บทต่อไปของกระบวนเจรจาสันติสุขชายแดนใต้ คืออะไร
ยะลา
การเจรจาสันติสุขระหว่างไทยและขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวมุสลิมมลายู ได้ก้าวมาถึงจุดต่อที่สำคัญ ขบวนการบีอาร์เอ็น หรือ Barisan Revolusi Nasional (BRN) กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มีกองกำลังแข็งแกร่ง กำลังคิดที่จะดึงประชาคมนานาชาติเข้าร่วมโต๊ะเจรจาครั้งต่อไป และนอกเหนือไปจากเหตุรุนแรงที่เป็นการแก้แค้นกันกลับไปมา ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มขบวนการ และกองกำลังทหารฝ่ายความมั่นคงของไทย
นับเป็นเวลา 14 ปีแล้ว ที่มีการซุ่มโจมตี การวางระเบิดข้างทาง และการสังหาร โดยมีเป้าหมาย เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง และผู้ที่ถูกสงสัยว่าให้ความร่วมมือกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศไทยยังคงเดินหน้าต่อไปตามยุทธศาสตร์ควบสองด้าน คือ ความพยายามที่จะชนะใจชาวมุสลิมมลายู ในพื้นที่ โดยมุ่งส่งเสริมและกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต ในพื้นที่ที่ขาดแคลนและยากจน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงมีการติดตามค้นหากลุ่มขบวนการก่อการร้ายในพื้นที่
นอกเหนือจากนั้น กองกำลังฝ่ายความมั่นคงไทยยังกำลังรอเป็นเป้า ให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่เคลื่อนที่ไปมาอย่างต่อเนื่องบุกโจมตี
นับว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 7,000 ราย จากเหตุรุนแรงในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และยังมองไม่เห็นหนทางสู่การยุติข้อพิพาททางการเมืองนี้
นอกจากนี้ กลุ่มกบฏก่อการร้ายก็ยังได้มีการวางแผนร่วมกัน เพื่อก่อเหตุโจมตีนอกพื้นที่จังหวัด”ชายแดนภาคใต้” หรือ "ปาตานี" ถิ่นกำเนิดของชาวมลายู เพื่อส่งคำเตือนที่รุนแรงแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย ว่าพวกเขาสามารถที่จะขยายการก่อเหตุรุนแรงของตนออกไปนอกพื้นที่ที่มีความขัดแย้งจากอดีต
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้เห็นว่าขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีการเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีอย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มขบวนการมีการเปลี่ยนแปลงโดย ผู้นำรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนขบวนการ เมื่อผู้นำสูงอายุได้จากไป ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะก้าวข้ามความน่าอัปยศอดสูของฝ่ายความมั่นคงไทย เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ และโอกาสอื่น ๆ โดยต้องการให้ประชาคมนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วม
แต่การเปลี่ยนสนาม จากสนามรบไปยังเวทีโลกไม่น่าจะง่าย สมาชิกประชาคมนานาชาติลำบากใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับบีอาร์เอ็น เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลไทยในกรุงเทพฯ
โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการของกลุ่มบีอาร์เอ็น คือ ทางกลุ่มจะเข้าสู่โต๊ะเจรจา ก็ต่อเมื่อประชาคมนานาชาติเป็นผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างการพบปะกันหลายครั้ง ช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ระหว่าง นายอาหมัด ซัมซามิน ฮาชิม ชาวมาเลเซีย ผู้ทำหน้าที่ตัวกลางไกล่เกลี่ยในกระบวนสันติภาพ และ นายดูนเลาะ แวมะนอ ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในสภาปกครองของกลุ่มบีอาร์เอ็น
นายซัมซามิน ยังอาศัยการประชุมของเขากับผู้นำบีอาร์เอ็น เพื่อกำหนดนัดหมายการประชุมพบปะระหว่าง นายดูนเลาะ และ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะเจรจาของไทย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่ยังไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน
การประชุมที่กำลังจะมีขึ้น ไม่ใช่เป็นก้าวต่อ หรือเป็นการเปลี่ยนเกมในกระบวนการเจรจา แหล่งข่าวของกลุ่มบีอาร์เอ็นกล่าวยืนยัน พวกเขากล่าวว่า จุดยืนของบีอาร์เอ็น ยังคงเหมือนเดิม หากฝ่ายไทยต้องการเจรจาเป็นทางการ พวกเขาต้องทำให้กระบวนการนี้เป็นสากล ซึ่งหมายความว่าการเจรจาจะต้องมีสื่อกลางไกล่เกลี่ยและอำนวยความสะดวกโดยรัฐบาลสากล และสถานที่จะต้องอยู่นอกประเทศมาเลเซีย
การยินยอมให้ นายดูนเลาะ พบกับ หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ถือว่าเป็น "ท่าทีแห่งความปรารถนาดี" ที่มีต่อกัวลาลัมเปอร์ ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการริเริ่มการสร้างสันติภาพ แหล่งข่าว บีอาร์เอ็นกล่าว
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยยังมีต่างความคิด ในเรื่องของการประชุม บางคนคิดว่าการประชุมแบบพบหน้ากัน ระหว่าง นายดูนเลาะ กับ พลเอกอักษรา เป็นการพัฒนาในทางบวก มาในทิศทางที่ถูกต้อง
