Skip to main content

 

 

#เด็กปอเนาะต้องไม่สูบบุหรี่

ผมเอาตัวเข้าคลุกคลีในวงการการศึกษามุสลิมไทยอยู่บ้าง มีประสบการณ์ในรั้วโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามมาก็หลายปี

คุณแม่เองก็เป็นข้าราชการครู เป็นอาจารย์ในโรงเรียนมัธยมที่มีนักเรียนมุสลิมร้อยเปอร์เซ็นต์ มีวันศุกร์เป็นวันหยุดราชการ ท่านรับใช้ชาติด้วยความเป็นครูจวบจนเกษียณ เรื่องราวมากมายผมก็ได้ยินกันอยู่

ปกติแล้วชนิดของสถาบันการศึกษาสำหรับมุสลิมเรามักแบ่งกันหยาบๆ พื้นๆ ก็มีอยู่สามประเภท คือหนึ่ง เรียนในปอเนาะ สองเรียนในโรงเรียนสามัญทั่วไป และสามคือเรียนในโรงเรียนชีวิต หรือเรียกว่าเรียนรู้จากประสบการณ์ล้วนๆ

ต่างฝ่ายก็มีข้อดี ข้อเสียต่างกันไป ไม่ขอพูดถึง และไม่ต้องการเปรียบเทียบ

ที่อยากจะเอ่ยถึงในโพสนี้คือคนทั่วไปมักเข้าใจว่าเด็กนักเรียนในปอเนาะมักมีภาพของการสูบบุหรี่สูง บางคราวอาจจะสูงกว่าโรงเรียนชีวิตด้วยซ้ำ

ทั้งๆที่ผมเชื่อว่า "ไม่เกี่ยวกัน" แต่ก็ยังได้ยินอยู่เรื่อยมาว่าอยู่ปอเนาะ สูบบุหรี่เป็นเรื่องธรรมดา

ใคร่อยากขอเอ่ยว่า "เด็กปอเนาะ" ระดับโลกอย่าง "ดร.สุรินทร์" ก็เป็นข้อแย้งที่ดี ว่าเด็กปอเนาะไม่ได้ต้องสูบบุหรี่เสมอไป

ท่านเป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช่ไม่สูบอย่างเดียว

ท่านไม่ชอบเลยล่ะ ได้กลิ่นบุหรี่ทีไร ท่านก็ออกอาการไม่พึงพอใจ เท่าที่สังเกตท่านมักไม่นั่งอยู่ในวงบุหรี่นานหรอก

เอากันตรงๆ ผมก็ไม่เคยเห็นท่านอยู่ในวงบุหรี่เลยสักครั้ง

ฉะนั้น เรื่องที่ท่านสูบบุหรี่นี่ เลิกคิดไปได้เลย

ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ มีความพยายามจากบริษัทบุหรี่รายใหญ่ของโลก ล็อบบี้ให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ส่งสัญญานให้เมืองไทยเปิดเสรีทางการค้าบุหรี่ พร้อมขอให้ยกเลิกการห้ามโฆษณาบุหรี่ด้วยเหตุผลถึง "เสรีทางการค้าและความเสมอภาค" ในการทำการตลาดในเมืองไทย

ดร.สุรินทร์ได้รับทาบทามจากคุณหมอประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ที่ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อต่อต้านพิษภัยจากบุหรี่ ให้เดินทางไปให้การต่อการทำประชาพิจารณ์ว่าด้วยเรื่องนี้ เพราะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพและอนาคตของประชาชนคนไทย

ดร.สุรินทร์ตอบรับ และเมื่อขึ้นเวทีประชาพิจารณ์ต่อสำนักผู้แทนการค้าของสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประโยคเด็ดๆไม่ขาดสายก็ถูกกล่าวออกมา

"ประเทศไทยก็มีสินค้าดีมาก ที่สามเหลี่ยมทองคำ แต่เราไม่ส่งออก เราปราบปราม" กลายเป็นประโยคคมกริบ ที่ทำให้ทุกฝ่ายตะหนักถึงความไม่เห็นด้วยของไทยในคราวนั้น

หลายท่านอาจเข้าใจว่า "ดร.สุรินทร์" เชียร์อเมริกา แต่วันนั้นท่านได้ตำหนิสหรัฐฯอย่างเต็มที่ เพราะข้อมูลก็ประจักษ์กันดีอยู่ว่าทางบริษัทบุหรี่จะเอายาพิษเข้าประเทศไทยอีกมากมายหากไม่ยับยั้ง

"(หรือ)สหรัฐฯจะส่งออกยาเสพติดที่ทำร้ายคนไปทั่วโลก !" มันไม่ใช่คำถาม แต่มันเป็นคำตำหนิที่เอาจริง ต่อต้านแข็งขัน

และนั้นก็กลายเป็นการ "ปิดประตู" ต่อนโยบายที่ต้องการให้บุหรี่อเมริกันเข้าเมืองไทยโดยไม่เสียภาษี และยกเลิกโฆษณาต่อต้านบุหรี่ที่ไม่ง่ายเลยที่เราจะมีกฏข้อนี้มา

หากท่านไปประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเราอย่างอินโดนีเซีย กัมพูชา เราจะทราบดีว่านโยบายหรือแผนการต่อต้านบุหรี่ของเมืองไทยเราล้ำกว่ามาก

ส่วนหนึ่งก็คือการที่เราไม่ได้ทำลายหรือยกเลิกในสิ่งที่ผู้รักสุขภาพเขาสร้างกันมา

ซึ่งไม่แน่ว่าหากวันนั้น ดร.สุรินทร์ คุณหมอประกิต ไม่ไปหรือโน้มน้าวไม่สำเร็จละก็ ...

