Skip to main content

 

นักวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมุสลิมที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงโลก

 

โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

 

รู้กันดีว่าเมื่อพันกว่าปีมาแล้วโลกอิสลามคือผู้นำของโลกในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในช่วงเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์อาหรับ เปอร์เซีย เติร์ก เอเชียกลาง หรือแม้กระทั่งสเปนร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโด่งดังที่ในที่สุดมีส่วนอย่างสำคัญในการเปลี่ยนโลกให้กลายเป็นโลกที่ก้าวหน้าเช่นที่เห็นในทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์มุสลิมชื่อก้องโลกเหล่านี้มีจำนวนนับเป็นร้อย

ชื่อแรกที่นึกถึงคือ อัลควาริซมี (Al Kwarizmi) ชาวเปอร์เซีย (ไม่ทราบปีเกิด-ค.ศ.850) บิดาแห่งวิชาอัลจีบราหรือพีชคณิต นอกจากนี้ยังเป็นนักดาราศาสตร์ที่สร้างผลงานไว้มากมาย ชื่อที่สองคือ อิบนุสินา (Ibn Sina) ชาวเปอร์เซีย (ค.ศ.980-1037) สร้างผลงานมากมายในแทบทุกสาขากว่าพันชิ้น โด่งดังมากที่สุดคือสาขาแพทย์ เขียนตำราที่กลายเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีทางการแพทย์และเภสัชกรรมที่ใช้กันในโลกปัจจุบัน ชื่อที่สามคือ อัลจาซารี (Al Jazari) ชาวเติร์ก (ค.ศ.1136-1206) บิดาทางด้านเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ที่กลายเป็นพื้นฐานของรถยนต์ในโลกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์มุสลิมยังมีอีกมากมาย แต่นั่นเป็นโลกอดีต

กับโลกยุคปัจจุบัน แม้โลกมุสลิมผลิตนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกได้ไม่มากเท่าอดีต แต่ยังคงผลิตนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกที่สร้างผลงานเปลี่ยนแปลงโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียุคใหม่นี้ได้ในจำนวนไม่น้อย ตัวอย่างที่นึกถึงคนแรกคืออะเหม็ด ฮัซซัน เซวาอิล (Ahmed Hassan Zewail) (ค.ศ.1946-2016) นักเคมีชาวอิยิปต์ที่ ได้รับการยอมรับกันว่าคือบิดาแห่งเฟมโตเคมีที่งานหลายส่วนย้อนรอยกลับไปสู่การพัฒนานวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีจำนวนไม่น้อย เรียนหนังสือในอิยิปต์แต่ไปสอนหนังสือกระทั่งโด่งดังในสหรัฐอเมริกา ได้รางวัลโนเบลใน ค.ศ.1999

คนที่สองคือราชิด ยาซามี (Rashid Yazami) ชาวโมรอคโค (ค.ศ.1953-ปัจจุบัน) นักฟิสิกส์ที่เมื่อสามปีที่แล้วมีชื่อเสียงมากเป็นอันดับต้นในโลกจากผลงานการพัฒนาแบตเตอรีลิเธียมและฟลูออไรด์ที่กล่าวกันว่าจะกลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนโลกด้านพลังงานยุคปัจจุบันและในที่สุดได้กลายเป็นอย่างนั้นจริงๆ คนที่สามคือมัรยัม มิรซาฆานี (Maryam Miszakhani) สตรีชาวอิหร่าน (ค.ศ.1977-2017) จบสาขาคณิตศาสตร์จากเตหะรานสร้างผลงานระดับโลกมากมายให้กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ที่กล่าวกันว่าหากไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจะเป็นหนึ่งในผู้รับรางวัลโนเบลจากผลงานอันนำไปสู่การพัฒนาไอทีที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกในวันนี้

ยังมีนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมุสลิมอีกหลายคนที่กำลังทำงานทั้งในโลกอิสลามและโลกตะวันตกพัฒนาผลงานที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลกเป็นเช่นที่เห็นในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นอัตตา อุรเราะห์มาน (Atta Ur-Rahman) (ค.ศ.1942-ปัจจุบัน) นักเคมีอินทรีย์ชาวปากีสถานที่พัฒนางานนวัตกรรมด้านเคมีจำนวนไม่น้อย มุสตาฟา เอลซายิด (Mustafa El Syed) นักเคมีฟิสิกส์ชาวอิยิปต์ที่คว้ารางวัลเหรียญทองอเมริกันจากผลงานพัฒนางานด้านสเปคโตรสโคปี ฟารุค เอลบาซ (Farouk El Baz) (ค.ศ.1938-ปัจจุบัน) นักฟิสิกส์ด้านอวกาศชาวอิยิปต์ผู้อยู่เบื้องหลังหลายโครงการขององค์การนาซ่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานการสำรวจดวงจันทร์ ฯลฯ