Skip to main content

 

บทบาทของศาสนิกชนในความขัดแย้งชายแดนใต้/ปาตานี

 

อิมรอน  ซาเหาะ

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Patani Forum

ในงานเสวนา “บทบาทคนนอกพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้” เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Strengthening Human Rights and Peace Research and Education in ASEAN/Southeast Asia (SHAPE-SEA) ณ ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ ชั้น 12 อาคารรัฐศาสตร์ 60 ปี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โปรแกรมสุดท้ายของงานเป็นเวทีเสวนาและนำเสนองานศึกษา เรื่อง “บทบาทของศาสนิกชนในความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้: สำรวจประเด็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างศาสนา” โดย อ.ประกีรติ สัตสุต นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน อ.อับดุลเล๊าะ หมัดอะด้ำ ตัวแทนองค์กรปาตานีฟอรั่ม ดร.ผกาวดี สุพรรณจิตวนา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ดำเนินรายการ ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

อับดุลเลาะห์ หมัดอะด้ำ : กระแสอิสลามโมโฟเบียในประเทศไทย

อ.อับดุลเลาะห์ หมัดอะด้ำ กล่าวว่า เมื่อเรากล่าวถึงว่าด้วยเรื่องอิสลามโมโฟเบียแล้วนับตั้งแต่เริ่มมีกระแสขึ้นก็มีการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้ในสังคมไทยอยู่น้อยมาก ในการศึกษาสำรวจศึกษาที่ทางองค์กรปาตานีฟอรั่มได้จัดทำเป็นระยะเวลา 2 ปี ได้ใช้การสุ่มเลือกพื้นที่ที่มีกรณีตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดและเลือกจังหวัดที่มีการกลมกลืนทางวัฒนธรรมในระดับหนึ่ง ซึ่งเลือกจาก 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือในจังหวัดเชียงใหม่และน่าน ภาคอีสานในจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี ภาคกลางในจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี ภาคใต้ตอนบนในจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช และภาคใต้ตอนล่างในจังหวัดปัตตานีและยะลา โดยลงพื้นที่พูดคุยทั้งแบบรายบุคคลและรายกลุ่ม จากตัวแทนทั้งจากชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวมุสลิม

ปรากฏการณ์โดยภาพรวม จะเห็นได้ว่า กระแสอิสลามโมโฟเบียหรือความเกลียดกลัวอิสลามเริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัด นับตั้งแต่เหตุการณ์ 9-11  (วินาศกรรมตึกเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ 11 กันยายน 2011) อิสลามโมโฟเบียได้ถูกแบ่งเป็นสามระดับคือ 1. ระดับปัจเจก เมื่อเห็นคนมุสลิมไม่กล้าปฏิสัมพันธ์ เห็นมัสยิดหรือผู้หญิงสวมฮิญาบก็รู้สึกอยากทำลาย ซึ่งเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในยุโรป 2. ระดับที่มีการจัดตั้งองค์กร มีนโยบายและคำอธิบายในการจัดตั้งเพื่อปฏิเสธการแสดงออกในเชิงสัญญะต่างๆ ของอิสลามรวมถึงเรื่องผู้อพยพ และ 3. ระดับนโยบายของรัฐ อาจมีทั้งที่ประกาศชัดหรือไม่ชัด ในเรื่องการแสดงสัญญะทางศาสนาในพื้นที่สาธารณะ

เท่าที่ศึกษาพบว่าประเทศไทยยังไม่ปรากฏให้เห็นกระแสอิสลามโมโฟเบียในระดับนโยบาย ปรากฏการณ์ที่เห็นชัดเจนจะเป็นเรื่องการต่อต้านการสร้างมัสยิด ต่อต้านการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลและการดำเนินการต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยต่อประเด็นฮาลาล การไม่ยอมรับให้มุสลิมเข้าทำงานหรือไม่ให้คลุมฮิญาบในหน่วยงานต่างๆ การแสดงกิริยาก้าวร้าวต่อมุสลิมในที่สาธารณะ  

