Skip to main content

 

 

ขอเริ่มต้นบทความนี้ด้วยกับพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ

*หมายเหตุ : นี่เป็นบทความที่พูดถึงความรู้สึกและสิ่งที่คิด หลังจากได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง "มหาลัยวัวชน Song from Phatthalung" เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของใครทั้งสิ้น และไม่ได้รับผลประโยชน์จากใครแต่ประการใด ในเมื่อภาพยนตร์ได้เผยแพร่ออกมาทางสื่อ อันมีผลต่อความคิด ความรู้สึก ภาพลักษณ์ จุดยืนของคนในสังคม กระผมจึงอยากจะใช้ช่องทางสื่อในการตอบโต้เช่นกัน

เริ่มแรกก็อยากจะแสดงจุดยืนของตัวผมเองให้ทราบก่อนว่า ผมนับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาแห่งความสันติ เป็นศาสนาแห่งการยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้า มีจุดประสงค์ให้ศาสนิกใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้อย่างสันติด้วยสัจธรรมที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า ใช้ชีวิตอยู่กับชาวต่างศาสนิกด้วยมิตรไมตรี มารยาทที่ดี ไม่เบียดเบียนหรือลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้อื่น โดยเฉพาะสังคมไทยที่เป็นพหุวัฒนธรรม มีความศรัทธาอันหลากหลาย มีสิทธิและอิสรภาพในการแสดงออกถึงความเชื่อส่วนบุคคล การไม่มีอคติและการเคารพซึ่งกันและกันย่อมเป็นสิ่งสำคัญและเป็นหลักให้เราทุกคนที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยแห่งนี้ยึดถือปฏิบัติ

สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ กระผมได้สังเกตเห็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง "ยังบาว เดอะมูฟวี่ Young Bao The Movie" ที่เข้าฉายในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เขียนบทและกำกับการแสดงโดย ยุทธกร สุขมุกตาภา ได้ปรากฏตัวละครประกอบที่แสดงในฉาก ณ ผับแห่งหนึ่งในฟิลิปปินส์ ที่มีการแสดงของวงดนตรีและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอลอฮ์ ตัวละครในบทดังกล่าวสวมชุดสีขาว คล้ายชุดโต้ป และสวมผ้าโพกศีรษะสีขาวและมีปลายผ้าห้อยลงมาด้านหลังศีรษะ คล้ายลักษณะของผู้ชายมุสลิม ซึ่งกระผมมั่นใจเหลือเกินว่าไม่ใช่ลักษณะของผู้ชายที่นับถือศาสนาสิกข์ ฮินดู หรือคริสต์ ซึ่งผิดธรรมชาติของผับที่มีแต่คนที่สวมใส่เครื่องแต่งกายแบบทันสมัย ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อผ้าแบบมาเที่ยวผับ ไม่ใช่ใส่โต้ปมา ต้องการจะปลดปล่อยตัวเองจากความเครียด ต้องการความบันเทิงและเพลิดเพลิน หาความสุขใส่ตัว ไม่น่าจะมีคนลักษณะเช่นที่ว่าอยู่ในนั้น ก็ไม่ทราบถึงเจตนาของผู้สร้างและเขียนบทหนังเรื่องนี้ รวมถึงจัดชุดแต่งกายในฉากนี้ ว่ามีจุดประสงค์อันใด

และล่าสุด ผมได้ข่าวว่าทางค่ายเพลงบ้านๆแห่งหนึ่ง ที่ในภาคใต้ ได้นำเอาเรื่องราวชีวิตของกลุ่มศิลปินนักร้องนักดนตรี เด็กบ้านๆ มาทำเป็นภาพยนตร์ นั่นก็คือ "มหาลัยวัวชน Song from Phatthalung" หลังจากที่เพลง มหาลัยวัวชน ของศิลปินวงพัทลุง ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนทำให้นำมาเขียนบทและสร้างเป็นภาพยนตร์ดังกล่าว จุดประสงค์ที่รับทราบโดยทั่วไปก็คือ ต้องการจะสื่อให้เห็นถึงความพยายามของศิลปินบ้านๆกลุ่มหนึ่งที่นำโดย "โอ พารา" ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง"พารา ฮัท" จากจังหวัดพัทลุง ในการสานฝันของตัวเองและน้องๆให้เป็นจริง และพบเจอกับความสุขในสิ่งที่ตัวเองชอบ อันนี้ก็ขอยกย่องและชื่นชม มันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ แต่สามารถสร้างสรรค์ผลงานเพลงเพื่อขับกล่อมให้เป็นที่ยอมรับของผู้คนในวงกว้างได้ ไม่ใช่แค่เฉพาะคนใต้เท่านั้น ผมในฐานะที่มีบทเพลงที่แต่งขึ้นเอง แต่ไม่ได้เอาจริงเอาจังในด้านนี้ ก็เข้าใจถึงความรู้สึก ความหวัง ความฝัน ในการทำบางสิ่งด้วยกับสามารถของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์ว่าฉันก็ทำในสิ่งที่ฉันชอบได้เหมือนอย่างคนอื่นๆเขา ถ้าหากไม่ติดกับเงื่อนไขใดๆ ผมเองก็อาจจะเติบโตอย่างเช่นพวกเขากลุ่มนี้ก็คงเป็นไปได้

