วนของผู้ที่แสดงเจตจำนงเดินทางกลับบ้านจำนวนไม่มากนัก เพราะความกังวลในเรื่องสวัสดิภาพของในชีวิต ทางเลือกที่สามารถจะรองรับเขาได้คือการอยู่ให้ห่างพื้นที่ออกไประยะหนึ่ง

นั่นคือที่มาของแนวคิดโครงการฝึกอบรมอาชีพที่ทำให้พวกเขายังต้องอยู่นอกพื้นที่อีกอย่างน้อย 4 เดือนนั่นเอง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ยุทธวิธี "แช่แข็ง" ส่งแนวร่วมฝึกอาชีพ 4 เดือน
- ผ่าแผนยุทธการ "พิทักษ์แดนใต้"

(2)

หวั่นกวาดล้างแค่ปลายแถว ระวัง "แกนหลัก" ฟื้นอำนาจ


- ถนนสาย 4056 ช่วงหน้ามัสยิดไอบาตู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส, 28 กรกฎาคม 2550 -