Skip to main content

 

 

ต้นเหตุ..ชายแดนใต้

กับปลายทางที่รัฐไทยไม่อยากพูดถึง

ทุกครั้งที่เกิดเหตุความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ แรงกระเพื่อมของสังคม สื่อ และฝ่ายความมั่นคงก็จะมีการเคลื่อนไหวกันครั้งหนึ่ง ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณการสูญเสีย หรือความรุ่นแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง และท้ายที่สุดแล้วเราก็จะใช้วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้จบไปที่ จนเหตุการณ์นั้นเลือนหายไปอีกครั้ง และจะวนเวียนอยู่เช่นนี้จนทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้คิดไปว่านี่คือเรื่องปกติของคนชายแดนใต้

ผมมักตั้งคำถามกับตนเองตลอดว่า สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้จะสิ้นสุดลงตรงไหน และอย่างไร ? ซึ่งผมก็เชื่อว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่คนจำนวนไม่น้อยต้องการคำตอบเหมือนกัน แม้เราจะเข้าใจในความสลับซับซ้อนของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ที่มักจะมีการกล่าวอ้างให้เชื่อมโยงถึงประวัติศาสตร์ที่ผานมา หรือเหตุผลของความแตกต่างทางวิถีวัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม และการถูกกระทำใดๆ อันเป็นการละเมิด หรือเลือกปฏิบัติก็ตาม และในระยะหลังยังมีการวิเคราะห์ไปถึงโครงข่ายผลประโยชน์ต่างๆที่อาศัยเหตุของความรุนแรงเป็นช่องทางให้พวกพ้องตนเองอยู่ได้จนมีการพูดกันว่า “ท่ามกลางความไม่สงบงบประมาณเดินสะพัด” ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ถูกนำมาวิเคราะห์ในระยะหลังนี้ไม่น้อย ซึ่งจะใช่หรือไม่ใช่ก็ต้องค้นหาความจริงกันต่อไป

ในความเป็นจริงของวันนี้คือ คนจังหวัดชายแดนภาคใต้จำต้องดำรงชีวิตอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับตน และเป็นการดำรงอยู่ภายใต้การรักษาความสงบเรียบร้อยของฝ่ายความมั่นคง ที่มีการผสมกำลังกันอย่างครบถ้วนเพื่อทำหน้าที่รักษาสภาพของเหตุการณ์ที่เป็นอยู่มิให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นไปอีก หรือทำให้เกิดเหตุได้น้อยที่สุด ทั้งนี้จึงเป็นเพียงการตรึงพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งๆเท่านั้น จนเสมือนว่าปัญหาชายแดนใต้แทบจะไม่มีแนวทางอื่นใดมากไปกว่านี้อีกแล้ว

ในขณะที่มิติทางการเมืองหรือรัฐบาลยังไม่เห็นท่าทีว่าจะมีการปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อที่จะหาทางออกของปัญหาต่อเรื่องนี้อย่างจริงจังนัก ทั้งๆที่รู้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโครงข่ายที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันเช่นไร รวมถึงบทบาทของภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่พยายามเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างทางออกของปัญหาในเรื่องนี้อย่างต่เนื่องก็ตาม แต่แทบจะไม่เห็นความเอาจริงเอาจังจากฟากฝั่งของรัฐบาลไทยเท่าไหร่นักต่อเรื่องนี้ และยังรับรู้ได้ว่าแนวคิดของฝ่ายรัฐเองยังติดกรอบคิดเดิมๆของฝ่ายความมั่นคงที่มองเห็นเพียงว่าเรื่องนี้คือเรื่องของคนชั่วกับคนดี หรือเรื่องของโจร กับตำรวจ เท่านั้น เพราะในทัศนะของผู้บริหารจะต้องกล้าที่จะฉีกความคิดเหล่านี้ และกล้าที่จะค้นหาทางออกที่ดีกว่าเพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างแท้จริง

แนวทางหนึ่งที่ผมเคยมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในพื้นที่ชายแดนใต้ คือ การเปิดพื้นที่ หรือสร้างพื้นที่การพูดคุยให้กับคนชายแดนใต้ เพื่อให้เขาได้มีโอกาสที่จะตั้งวงสุมหัวความคิด หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ หากแต่จะต้องทำให้เกิดการเวที หรือสภาประชาชน อันเป็นที่ยอมรับจากฝ่ายรัฐ และต้องตั้งอยู่บนฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงและหลากหลาย และจะต้องปลอดจากการครอบงำของฝ่ายใดๆ ซึ่งอาจจะใช้เวลา 1 ปี หรือ 2 ปี ก็ตามแต่ เพื่อที่จะให้คนในพื้นที่จะร่วมกันวิเคราะห์ ขบคิด และออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาของพวกเขากันเอง ซึ่งรวมถึงการออกแบบรูปแบบการปกครองที่สอดคล้องเหมาะสมกับสังคม วิถีวัฒนธรรม ฐานทรัพยากร และเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ หากแต่มิใช่การคิดเพื่อแบ่งแยกใดๆ และภายใต้บทสรุปที่เขาต้องการก็จะเป็นข้อเสนอเพื่อส่งให้รัฐบาลได้พิจารณากันอีกครั้ง หรืออาจจะมีการจัดทำประชามติภายในพื้นที่ 3 จังหวัด หรือเป็นประชามติในระดับประเทศก็ตาม ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้อาจจะเป็นเพียงตุ๊กตาที่พอจะคิดได้ในตอนนี้ ซึ่งอาจจะมีการคิดเห็นที่แตกต่างไปกว่านี้ก็ได้ แต่สาระสำคัญภายใต้กรอบคิดนี้ก็คือ

- การเรียกร้องให้ฝ่ายการเมือง หรือรัฐบาลที่จะต้องสร้างนโยบายเชิงรุกที่จะแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง

- คือการ “สร้างพื้นที่การพูดคุยหารือ” ของคนทั้งสามจังหวัดอันเป็นที่ยอมรับ และปราศจากการครอบงำจากฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายใดๆ

- เพื่อให้เสียงของคนทั้งสามจังหวัดได้สะท้อน แสดง และเสนอแนวทางอันเป็นรูปแบบที่พวกเขาต้องการจริงๆ เพื่อจะเป็นทางออกที่แท้จริงต่อไป

ผมไม่แน่ใจว่าแนวคิดเช่นนี้จะเคยมีการเสนอออกมาจากกลุ่มใดมาก่อนนี้หรือไม่ อย่างไร แต่ผมมีความเชื่อว่าเสียงสะท้อนที่ออกมาจากพื้นที่จริง แม้จะทำได้หรือจะทำไม่ได้ก็ตาม แต่คือสิ่งที่รัฐบาลควรจะดำเนินการเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้เปิดอกเปิดใจส่งเสียงออกมา เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงความต้องการของคนพื้นที่อันจะทำให้รัฐบาลได้เห็นถึงแนวทางที่จะนำไปสู่การออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาต่อเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที หากมิใช่เพียงแค่รักษาสภาพของเหตุการณ์ไปวันๆ และท้ายที่สุดแล้วเราก็จะต้องสังเวยกับชีวิตของคนบริสุทธิ์อย่างไม่สิ้นสุด

 

สมบูรณ์ คำแหง

นักศึกษาปริญญาโท สถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่

23 มกราคม 2561

(ภาพ : นสพ.บ้านเมือง)