แต่มีบางอย่างที่สังเกตเห็นจากหนังเรื่องนี้ ไม่คิดว่าจะเจออะไรที่ทำให้รู้สึกแย่ เหมือนกับหนังเรื่อง ยังบาว เดอะมูฟวี่ ที่ได้กล่าวมา นั่นก็คือ ตั้งแต่นาทีที่ 17.50 - 21.00 ในฉากขณะที่โอ กำลังนำพวกไปขโมยเสาหลักปูน ณ ที่แห่งหนึ่งคล้ายสวนยางพาราในตอนกลางคืน โดยมีการยกมือไหว้วัตถุดังกล่าว พร้อมพูดว่า "ขอไปไว้ที่ขนำนะ" แล้วจึงช่วยกันขุดเพื่อนำไปทาสีเป็นหลักกิโล และประดับไว้ที่ขนำของพวกเขา ในฉากดังกล่าว สวมเสื้อผ้าสีดำมีลายต่างๆบนเสื้อ และสวมไอ้โม่ง แต่ปรากฏว่าเสื้อสีดำที่โอสวมใส่มีคำว่า "muslim" สีฟ้า ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ด้วยฟ้อนท์ภาษาอังกฤษประยุกต์ให้คล้ายภาษาอาหรับ และทราบมาว่า โอก็ไม่ได้เป็นมุสลิม จึงเป็นไปไม่ได้ว่า การสวมใส่เสื้อตัวนี้เพื่อแสดงถึงความภาคภูมิใจในความเป็นมุสลิมนั้นเป็นไปไม่ได้ ยิ่งถ้าหากเขาเป็นมุสลิมเอง บทบาทในการแสดงเช่นนี้กับการสวมใส่เครื่องแต่งกายดังกล่าว นับเป็นการดูหมิ่นภาพลักษณ์ของมุสลิมอย่างไม่น้อย

ในภาพอาจจะมี หนึ่งคนขึ้นไป, กลางคืน และ ข้อความ

อนึ่ง หลังจากนั้น ก็ยังมีฉากในตอนกลางคืน ขณะที่โอจูงมือชาวมันนิ หรือ ซาไก่ ที่ชื่อ "เฒ่ายาว" มานั่งและดึ่มเหล้า ซึ่งเขาได้รินเหล้าและชักชวนให้ชาวมันนิคนดังกล่าวดื่มและสังสรรค์เฮฮากันด้วยการร้องเพลงเล่นดนตรีกันรอบกองไฟในป่ายาง บ่งบอกให้รู่ว่าตนตัวในบทบาทที่โอแสดงไม่ใช่ภาพพจน์ที่เหมาะสมในการแสดงจุดยืนของความเป็นมุสลิม แม้แต่ในศาสนาพุทธ หรือ คริสต์เอง การดื่มสุราเมรัย สิ่งมึนเมา ก็เป็นการกระทำที่ผิดศีล

กระผมจึงเกิดความสงสัยถึงการจัดบทการแสดง และเครื่องแต่งกายที่นักแสดงสวมใส่ ว่ามีการจัดการกันอย่างไร ผมจึงได้สอบถามไปยังพี่คนนึงที่ได้ร่วมแสดงในหนังเรื่องนี้ด้วย ก็ได้ความมาว่า มีทีมงานเป็นผู้รับผิดชอบ และมีบ้างที่เพื่อนๆในกลุ่มเป็นผู้นำเสนอและเลือกชุดแต่งกายกันเอง จะมีคนจดซีนไว้ในแต่ละฉาก สรุปคือไม่ได้เป็นเรื่องบังเอิญ แต่จะเพื่อจุดประสงค์อันใด อันนี้ต้องขอคำตอบจากทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง"มหาลัยวัวชน Song from Phatthalung" เพื่อความชัดเจนในประเด็นนี้ และอยากให้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการดึงภาพลักษณ์ของมุสลิมไปเกี่ยวโยงกับภาพยนตร์ดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้นับถือศาสนาหนึ่งศาสนาใด ความเชื่อหนึ่งความเชื่อใด ที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยอันเป็นพหุวัฒนธรรม หวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในฉากของภาพยนตร์ใดหรือมิวสิกวิดีโอใดอีกต่อไปในวันข้างหน้า

ด้วยความปรารถนาดีต่อทุกคนในทีมงานและด้วยความรักที่มีต่อพี่น้องมุสลิม

 

อาตี๋เล็ก เจริญจิต (Anirut Jaroenjit)

07/12/2056

 

อ้างอิงแหล่งที่มาในการเผยแพร่ภาพยนตร์บนช่องทางสื่อ : https://youtu.be/bkSjU-Oc9As