แม้บางส่วนยังกังวลว่า การติดต่อโดยตรงกับบีอาร์เอ็น จะทำลายกระบวนการอย่างเป็นทางการ ระหว่างรัฐบาลไทยในกรุงเทพฯ กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนปาตานี-มลายู อื่นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เจ้าหน้าที่เหล่านี้ต้องการเห็นบีอาร์เอ็นเข้ามาร่วมกระบวนการเจรจา ภายใต้กลุ่มมาราปาตานี
แหล่งข่าวบีอาร์เอ็น รายดังกล่าว ยังเผยด้วยว่า กลุ่มขบวนการไม่ได้รีบร้อนที่จะเจรจา ประการแรก ก่อนอื่น ตัวแทนของพวกเขา จะต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และได้รับการฝึกฝนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะจากสมาชิกของประชาคมนานาชาติ ที่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการไกล่เกลี่ยสันติภาพ
นอกจากการเจรจาอย่างเป็นทางการแล้ว พวกเขากล่าวว่า จะต้องมีขึ้นนอกประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก ที่มีเกียรติศัพท์ด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการไกล่เกลี่ย
ตามที่ฝ่ายความมั่นคงไทยและแหล่งข่าวบีอาร์เอ็นกล่าว การเรียกร้องเหล่านี้ของบีอาร์เอ็น สร้างความไม่พอใจแก่ นายซัมซามิน ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าสายลับชาวมาเลเซียที่เกษียณอายุแล้ว ผู้ซึ่งทุ่มเทสุดกำลังความสามารถ ในการเป็นสื่อกลางการเจรจา ระหว่างทั้งฝ่ายไทยและกลุ่มกบฏ เพื่อให้กัวลาลัมเปอร์เป็นศูนย์กลางของกระบวนการสันติสุขนี้
อีกทั้ง ประเทศมาเลเซียยังมีพรมแดนติดกับดินแดนที่มีผลกระทบจากความขัดแย้งของประเทศไทย และด้วยเหตุนี้ มาเลเซียถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้ง ไม่ใช่เพียงตัวแทนการเจรจา
แหล่งข่าวไทย และฝ่ายบีอาร์เอ็น กล่าวอีกว่า นายซัมซามิน ได้พบกับ นายดูนเลาะ อย่างน้อยสามครั้ง ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา เขาพยายามอย่างหนักที่จะชวนเชิญให้ นายดูนเลาะ ยินยอมให้กลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ กับไทยและองค์กรมาราปาตานี ในกรุงกัวลาลัมเปอร์
การตัดสินใจเข้าร่วมกับองค์กรมาราปาตานี หรือการพูดคุยที่โต๊ะเจรจา ไม่ได้ขึ้นกับ นายดูนเลาะ เพียงผู้เดียว แหล่งข่าวบีอาร์เอ็นกล่าว หากกลุ่มนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสภาปกครอง Dewan Penilian Parti (DPP) และการตัดสินใจที่สำคัญเช่นนี้ ควรต้องเป็นการตัดสินใจร่วมกันของสภาฯ
ในขณะที่ กลุ่มมาราปาตานี อ้างว่ามีสมาชิกของบีอาร์เอ็น อยู่ในสมาชิกคณะดำเนินการด้วยนั้น กลุ่มปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นทั้งใน และต่างประเทศ ตลอดจนฝ่ายสารสนเทศของอินโดนีเซียที่เคลื่อนไหวอยู่กล่าวว่า สมาชิกเหล่านั้นกระทำการโดยลำพัง และโดยปราศจากความยินยอมของสภาปกครอง หรือ DPP
เจ้าหน้าที่ไทยที่ทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า องค์กรมาราปาตานีกำลังสั่นคลอน เพราะกระบวนการของพวกเขาไม่ได้ก่อให้เกิดแรงยึดเหนี่ยวที่มีนัยสำคัญใดๆ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงที่ว่า ขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งควบคุมกองกำลังกบฏเกือบทั้งหมดในพื้นที่ ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการพูดคุยกับพวกเขา และยังทำให้ยากที่จะเดินหน้าด้วยแผนการใด ๆ เช่น การดำเนินการจัดตั้งเขตปลอดภัยในพื้นที่ ที่จะมีการหยุดยิงตามกรอบการพูดคุย
พันธกิจของมาเลเซีย ที่มีต่อการเจรจา น่าจะมีชัดเจนขึ้น ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นเวลาที่นายซัมซามินจะมีการต่ออายุสัญญาการทำงานกับรัฐบาล ผู้สังเกตการณ์บางรายไม่คิดว่า กลุ่มมาราปาตานีจะสามารถอยู่รอดได้ โดยปราศจากการเป็นผู้นำของเขา
ความคืบหน้าในการเจรจาสันติภาพยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งควบคุมกลุ่มขบวนการก่อการร้าย ได้ปฏิเสธที่จะร่วมโต๊ะเจรจา และส่วนหนึ่งเป็นเพราะ รัฐบาลทหาร ที่กรุงเทพฯ ไม่เคยแสดงความสนใจที่จะมีส่วนรับรู้ถึงที่มาของข้อพิพาทด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของปัตตานีมลายู
ประเทศไทยเพียงต้องการดำเนินการจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัย จากเหตุรุนแรงในสถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น รัฐบาลเชื่อว่า จะสามารถเอาชนะใจชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในท้องถิ่น ให้ปฏิเสธความชอบธรรมในการต่อสู้ด้วยอาวุธของขบวนการบีอาร์เอ็น
แต่ความพยายามดังกล่าวจะไม่เห็นผล หากรัฐบาลไทย ที่กรุงเทพฯ ปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องข้อพิพาทด้านประวัติศาสตร์และความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐกับชนกลุ่มน้อยชาวมลายู
ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์
เผยแพร่ครั้งแรกที่ benarnews.org