เมื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลซึ่งอาศัยเครือข่ายในพื้นที่แบ่งกลุ่มกันไปพูดคุย กรณีตัวอย่างของจังหวัดน่านเป็นประเด็นที่น่าสนใจ มุสลิมในจังหวัดน่านไม่มีมัสยิด ซึ่งต้องใช้มัสยิดที่จังหวัดแพร่ซึ่งมีระยะทางที่ไกล หลังจากเกิดกระแสต่อต้านการสร้างมัสยิดในจังหวัดน่านเองนั้น มุสลิมในพื้นที่ก็มีความหวาดระแวง เนื่องจากมีการถูกข่มขู่คุกคามเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน  

สำหรับการต่อต้านที่เกิดขึ้นในหลายๆ แห่ง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากคนในพื้นที่เหล่านั้นกลัวว่าจะมีการอพยพของมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามา และกังวลว่าจะถูกกลมกลืนทางวัฒนธรรมเมื่อจำนวนมุสลิมมีมากขึ้น แม้ว่าในบางกรณี เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ผู้ได้รับผลประโยชน์จะไม่ใช่มุสลิมทั้งหมด การใช้คำว่าฮาลาลนั้นก็เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัทต่างๆ ที่ต้องการทำธุรกิจในพื้นที่ตะวันออกกลางและประเทศมุสลิมทั่วโลก  

นอกจากนั้น จากการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า ในเกือบทุกพื้นที่ แม้ว่ารัฐธรรมนูญชี้ชัดว่าทุกคนมีสิทธิได้รับสิทธิเสรีในเรื่องการนับถือศาสนาและความเชื่อ แต่ยังปรากฏให้เห็นว่าหลายๆ สถานประกอบการยังคงห้ามการคลุมฮิญาบ และยังมีเหตุการณ์การใช้วาจาด่าทอมุสลิมเกิดขึ้น  

เหตุผลที่เกิดความกลัว พบว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการรับรู้ข้อมูลด้านเดียวผ่านสื่อและโซเชียลมีเดียต่างๆ แน่นอนว่าเหตุการณ์ 9-11 และความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ มีผลอย่างมากต่อความกลัวนี้ นอกจากนั้น ผลจากการไม่เชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในชุมชนดั้งเดิม หรืออาจเกิดความกลัวที่เมื่อศาสนาอื่นเข้ามาจะทำลายความเป็นพุทธไป นอกจากนั้นก็มาจากตัวมุสลิมเองที่ไม่สามารถปรับตัวได้ อีกทั้งวิถีปฏิบัติกิจวัตรของมุสลิมที่ไม่สามารถแยกออกจากหลักการศาสนาได้ กิจวัตรประจำวันบางอย่างค่อนข้างถูกสังคมมองว่าแปลกและแตกต่างจากสังคมทั่วไป สำคัญที่สุดที่มุสลิมต้องสะท้อนความเป็นตัวตน คือ เมื่อต่างศาสนิกเกิดความสงสัยในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับมุสลิม โดยส่วนมากขาดทักษะการอธิบายให้สังคมเข้าใจ โดยส่วนมากจะอธิบายออกมาในภาพลักษณ์ที่แข็งทื่อ จึงทำให้การเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างกันห่างหายไป

ข้อสังเกตหนึ่งพบว่า พื้นที่ที่ไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ คือพื้นที่ที่มีการปฏิสัมพันธ์และมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างช้านาน เช่น ในจังหวัดอยุธยา อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นอกจากนั้นชุมชนที่มีการปฏิสัมพันธ์แน่นแฟ้น ก่อนเหตุการณ์ 9-11 จะไม่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้  

โดยสรุปแล้วพบว่า ความเกลียดกลัวอิสลามในประเทศไทยมีแนวโน้มจะยังอยู่ในระดับปัจเจกบุคคล แม้ว่าจะเริ่มเห็นในระดับองค์กรแล้ว แต่ยังไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะสร้างความรุนแรงให้เกิดขึ้น แต่อาจเกิดขึ้นได้หากใช้ประเด็นนี้ในการปลุกปั่นที่สามารถนำไปสู่ปฏิบัติการณ์ความรุนแรง หากรัฐไม่จัดการหรือเข้ามามีบทอย่างใดอย่างหนึ่งกับกระแสนี้อย่างจริงจังก็อาจนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงในระดับที่ควบคุมได้ยากขึ้น  

