Skip to main content

 

นักศึกษาธรรมศาสตร์ร้องยูเอ็น ระวังรัฐละเมิดกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าเทพา

 

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
กรุงเทพฯ และสงขลา
171201-TH-students-1000.jpg
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงสำเนาจดหมายเปิดผนึก หลังเสร็จสิ้นการยื่นจดหมายฯ ที่สำนักงานสหประชาชาติ กรุงเทพฯ วันที่ 1 ธันวาคม 2560
 นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในวันศุกร์ (1 ธันวาคม 2560) นี้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ยูเอ็น เฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ภาครัฐอาจจะกระทำต่อประชาชนที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศขยายเวลาให้ 5 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา และปัตตานี เป็นพื้นที่ควบคุมตาม พรบ.ความมั่นคงฯ

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังเข้าพูดคุยกับผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน (UNOHCHR) ว่า ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกของนักศึกษากลุ่มเติร์ดเวิร์ล และใต้เตียง มธ. เพื่อแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา ในช่วงที่ผ่านมา

นายพริษฐ์ กล่าวถึงคำชี้แจงของทางยูเอ็นโอเอ็ชซีเอ็ชอาร์ว่า ในกรณีนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบเป็นวาระหลักของสำนักงานอยู่แล้ว และสำนักงาน ก็ได้ให้คำมั่นว่าจะติดตามเคสนี้ต่อไป และพยายามที่จะประสานงานกับรัฐบาลเพื่อให้ภาครัฐยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวบ้าน ซึ่งทางสำนักงานได้เข้าไปติดตามผลและพูดคุยกับชาวบ้านกว่า 1 ปีแล้ว แต่ทางกลุ่มยังมีความกังวลโดยเฉพาะกับผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน

“ทางเรา (นักศึกษา) ก็จะจับตาอย่างใกล้ชิดว่าจะมีการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมอย่างไร จะปลดข้อกล่าวหา ตามที่สำนักงานฯ เรียกร้องหรือไม่ เราจะสอดส่องเรื่อยๆ.. ทางเรามีความกังวลเป็นพิเศษมากๆ คือเรื่องเยาวชน การที่ดำเนินคดีกับแกนนำคนหนึ่งที่เป็นเยาวชนอาจเป็นการละเมิดสิทธิของเยาวชน และกระทบต่ออนาคตของเขา” นายพริษฐ์กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวหลังยื่นจดหมายเสร็จสิ้น

การยื่นจดหมายของกลุ่มนักศึกษาครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้จับกุมและดำเนินคดีกับตัวแกนนำคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา “เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” จำนวน 16 ราย รวมทั้งเยาวชนชาย อายุ 16 ปี ทั้งนี้ กลุ่มผู้คัดค้านประมาณ 100 คน ได้เดินเท้าไปยังหาดสมิหลา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้มาพำนักเพื่อประชุมครม.สัญจร และตรวจราชการในจังหวัดใกล้เคียง

จากนั้นในวันอังคาร ในการประชุมครม.สัญจร รัฐบาลได้ประกาศขยายเวลาการกำหนดให้พื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และอ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นพื้นที่ควบคุม ตามอำนาจของ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ)

โครงการโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินเทพา กำลังผลิต 2,200 เมกกะวัตต์ ใช้พื้นที่ก่อสร้าง 2,960 ไร่ จะก่อสร้างในพื้นที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งวันอังคารที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามูลค่ากว่า 1 แสนล้าน แห่งนี้แต่อย่างใด

กอ.รมน. ภาค 4 แจงการประกาศ พรบ. คุมพื้นที่ เป็นไปเพื่อความปลอดภัย

พ.อ.ธนาวีร์ สุวรรณรัตน์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้าเปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า การประกาศขยายเวลาให้พื้นที่ 5 อำเภอ ของจังหวัดปัตตานี และสงขลา เป็นพื้นที่ควบคุม คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 อาศัยอำนาจตามความในมาตราที่ 15 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร

ก่อนหน้านี้ มีการต่ออายุการบังคับใช้ พรบ.ดังกล่าว เมื่อปลายปี 2559 โดย พรบ. ความมั่นคงให้อำนาจแม่ทัพภาคที่สี่ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศในพื้นที่ สามารถใช้อำนาจได้มากกว่ากฎหมายปกติ เช่น การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ การประกาศเคอร์ฟิว การห้ามบุคคลพกพาอาวุธ เป็นต้น

“กอ.รมน.4 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบให้เป็นศูนย์อำนวยการรับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และมีความจำเป็นเพื่อความมั่นคง จึงได้มีการประกาศใช้” พ.อ.ธนาวีร์กล่าว

อนึ่ง พื้นที่ดังกล่าว ได้มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเป็นระยะๆ

ต่อการประกาศพื้นที่ควบคุม ประชาชนรายหนึ่ง (สงวนชื่อ-นามสกุล) ซึ่งอาศัยอยู่ใน อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี กล่าวว่า ตนเองไม่รู้สึกแตกต่างระหว่างการประกาศควบคุมพื้นที่หรือไม่

"ที่แม่ลานมีการประกาศใช้ พรบ.นี้ ความรู้สึกไม่ต่างอะไรมาก หากเทียบกับพื้นที่อื่นในจังหวัดภาคใต้ที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ทำงานเหมือนกัน จับแบบเดียวกันกับพื้นที่อื่น ในยะลา ปัตตานี นราธิวาส ที่สงขลา ก็เหมือนกันแบบเดียวกัน ตราบใดที่คนถืออำนาจมีอคติ ไม่ว่าจะประกาศใช้ กฎหมายอะไร ชาวบ้านก็เดือดร้อนจากการใช้กฎหมายเหมือนกัน” ประชาชนรายดังกล่าวระบุ

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.benarnews.org/thai/news/TH-protests-coal-12012017173820.html