Skip to main content

เลขานุการ คณะพูดคุยสันติสุข: รายละเอียดแนวทางการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยพร้อมแล้ว

 

มารียัม อัฮหมัด
กรุงเทพฯ
 
171208-TH-talk-sitthi-620.jpg
พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ (ใส่สูท) เลขานุการ คณะพูดคุยสันติสุขการพูดคุยสันติสุข ระหว่างการสัมมนาวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 7 ธันวาคม 2560
เบนาร์นิวส์
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการ คณะพูดคุยสันติสุข ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางคณะฯ มีรายละเอียดขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยพร้อมแล้ว รอเพียงการพบปะระหว่างฝ่ายคณะพูดคุยและฝ่ายมาราปาตานี เพื่อพิจารณาแสดงความเห็นชอบร่วมกัน ในการประชุมเต็มคณะคราวหน้าที่คาดว่าจะมีขึ้นในปีหน้า

พล.ต.สิทธิ กล่าวว่า หลังจากการบรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้ว จะมีการตั้ง “เซฟเฮ้าส์” เป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกฝ่าย คือ ฝ่ายปาร์ตี้เอ ปาร์ตี้บี และภาคประชาสังคม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนว่า พื้นที่ปลอดภัยควรเป็นเช่นไร

พล.ต.สิทธิ ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าของพื้นที่ปลอดภัยแก่ผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ ภายหลังเสร็จสิ้นการสัมมนาเรื่องบทบาทคนนอกพื้นที่กับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ เป็นเวลาสองวัน ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ (7 ธันวาคม 2560)

“ความคืบหน้าของการพูดคุยล่าสุด เรามีละเอียดครบแล้ว เหลือแต่ขั้นตอนของการอนุมัติหรือความเห็นชอบของคณะพูดคุยทั้งสองฝ่าย และมีละเอียดเรื่องพื้นที่ปลอดภัย มีประเด็นการพัฒนา การใช้อำนาจการคุ้มครองผู้เห็นต่างที่เข้ามาร่วมโครงการ รวมทั้งคนในพื้นที่ที่จะเข้ามาร่วมโครงการ คนในพื้นที่ต้องได้รับการประกันทั้งสองฝ่าย ต้องมีหลักประกันว่าเขาจะปลอดภัย ไม่โดนคุกคามจากทั้งสองฝ่าย ทั้ง A ทั้ง B สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเสรี” พล.ต.สิทธิ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอาบูฮาฟิซ อัล-ฮาคิม โฆษกมาราปาตานี ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า อาจจะมีการพบปะของผู้แทนเจรจาเต็มคณะได้ก่อนวันคริสต์มาส แต่ พล.ต.สิทธิ กล่าวว่า ยังคงเป็นไปไม่ได้เพราะฝ่ายมาเลเซียมีวันหยุดหลายครั้งในเดือนนี้

“ในขั้นต้น เราจะจัดตั้งเซฟเฮาส์ก่อน เซฟเฮาส์เกิดขึ้นก่อนพื้นที่ปลอดภัย เราตั้งเซฟเฮาส์เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งปาร์ตี้เอ และปาร์ตี้บี และคนในพื้นที่มานั่งทำงานรวมกัน เหมือนกับศูนย์ประสานงาน ทำหน้าที่ชี้แจงรายละเอียดข้อเสนอต่างๆ รับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ว่า พื้นที่ปลอดภัยมันคืออะไร มีความกังวลอะไรในเรื่องพื้นที่ปลอดภัย” พล.ต.สิทธิอธิบาย

สุดท้ายจึงเข้าสู่เฟสสอง คือการดำเนินโครงการพื้นที่ปลอดภัยเป็นเวลา 3 เดือน จะมีการติดตาม-ประเมิน หลังจากดำเนินการ ว่ามีการก่อเหตุหรือไม่มีการก่อเหตุ อย่างไร สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นหรือไม่ โดยเป้าหมายที่ทางเราเห็นชอบเหมือนกัน ภายใน 6 เดือน พื้นที่ปลอดภัยก็จะประกาศเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติดด้วย พล.ต.สิทธิ อธิบายเพิ่มเติม

“สรุปคือ เกิดเซฟเฮาส์ก่อนแล้วจะดำเนินในเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เซฟเฮาส์เสร็จประมาณ 1 เดือน (หลังเห็นชอบในพื้นที่ปลอดภัย) เหมือนเป็นการเตรียมความรู้ให้คนในพื้นที่รับรู้ว่าจะมีพื้นที่ปลอดภัยแล้วนะ” พล.ต.สิทธิกล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยเป็นหนึ่งในมาตรการเสริมสร้างและทดสอบความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างสองฝ่าย

ด้านนางรอซิดะห์ ปูซู เป็นประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แสดงความยินดีต่อการเปิดพื้นที่ให้เด็กและสตรี มีส่วนร่วมในการก่อตั้งเซฟตี้โซน

"ถือเป็นมิติที่ดี เพราะในมิติของผู้หญิงรัฐควรให้ความสำคัญ อย่างที่มีการเรียกร้องถึงขนาดขอให้มีสัดส่วนของผู้หญิงเข้าไปนั่งบนโต๊ะพูดคุย ซึ่งการแสวงหาสันติภาพ ทุกคนต้องมาร่วมมือกัน ในมิติต่างๆ ล้วนมีผู้หญิงเข้าไปมีส่วน ทั้งมิติครอบครัว การศึกษาการพัฒนา" นางรอซิดะห์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

บีอาร์เอ็น เริ่มเปลี่ยนทัศนะไปในทางบวกมากขึ้น

ทางฝ่ายไทยและมาราปาตานี ที่ประกอบด้วยสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นบางส่วน กลุ่มพูโล จีเอ็มไอพี จะได้คัดเลือกพื้นที่หนึ่งอำเภอขึ้นมา เพื่อจัดทำเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง ควบคู่กับการเจรจาในภาพใหญ่

พล.ต.สิทธิ ได้กล่าวว่า ฝ่ายปฏิบัติการของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลมากที่สุด ได้มีการปรับตัวลดความรุนแรงลงในห้วงเวลาที่ผ่านมา

“...เรามองที่ BRN มีแนวโน้มที่ดีขึ้น คนกลุ่มนี้เริ่มที่จะให้ความสนใจให้ความร่วมมือกับการพูดคุย เพราะเป็นทางออกสุดท้ายแล้วว่า ที่ผ่านมาการใช้ความรุนแรงไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ มีแต่ความสูญเสีย ถ้าการพูดคุยด้วยสันติวิธี จะทำให้พื้นที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะการที่เขาออกมายิงระเบิด ไม่ได้สื่อว่าเขาต้องการอะไร และคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด” พล.ต.สิทธิ กล่าว

นอกจากนั้น พล.ต.สิทธิ ยอมรับว่า ความรุนแรงมีมาจากทั้งสองฝ่าย

“เราต้องยอมรับว่า มันมีความรุนแรงเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มขบวนการ อยากให้คนในพื้นที่ออกมาต่อต้านเรื่องการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย ในทุกรูปแบบ คืออยากให้ความชอบธรรมมาเป็นคุณค่าที่ถูกต้องในสังคม ต้องช่วยกันปฏิเสธ เพราะเมื่อใดที่มีการออกมาปฏิเสธความรุนแรง ไม่ว่ากลุ่มทางเขาทางเจ้าหน้าที่ ก็จะมีการระมัดระวังในการปฏิบัติ” พล.ต.สิทธิ กล่าว

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ benarnews.org