ผกาวดี สุพรรณจิตวนา : ความไม่คุ้นเคยกับการต่อต้านมัสยิดในภาคเหนือ

ดร.ผกาวดี สุพรรณจิตวนา กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วไม่ได้ศึกษาอิสลามโมโฟเบียโดยตรงแต่อาจเป็นลักษณะของการตั้งคำถามต่ออิสลามโมโฟเบียมากกว่า เมื่อมีปัญหาต่อต้านใดๆ ก็ตามทั่วโลก สุดท้ายมักจะไปจบที่คำอธิบายถึงอิสลามโมโฟเบีย แต่คำถามคือทำไมจึงไม่มีการต่อต้านเกิดขึ้นในทุกพื้นที่  

จากการศึกษาเรื่องการต่อต้านการสร้างมัสยิดในจังหวัดทางภาคเหนือ โดยศึกษามัสยิดในหลายๆ แห่ง และแบ่งการมองออกเป็นกลุ่มที่ถูกสร้างหลังเหตุการณ์ 9-11 ที่มีการต่อต้าน และกลุ่มที่ไม่มีการต่อต้าน จนได้คัดเลือกพื้นที่กลุ่มแรกคือเวียงป่าเป้า จังหวัดน่าน และกลุ่มที่สองคือ พื้นที่แม่ลานน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และแม่สายในจังหวัดเชียงราย

ผลการศึกษาพบว่า ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งของพื้นที่ที่มีการต่อต้าน เช่น ในจังหวัดน่านนั้น จะมีประสบการณ์การถูกท้าทายจากวัฒนธรรมหรือศาสนาอื่นไม่มากนัก หลังจากเปลี่ยนจากความเชื่อในผีมาเป็นพุทธ มีการเข้ามาของคริสตศาสนาบ้างแต่มีการจัดการของทางภาครัฐเอง ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือ พื้นที่ที่จะถูกสร้างมัสยิดนั้นอยู่ในเขตชุมชนชาวพุทธและในหมู่บ้านนั้นไม่มีชาวมุสลิมอยู่ สำหรับกรณีของบ้านโป่งน้ำร้อนนั้น ไม่มีชาวมุสลิมเดิมอาศัยในพื้นที่ที่จะสร้าง แต่มีการเคลื่อนย้ายของมุสลิมที่เข้ามาท่องเที่ยวและกรีดยางในบริเวณนั้น แต่ในพื้นที่บ้านโป่งน้ำร้อนจะมีลักษณะที่ไม่ปิด มีความหลากหลายของชนเผ่าที่อาศัยในพื้นที่

สำหรับแม่สายจะมีลักษณะต่างออกไป เนื่องจากเป็นชุมชนชายแดน ที่มีการค้าขาย มีความหลากหลายเป็นฐาน มีประชาชนมุสลิมอยู่เดิม มีการก่อตั้งมัสยิดอยู่หลายแห่ง ส่วนที่แม่ลานน้อย ในแม่ฮ่องสอน นั้นโดยฐานแล้วมีความหลากหลายของชาติพันธุ์เดิมอยู่แล้ว ชุมชนมุสลิมเดิมก็อยู่ในบริเวณนั้น โดยสองพื้นที่หลังมีความเหมือนกันตรงที่ มุสลิมไม่ใช่แค่อาศัยอยู่เฉยๆ แต่ทำงานสาธารณะไปพร้อมๆ กัน เช่น ในแม่สาย คนมุสลิมก็ร่วมทำกิจกรรมที่สามารถทำได้กับชาวพุทธ หรือในแม่ลานน้อยที่มีมุสลิมทำงานสาธารณะแล้วได้รับการยอมรับและลงสมัครเป็นนักการเมืองท้องถิ่น  

ฉะนั้นแล้วเมื่อพูดถึงการต่อต้านการสร้างมัสยิด ต้องยอมรับว่าเมื่อมีมัสยิดปรากฏในพื้นที่ที่ไม่เคยมีมุสลิมอาศัยอยู่ ในพื้นที่แบบนี้จะมีการรับรู้ในเชิงที่ว่ามัสยิดไม่ใช่เพียงสถานที่ประกอบศาสนกิจแต่ตีความหมายไปมากกว่านั้น และแม้กระทั่งการเกิดของมัสยิดในบางพื้นที่เอง ก็ไม่ได้ทำเพียงแค่ประกอบศาสนกิจแต่จะมีการเรียนศาสนาในมัสยิดและออกเดินในชุมชน ขณะเดียวกันมัสยิดก็เปิดพื้นที่วัฒนธรรมเชิงเดี่ยวที่ชุมชนเคยมี แต่ไม่ได้ให้เวลาชุมชนในการปรับตัว นอกจากนั้นแล้วสำหรับบางคนในชุมชนนั้น พวกเขาไม่รู้จัก ได้รับข้อมูลเพียงจากทางสื่อ  

