Skip to main content

ครั้งแรกที่ได้พบ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ คือตอนที่ท่านไปปฏิบัติราชการ ณ กรุงนิวเดลฮี ประเทศอินเดีย ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ

ขณะนั้นผมยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีการ์ ซึ่งห่างออกไปจากกรุงเดลฮีประมาณ 132 กิโลเมตร พวกเราที่เป็นนักศึกษาไทยเมื่อรู้ข่าวว่า ดร. สุรินทร์ จะมา จึงจัดการเช่ารถเดินทางกว่า 4 ชั่วโมงมาต้อนรับพบปะกับท่านที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลฮี

หลังจากฟังท่านปาฐกถาพิเศษ พวกเราก็เดินทางกลับทันที แม้ต้องใช้เวลาอีกกว่า 4 ชั่วโมงบนถนนขรุขระที่เต็มไปด้วยผู้คนและสิ่งกีดขวาง แต่ขากลับมันช่างแตกต่างกับตอนที่เดินทางมา เพราะพวกเราไม่ได้กลับไปมือเปล่า เรากลับไปพร้อมกับความรู้ใหม่ ๆ ความภาคภูมิใจ ความหวัง และแรงบันดาลใจ

หลายปีผ่านไปผมกลับมาเมืองไทย เริ่มทำงานที่สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิต แต่ที่ไม่เคยคิดไม่เคยฝันคือท่าน ดร.สุรินทร์ ได้ให้เกียรติมาเป็นผู้บรรยายพิเศษในวันเปิดตัวหนังสือของผม มีคนมาร่วมงานเต็มห้องประชุมชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ที่จุคนได้มากกว่า 200 คน ผู้มาร่วมหลายคนไม่มีที่นั่งจนต้องจัดเก้าอี้เสริม

ผมจำไม่ได้แล้วว่าหัวข้อบรรยายพิเศษวันนั้นเราใช้ชื่อว่าอะไร แต่ที่จำได้แม่นคือ ดร.สุรินทร์ สามารถสะกดคนฟังชนิดที่ไม่มีใครลุกจากเก้าอี้ไปไหนแม้แต่คนเดียว ท่านสรุปตอนท้ายได้อย่างน่าประทับใจถึงสถานการณ์โลกมุสลิมกับความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นว่า “โลกมุสลิมมีความภาคภูมิใจในอดีต มีความเจ็บปวดในปัจจุบัน แต่เป็นโลกที่มีวิสัยทัศน์ในอนาคต” ในความเห็นของผม ทั้ง 3 ประโยคนี้สะท้อนถึงความรอบรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อความเป็นมาเป็นไปของโลกมุสลิมอย่างที่หาใครเทียบได้ยาก

กลับมาที่บทสัมภาษณ์ของ ดร.สุรินทร์ ที่ผมได้มีโอกาสไปพูดคุยกับท่าน ณ ปอเนาะบ้านตาล (ต่อจากข้อเขียนของผมเมื่อวาน) คำถามคือทำไมไทย ซึ่งไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม จึงได้รับการยอมรับให้เป็นสมาชิกสังเกตการณ์ในองค์การความร่วมมืออิสลาม ผมถาม ดร.สุรินทร์ ว่ามันยากไหมครับ ท่านก็ตอบว่า…..

มันก็ไม่ได้ง่ายตรงที่ว่าหาก OIC เปิดกว้างประเทศต่าง ๆ ก็จะเข้ากันไปหลายประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีขั้นตอน มีหลักประกัน มีผู้สนับสนุน ในช่วงนั้นทุกอย่างมันสอดคล้องกันตรงที่ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศไทยเป็นมุสลิม และเป็นเด็กปอเนาะด้วย คือไม่ใช่มุสลิมแต่ชื่อ แต่เป็นมุสลิมนักปฏิบัติ (practicing Muslim) ไปที่ไหนก็พอที่จะถกกับเขาได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับพิธีกรรมพิธีการ และเคยเป็นอมีรุลฮัจญ์มาแล้วหลายครั้ง เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศมาแล้ว โดยรวมแล้วคือได้สร้างฐานไว้พอควร มันก็ผสมกลมกลืนกันหลายเรื่อง จนกระทั่งที่ผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เราก็แสดงความจำนงว่าเราอยากจะเป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์ถาวร

ปรกติ OIC จะมีประชุมปีละ 2 ครั้ง คล้าย ๆ อาเซียน คือเจ้าภาพเชิญมาประชุมครั้งหนึ่งในประเทศสมาชิก อีกครั้งหนึ่งเขาพบกันที่สหประชาชาติในช่วงที่มีการประชุมสมัชชาใหญ่ ในปี ค.ศ. 1998 เราก็ทำหนังสือสมัครเป็นสมาชิกในระดับสังเกตการณ์ถาวร แต่วันที่เขาประชุมกันจริง ๆ ผมต้องกลับประเทศและไม่ได้ไปนั่ง defense อะไรเลย

ท่านอาลี อลาตาส (อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย) บอกว่า Leave it to me บอกว่าคงไม่จำเป็นต้องอยู่หรอก อีกท่านคือ อับดุลลอฮ์ บาดาวี (อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย) ก็รู้จักและเคยทำงานด้วยกันเพราะเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศมาแล้ว เรื่องการต่างประเทศก็คุ้นเคยกันมาแล้ว

ท่านอลาตาสกับท่านอับดุลลอฮ์ บาดาวี คือบุคคลที่เป็นเหมือนผู้รับรองความประพฤติของสมาชิกใหม่ คือตรงนี้ต้องมีผู้สนับสนุน (sponsor) พอเรื่องวาระของเรา มันก็เลยผ่านการรับรองโดยมีเพื่อนบ้าน 2 ประเทศคือ อินโดนีเซียและมาเลเซียพร้อมที่จะตอบคำถามแทนเราหากใครมีข้อกังขาใด ๆ

แต่ผมว่าการที่ไทยมีรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเป็นมุสลิม มันช่วยได้มาก