บุหรี่อาจจะแพร่หลายและหาซื้อกันง่ายขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ก็เป็นได้

ผมเชื่อว่าประสบการณ์ครั้งนั้นก็สร้างจุดยืนให้กับ ดร.สุรินทร์ มาไม่น้อย ยิ่งเมื่อท่านดำรงตำแหน่ง "เลขาธิการอาเซียน" ท่านมักเน้นถึง "สามเสาหลัก" ของอาเซียน ได้แก่ ๑.การเมืองความมั่นคงอาเซียน ๒.เศรษฐกิจอาเซียน และ ๓.สังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ที่เราคุ้นหูกันดีคือเสาที่สอง "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" หรือที่เรียกย่อๆว่า "AEC"

เพราะมันเป็นเสาที่ก่อร่างได้ง่ายและพูดจากันรู้เรื่องมากที่สุด เป็นรากฐานของความไว้วางใจกัน อันสามารถตั้งเสาที่เหลือต่อไปได้

"ดร.สุรินทร์" ก็มุ่งไปทางนั้น โฟกัสในเรื่องของการค้า การลงทุน และการสร้างโอกาสในอาชีพ

เราเลยมีโอกาสได้เห็นนวัตกรรมทางภาษี ได้ยินเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีในภูมิภาค ได้สัมผัสถึงความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนมากขึ้น

ประสบการณ์เรื่องต่อต้านบุหรี่ในคราวนั้น ได้กลายเป็นแผนงานในการค้าการขายในอาเซียน กล่าวคืออาเซียนจะสนับสนุนให้มีการค้า การขายในแทบทุกประเภทสินค้า นอกจากสินค้าสารพิษ ยาเสพติด !

เรื่องยาดองของเมา เหล้ายาบาระกู่ บุหรี่ นี้ ไม่ถือเป็นสินค้าเสรีที่อาเซียนสนับสนุน กลับเป็นเรื่องที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อต้านอีกต่างหาก

เราเรียกนโยบายนี้ว่า "green and safe trade"

นั้นเกิดในยุคของ "ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ" เด็กปอเนาะจากเมืองไทย

ผมมีความฝันนะ ว่าอยากอยู่ในสังคมที่ไม่มีพิษภัยของยาเสพติด ที่แม้แต่บุหรี่ก็ยังถูกปฏิเสธ

ทำใจได้ลำบากว่าหากลูกเรา หลานเรา ต้องได้รับยาพิษจากบุหรี่ ยาเสพติด แล้วชักดิ้นชักงอ เจียนตาย เพราะความไม่สนใจที่จะต่อต้านมันแม้จะเล็กน้อย

มองในจุดนี้ก็พอจะเห็นในอีกทางหนึ่งว่า "อำนาจ" นั้นก็เป็นอาวุธหนึ่งที่สามารถทำให้สังคมดีขึ้นได้ หากใช้ให้ถูกที่ มีเหตุผล และเน้นในเรื่องป้องกันภัย

แต่ไม่จำเป็นต้องใคร่ถึงการมีตำแหน่งใหญ่โต เงินเดือนมากโข "อำนาจ"ที่ทรงพลังยิ่งคือ "ตัวเรา ใจเรา" หากปฏิเสธสิ่งที่ทำร้ายร่างกายเรา เราก็จะเข้มแข็ง เราจะไม่อ่อนแอ

คงจะดีมากเลยล่ะ หากบรรดานักเรียนเด็กปอเนาะ ลด ละ เลิก บุหรี่ และพิสูจน์ให้สังคมรับรู้ว่าเมื่อคุณเป็นเด็กปอเนาะ บุหรี่และยาเสพติดทั้งหลายจะกลายเป็นศัตรูของคุณ

เมื่อนั้นคุณอาจช่วย "รักษา" สังคมไว้ให้อยู่ในสถานะปลอดภัยได้ เหมือนดั่งที่ "เด็กปอเนาะอับดุลฮาลีม (สุรินทร์) พิศสุวรรณ" เคยยืนหยัดมาแล้ว .

 

#PrinceAlessandro

03-12-2017

ปล.โพสนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากความในใจของ "ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ" วีรบุรุษการต่อต้านพิษภัยบุหรี่โลกจากประเทศไทย.

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ตัวอักษรที่ท่าน ดร.สุรินทร์ มิได้อ่าน...

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กับงาน Thailand Halal Assembly

book review ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น "ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ"

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ : โลกนี้แค่ที่พัก

ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กับเจตนารมณ์เพื่อสังคม