ในที่นี่ ก็อาจนำไปสู่คำอธิบายถึง ความไม่คุ้นเคย ซึ่งสามารถนำไปสู่ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ได้ ภายใต้ความตึงเครียดเช่นนี้มีความรู้สึกของคนในชุมชนว่าไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะคุยถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ จนนำไปสู่การต่อต้านคัดค้าน เช่นในกรณีเวียงป่าเป้า ที่ใช้กระบวนการทางกฎหมายในการคัดค้านแต่ไม่เป็นผลเพราะการสร้างมัสยิดก็ทำตามกระบวนการทางกฎหมายเช่นกัน ในสภาวะแบบนี้กลุ่มคนที่คัดค้านที่เวียงป่าเป้าจึงไปสนับสนุนการคัดค้านในพื้นที่อื่น และบอกถึงประสบการณ์ว่าอย่าสู้ด้วยกฎหมาย ให้ใช้การรวมตัวประท้วงคัดค้าน

ความคุ้นเคยจะสามารถทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันได้ หากพิจารณากรณีแม่สายและแม่ฮ่องสอน คือ การทำให้คนต่างศาสนาคุ้นเคยทั้งในแง่ความเป็นมุสลิม และการมีอยู่ของศาสนสถาน นอกจากนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการทำงานชุมชนที่สามารถทำร่วมกันได้ และอาจต้องมีการทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ผ่านการค้าขาย ซึ่งจะทำให้ความคุ้นเคยเกิดขึ้นในสังคม  

อิสลามโมโฟเบียอาจทำให้เราเห็นการกระทำและอคติที่มีต่อคนมุสลิม แต่เมื่อไหร่ที่เอาอิสลามโมโฟเบียอธิบายกับทุกเรื่องและทุกที่ ประเด็นอิสลามโมโฟเบียก็จะบดบังประเด็นที่ชุมชนกังวล หรือประเด็นที่คนในชุมชนถูกขับออกจากการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของเขาเอง และจะเห็นถึงความเงียบ การดำรงอยู่ร่วมกันในปัจจุบันและความเงียบในสื่อ ไม่ได้หมายความว่าความรู้สึกนี้จะหายไปและการอยู่ร่วมกันจะต้องไม่ใช่การบังคับให้อยู่  

ประกีรติ สัตสุต : ความร่วมมือของคนนอก-คนในผ่านการสานเสวนา

อ.ประกีรติ สัตสุต กล่าวว่า แนวโน้มทฤษฎีสันติภาพที่ให้ความสำคัญกับคนในมีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยกับความเข้าใจว่าคนนอกไม่ค่อยเข้าใจเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ของพื้นที่ รวมถึงระบบความสัมพันธ์ของท้องถิ่น นอกจากนั้นคนนอกที่เข้าไปก็มักจะมาจากลักษณะทางสังคมที่ต่างไปจากท้องถิ่นนั้นๆ เมื่อเข้าไปก็มักจะทำอะไรไม่ค่อยถูก ฉะนั้นกระบวนการผลักดันคนในจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก  

ตนเองได้มีโอกาสเข้าไปร่วมทำงานสานเสวนากับกลุ่มถักทอสันติภาพ (กถส.) อย่างบังเอิญ จากที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องราวในชายแดนใต้มาก่อนมากนัก ซึ่งได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนเรียนรู้ในวงนี้ ซึ่งทำให้เห็นว่าการที่ กถส. ได้นำเอาคนในพื้นที่ทั้งกลุ่มพุทธและมุสลิมมาสานเสวนาต่อกันและให้คนจากส่วนกลางมาช่วยทำงานตรงนี้ ก็อยู่บนฐานคิดที่ว่าต้องการให้คนมีพื้นที่กลางเข้ามาพูดคุยเพื่อทำความรู้จักและสื่อสารระหว่างกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ก็เห็นปัญหาบางประการที่เกิดขึ้น เช่น การต่อกันไม่ติดของคนในวง ซึ่งมีคนที่หลากหลายเข้ามาด้วยอคติที่ต่างกันไป เมื่อมานั่งร่วมกันแม้จะมีการปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด หลายคนยังไม่รู้จักกันอย่างแท้จริง ในครั้งแรกๆ แต่ละกลุ่มก็ยังจับกลุ่มกันเป็นก้อน จะเห็นว่าพระจะนั่งกับพระ อิหม่ามก็นั่งกับอิหม่าม เป็นต้น

จากนั้นก็เกิดโครงการคณะผู้เชื่อมประสานขึ้นมาจากข้อจำกัดที่เกิดขึ้น โดยเน้นที่กลุ่มชาวพุทธ เนื่องจากกลุ่มชาวพุทธที่เคยเข้าร่วมในครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา มักจะไม่ค่อยพูดหรือไม่เข้าร่วม จึงเปลี่ยนวิธีเป็นลักษณะการเข้าไปพูดคุยลักษณะร้านน้ำชา สร้างความคุ้นเคย ถามคำถามแลกเปลี่ยนต่อกัน ในกลุ่มมีทั้งคนจากส่วนกลางและคนในพื้นที่ และเริ่มต้นพูดคุยจากชาวพุทธที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ เนื่องจากในช่วงที่เริ่มทำโครงการนี้ เริ่มมีการรวมกลุ่มของชาวพุทธในส่วนกลางและผลักดันประเด็นเรื่องสถานการณ์ชายแดนใต้มาเคลื่อนไหว

ความเป็น คนนอก คนใน บางครั้งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และบริบท หลายครั้งแม้คนจัดจะเป็นพุทธก็ไม่สามารถเข้าใจหรือเข้าถึงกลุ่มพุทธบางกลุ่มได้ สิ่งที่ค้นพบจากการเข้าไปทำงาน คือ คนที่มาเข้ากระบวนการเสวนาจะเปรียบตัวเองเหมือนไก่ในสุ่ม ที่ถูกจำกัดมาให้ปฏิบัติแบบที่กลุ่มที่เข้ามาต้องการ จึงต้องทำความเข้าใจการดำเนินงานระหว่างกันให้ชัดก่อน  

ทางกลุ่มเริ่มเข้าไปพูดคุยกับชาวพุทธในหลากมุมมอง ซึ่งค้นพบว่า พลวัตบางประการที่เกิดขึ้นถูกกลบทับด้วยมายาคติบางอย่างที่มองไม่เห็น เช่น เมื่ออยู่ในวงพุทธก็มักจะได้ยินเรื่องราวที่ว่าคนต่างศาสนาจะมายึดครองแล้ว แน่นอนว่าคนฟังอาจจะอึดอัดกับชุดความคิดแบบนี้ แต่เมื่อได้พูดคุยแล้วจะก้าวข้ามกรอบของความคิดที่ว่าจริงหรือไม่จริงไป แต่จะเห็นว่าสิ่งที่พูดออกมาถูกผลิตจากอารมณ์ภายใต้บริบทบางอย่าง ซึ่งอารมณ์นั้นมีน้ำหนักไม่น้อยไปกว่าข้อเท็จจริง หากไม่รู้จักก็จะเข้าใจว่าความคิดเช่นนี้ไร้เหตุผล แต่หากรู้จักแล้วจะเห็นว่ามันมีที่มาที่ไป  

นอกจากนั้นแล้ว การไปพูดคุยนั้น จะทำให้เห็นว่ายังสามารถเปิดช่องทางการสื่อสารของกลุ่มคนที่อาจถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์หรือเห็นต่างกัน อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบที่น่าสนใจอันหนึ่ง คือ การทำงานระหว่างคนนอกและคนในนั้นมีปัญหาตรงที่หากมองแต่ว่าคนในต้องผลักดัน ซึ่งคนในเองก็มีหลายระดับ และคนนอกเองทำไม่ได้ ก็ต้องหาทางสร้างความร่วมมือขึ้น แต่หากคนในเองกลายเป็นอุปสรรคสำหรับกระบวนการสันติภาพ คำถามคือเราจะทำอย่างไร

ที่ผ่านมาเมื่อไปพูดคุยก็เห็นถึงอคติ บางครั้งอคติบางชุดอาจกลับเข้าสู่ตัวเองได้เช่นกัน จึงเป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบตลอดเวลา หลายครั้งการทำงานลักษณะนี้สามารถที่จะคิดหรือวางกรอบการมองแบบคนใน โดยไม่จำเป็นต้องอ้างตนว่าเป็นคนในก็สามารถทำงานได้ แน่นอนว่าถึงที่สุดแล้ว เราอาจไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกัน แต่เราสามารถอยู่ร่วมกันและเดินหน้าไปด้วยกันได้

ความหวาดกลัวอิสลามที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทย

ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ผู้อำนวยการ สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ และหัวหน้าสาขาวิชาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวเสริมโดยยืนยันในฐานะที่เป็นมุสลิมที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ว่า ปรากฏการณ์ของการต่อต้านมัสยิดเป็นหนึ่งในกระแสอิสลามโมโฟเบีย ซึ่งแน่นอนว่ายังมีวิธีการอีกหลายอย่างที่แสดงถึงความหวาดกลัวอิสลาม ไม่เคยปรากฏการณ์ลักษณะเช่นนี้ก่อนเหตุการณ์ 9-11 ประกอบกับสื่อที่นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่ขยายไปเร็วมาก รวมถึงประเด็นเรื่องไอซิสและเรื่องภาคใต้ มันเห็นถึงระดับของ Hate Speech ที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้เราต้องหาทางช่วยกัน จากรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ ที่ศึกษาประเด็นความขัดแย้งระหว่างศาสนาในสังคมไทย ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มของความขัดแย้งระหว่างศาสนาที่จะเกิดขึ้นต่อจากประเทศพม่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือประเทศไทย เพราะฉะนั้นต้องร่วมกันหาทางถักทอความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาในสังคม

เชื่อมโยงสู่กระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี

ดร.ผกาวดี เน้นย้ำในช่วงท้ายว่า การมองด้วยมุมของอิสลามโมโฟเบียจะไม่ช่วยแก้ปัญหา หากจะช่วยแก้ปัญหาจะต้องเปิดพื้นที่ของการถกเถียง ต้องสร้างความคุ้นเคยให้เกิดขึ้น หากเชื่อมถึงสามจังหวัดชายแดนใต้ ตนเองได้เคยเสนอเมื่อครั้งทำงานในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เองสามารถปฏิเสธการผลิตซ้ำของความรุนแรงได้โดยการใช้การมองความมั่นคงของมนุษย์ให้เท่ากับการมองถึงความมั่นคงของรัฐ เมื่อมาทำงานในพื้นที่ภาคเหนือ ก็เห็นว่า รัฐกำลังใช้ระเบียบ กฎเกณฑ์ ปิดทับคนในพื้นที่ เสมือนบ่มเพาะความไม่พอใจต่อเจ้าหน้ารัฐในพื้นที่อื่น เพราะฉะนั้นจึงค่อนข้างเห็นด้วยกับ รศ.ดร..มารค ตามไท ที่บอกว่ารัฐจะต้องมองมิติของความมั่นคงใหม่

อ.อับดุลเลาะห์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องเล่าของคนที่เคยปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งไม่รู้ว่าผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้นไปเจออะไรมาบ้าง ได้รับการถ่ายทอดขัดเกลาจากผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงานในลักษณะไหน จึงนำกลับไปเล่าสู่พื้นที่อื่น เช่น ในภาคอีสาน ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ขยายกระแสความไม่เข้าใจ ฉะนั้นจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อและทำความเข้าใจ คนมลายูที่อยู่นอกพื้นที่อาจต้องเปิดตัวเองมากขึ้น และต้องมีการคุยระหว่างผู้คนให้มากขึ้น

อ.ประกีรติ กล่าวทิ้งท้ายว่า มีพระเคยบอกว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่จะพูดคุยกับมุสลิม หลายเรื่องแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่มีที่มาที่ไปที่ต้องเข้าใจ แน่นอนว่ามีกระแสการสร้างอัตลักษณ์ที่คงตัวของหลายวัฒนธรรมซึ่งมองว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่แข็งตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ท้ายสุดจึงจำเป็นที่จะต้องมีการสานเสวนาต่อกัน